เมื่อวันที่ 24 กันยายน สำนักงานศูนย์สำรวจความคิดเห็นประชาชน "นิด้าโพล" เปิดผลสำรวจความคิดเห็นเรื่อง "รัฐบาลกับการดูแลสุขภาพของประชาชน" โดยสำรวจ 1,256 ตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 31.31 ต้องการให้รัฐบาลปรับปรุงการให้บริการของสถานพยาบาลให้มีความเสมอภาพและมีความรวดเร็ว ร้อยละ 20.15 ต้องการให้มีการรณรงค์และช่วยส่งเสริมสุขภาพของประชาชนทั้งในเมืองและนอกเมือง และร้อยละ 18.20 ต้องการให้รัฐบาลปรับปรุงเรื่องยาที่ใช้ในการรักษาพยาบาล ขณะที่ร้อยละ 13.35 ต้องการให้เพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งแพทย์เฉพาะทาง พยาบาล นอกนั้นร้อยละ 5.58 อยากให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้สิทธิในการรักษา 30 บาทได้ในสถานพยาบาลทุกแห่ง และร้อยละ 4.13 อยากให้รักษาฟรีครอบคลุมทุกโรค นอกนั้นเป็นความต้องการในเรื่องมาตรฐานการตรวจโรคและรักษาให้มีประสิทธิภาพ รวมทั้งต้องการให้เพิ่มสวัสดิการและสิทธิในการรักษาให้ครอบคลุมทุกอาชีพ
วันเดียวกัน นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวถึงนโยบายสาธารณสุขว่า นโยบายลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน ทั้งสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือ 30 บาทรักษาทุกโรค ประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินไม่มีเงื่อนไข หรือการขยายบริการผู้ป่วยไตวาย และเอดส์ให้ได้รับบริการรักษาอย่างเท่าเทียม ล้วนเป็นนโยบายที่ดี เว้นนโยบายร่วมจ่าย 30 บาท เป็นนโยบายที่เพิ่มภาระงานให้บุคลากร และเป็นการแบ่งตีตราคนชัดเจน เครือข่ายจึงร่วมกับกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เตรียมรวบรวมข้อร้องเรียนจากทั่วประเทศ ที่สะท้อนถึงผล กระทบจากนโยบายนี้เสนอต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในเดือนตุลาคมนี้ต่อไป
ขณะที่ นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสปสช. กล่าวว่า สปสช.อยู่ระหว่างทำประชาพิจารณ์ ประจำปี 2555 เพื่อประเมินว่าประชาชนมีความพึงพอใจ หรือได้รับผลกระทบอย่างไร ก่อนนำความคิดเห็นดังกล่าวมาปรับปรุง เบื้องต้นได้กระจายให้ทุกพื้นที่ทั่วประเทศดำเนินการแล้วก่อนจะสรุปผลเบื้องต้นเดือนตุลาคมนี้
--มติชน ฉบับวันที่ 26 ก.ย. 2555 (กรอบบ่าย)--
- 1 view