อปท.เห็นชอบดึงงบรักษาพยาบาลคืนจากอปท.แต่ละแห่ง บริหารใหม่ ยึดหลักเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข มอบ สปสช.บริหารจัดการ สิทธิประโยชน์เหมือนข้าราชการ ครอบคลุมเฉพาะข้าราชการท้องถิ่นประจำและครอบครัว ไม่รวมฝ่ายการเมือง คาดเริ่ม 1 ต.ค. 56
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดทำระบบหลักประกันสุขภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่า อปท.เห็นชอบให้มีการดึงงบประมาณในส่วนของสวัสดิการรักษาพยาบาลกลับจาก อปท.แต่ละแห่งมารวมที่ส่วนกลางซึ่งจำนวนประมาณ 5,000 ล้านบาท หรือ 1% ของงบประมาณที่ อปท.ได้รับแต่ละปี 5 แสนล้านบาท จากนั้นกระจายงบประมาณใหม่ยึดหลักการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข มอบหมายให้สำนักกลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำหน้าที่บริหารจัดการ หรือเคลียริ่งเฮ้าท์ โดย สปสช.คิดค่าบริหารจัดการ 1.5% ของงบรักษาพยาบาลทำให้ผู้มีสิทธิไม่ต้องสำรองจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลไปก่อน
"ที่ผ่านมามีการจัดสรรงบประมาณส่วนของรักษาพยาบาลของข้าราชการท้องถิ่นไปยัง อปท.แต่ละแห่งโดยตรง ทำให้ อปท.บางแห่งได้รับงบประมาณน้อย และผู้ป่วยน้อย ทำให้รับภาวะไม่ไหว รูปแบบใหม่ อปท.แต่ละแห่งจะได้รับการจัดสรรงบรักษาพยาบาลเท่ากัน โดยเบื้องต้นสิทธิประโยชน์จะได้รับเหมือนกับสิทธิสวัสดิการข้าราชการ และในอนาคตหากมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์มากขึ้นจะมีการจัดสรรเงินส่วนนี้เพิ่มเป็น 1.5% ของงบที่ อปท.ได้รับในแต่ละปีหรือราว 7,500 ล้านบาท ซึ่งสิทธินี้จะครอบคลุมข้าราชการท้องถิ่นฝ่ายการเมือง" นพ.ประดิษฐกล่าว
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.กล่าวว่า สำหรับระบบหลักประกัน อปท.คาดว่าจะมีการบันทึกความร่วมมือระหว่าง อปท.กับสปสช.ช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ และหากดำเนินการต่าง ๆ แล้วเสร็จน่าจะเริ่มรูปแบบใหม่ในปีงบประมาณ 2557 หรือ 1 ตุลาคม 2556 อย่างไรก็ตาม วันที่ 8 มกราคมนี้ จะเข้าชี้แจงต่อครม.เกี่ยวกับโครงการ "เจ็บป่วยฉุกเฉิน ถึงแก่ชีวิต ไม่ถามสิทธิ ใกล้ที่ไหน ไปที่นั่น" เพื่อให้ขยายครอบคลุมไปถึงผู้มีสิทธิสังกัดอปท.ที่มีประมาณ 5-6 แสนคน และรัฐวิสาหกิจ รวมประมาณกว่า 1 ล้านคนด้วย ไม่เฉพาะแต่ผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคมและสิทธิสวัสดิการข้าราชการ หาก ครม.เห็นชอบอปท. และรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งจะต้องนำมติ ครม.ไปพิจารณาเพื่อแก้ไขระเบียบต่าง ๆ ให้สอดคล้อง ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ใช้สิทธิสังกัดอปท.และรัฐวิสาหกิจที่เจ็บป่วยฉุกเฉินถึงแก่ชีวิตเข้ารับการรักษาพยาบาลที่สถานพยาบาลแห่งใดก็ได้ โดยไม่ต้องถามสิทธิ
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 8 มกราคม 2556
- 44 views