ร.พ.สุขุมวิททุ่มงบฯ 2 พันล้านขึ้นอาคารใหม่รับคนไข้เพิ่มรองรับ 250 เตียง พร้อมยกระดับสู่โรงพยาบาลพรีเมี่ยม ตั้งเป้าเทียบ "สมิติเวช-กรุงเทพ" ชิงลูกค้ากระเป๋าหนัก รองรับการขยายตัวของเมือง-กำลังซื้อสูงขึ้น เร่งสื่อสารภาพลักษณ์ใหม่ ชูความโดดเด่นรักษาเฉพาะทาง โรคซับซ้อน เพิ่มเครื่องมือแพทย์ทันสมัย ดึงหมอเฉพาะทางสร้างความเชื่อมั่น
น.พ.ภมรศักดิ์ เธียรประสิทธิ์ กรรมการบริหาร บริษัท ปิยะศิริ จำกัด ผู้บริหารโรงพยาบาลสุขุมวิท เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า โรงพยาบาลสุขุมวิทอยู่ระหว่างสร้างอาคารใหม่ พื้นที่ใช้สอยกว่า 40,000 ตร.ม. เป็นตึก 16 ชั้น ขนาด 250 เตียง พื้นที่จอดรถ 300 คัน ใช้งบลงทุนก่อสร้าง รวมถึงงบลงทุนเครื่องมือแพทย์กว่า 2,000 ล้านบาท เบื้องต้นคาดว่าจะเปิดให้บริการช่วงเดือนเมษายน 2556 จากนั้นวางแผน รีโนเวตอาคารหลังเดิม โดยปรับเป็นอาคารให้บริการด้านส่งเสริมสุขภาพ อาทิ แผนกกายภาพบำบัด และร้านค้าต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังสนใจจะนำร้านอาหารและร้านสะดวกซื้อเข้ามาให้บริการด้วย
ทั้งนี้ โรงพยาบาลสุขุมวิทอยู่ในตลาดมานานกว่า 40 ปี การลงทุนครั้งใหญ่นี้ต้องการปรับภาพลักษณ์ไปสู่โรงพยาบาลพรีเมี่ยม และยกระดับการรักษาเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางให้ชัดเจนยิ่งขึ้น จากที่มีให้บริการอยู่บ้าง แต่เน้นรักษาโรคทั่วไปเป็นหลัก ขณะที่โรงพยาบาลระดับพรีเมี่ยมมีการเติบโตสอดคล้องไปกับรายได้ประชากรที่สูงขึ้น อาทิ ย่านสุขุมวิท เอกมัย และบางนา ที่มีการขยายตัวของเมือง ทั้งคอนโดฯเปิดใหม่ และผู้อยู่อาศัยที่มีรายได้เฉลี่ยค่อนข้างสูง
"คนมีกำลังซื้อสูง ก็มีความต้องการใช้บริการระดับพรีเมี่ยมมากขึ้น ซึ่งในย่านสุขุมวิทและเอกมัยมี โรงพยาบาลที่ดูแลลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูงหลายแห่งและค่อนข้างมีความพร้อม แต่เชื่อว่าทำเลของเรา สามารถตอบโจทย์ในแง่ของการเดินทางได้ดี ทั้งจากต้นทางสุขุมวิท และดักลูกค้าที่จะเข้ามาจากทางบางนา เพราะอยู่ติดถนนและใกล้รถไฟฟ้าเอกมัย"
น.พ.ภมรศักดิ์กล่าวว่า ทิศทางจากนี้จึงมุ่งเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านการบริการทางการแพทย์ ชูความโดดเด่นในการรักษาโรคที่ซับซ้อนและเฉพาะทาง โดยจะเริ่มจากศูนย์หัวใจ, ศูนย์สมองและระบบประสาท จากเดิมที่มีชื่อเสียงด้านศูนย์ตา ส่วนด้านบุคลากรได้เตรียมความพร้อมในแง่ของการเพิ่มจำนวนพยาบาล และเสริมทีมแพทย์เฉพาะทางที่มีชื่อเสียง โดยเฉพาะแพทย์ฟูลไทม์ให้มากขึ้น จากที่มีอยู่ 30 คน เป็น 50 คน พร้อมนำเข้าเครื่องมือแพทย์ทันสมัย อาทิ เครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง ซีทีสแกน 128 สไลด์ และนำระบบไอทีเข้ามาช่วยให้แพทย์สามารถดูประวัติการรักษาของคนไข้ แบบระบบเรียลไทม์ และระบบเทเลเฮลท์ 3 มิติ ทำให้คนไข้รับคำปรึกษาจากแพทย์ผ่านจอคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ทันที
ปัจจุบันลูกค้าคนไทยคิดเป็นสัดส่วน 85% อีก 15% เป็นลูกค้าต่างชาติที่อาศัยในไทย ส่วนใหญ่เป็นคนอินเดีย ฐานคนไข้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ อยู่ในระดับบีลบ โจทย์หลักในการยกระดับไปสู่โรงพยาบาลพรีเมี่ยม เพื่อขยายฐานผู้ใช้บริการไปยังกลุ่มบีถึงเอ จึงต้องวางโพซิชันนิ่งให้ชัดเจน
"หลังจากนี้จะเน้นสื่อสารให้ผู้บริโภครับรู้ว่าโรงพยาบาลมีอาคารใหม่ ที่มีความพร้อมด้านเทคโนโลยีทันสมัยและทีมแพทย์ที่มีชื่อเสียง เพื่อสร้างการรับรู้และยอมรับ คงจะค่อย ๆ ปรับภาพลักษณ์ แต่ในอนาคตก็คงจะเทียบเคียงโรงพยาบาลสมิติเวชและกรุงเทพ"
น.พ.ภมรศักดิ์กล่าวเพิ่มเติมว่า หลังจากเปิดตึกใหม่จะปรับค่ารักษาพยาบาลและห้องพักเฉลี่ย 5-10% อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ารายได้หลัก ๆ ที่เพิ่มขึ้น จะมาจากจำนวนคนไข้ที่เข้ามาใช้บริการรักษาโรคที่ซับซ้อนและรุนแรง ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อหัวของผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ด้านแผนการลงทุนในอนาคต บริษัทสนใจจะขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง ส่วนสาขาที่มีอยู่ในปัจจุบันก็ยังมีพื้นที่ในการขยายตึกใหม่ได้อีกในบริเวณเดียวกัน ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมด 9 ไร่ ปัจจุบันใช้ไปเพียง 4 ไร่
สำหรับโรงพยาบาลสุขุมวิทมีผู้ถือหุ้น ประกอบด้วย กลุ่มโรงพยาบาลรามคำแหง 35% กลุ่มท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย 50% และกลุ่มแพทย์มีสัดส่วน 15%
"ธุรกิจโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนมีการขยายตัวที่ดี โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนมีการแข่งขันรุนแรง ในแง่ความพยายามยกระดับการรักษาและสร้างฐานลูกค้าใหม่ จำนวนเตียงจะเพิ่มขึ้น และการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายยังมีอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเปิดเออีซีที่จะมีคนไข้ต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาใช้บริการ ซึ่งโรงพยาบาลต้องปรับตัวหาจุดเด่นและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อดึงลูกค้า" น.พ.ภมรศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 3 - 6 ม.ค. 2556
- 1159 views