คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เตรียมถกขยายสิทธิความเสมอภาค 3 กองทุน กรณีเอดส์ เตรียมประชุมปัญหารับยาต้านไวรัส 3 ก.ย.
นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลมีนโยบายสร้างความเป็นเอกภาพและบูรณาการสิทธิประโยชน์ในการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินไปแล้วนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาขยายสิทธิสร้างความเสมอภาคในการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี /ผู้ป่วยเอดส์ และผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เพื่อให้ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มใน 3 กองทุน ทั้งสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ได้รับการดูแลอย่างเท่าเทียม โดยในส่วนของผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ระยะสุดท้ายจะเน้นในเรื่องของการดูแลรักษาอย่างมีคุณภาพต่อเนื่อง แม้มีการเปลี่ยนสิทธิ อาทิ ผู้ป่วยไตวายอยู่สิทธิประกันสังคม และลาออกต้องอยู่ในสิทธิ 30 บาทโดยอัตโนมัติ ก็จะได้รับการรักษาต่อเนื่องในสถานพยาบาลเดิมทันที ทั้งนี้ สำหรับการขยายสิทธิสร้างความเสมอภาคในผู้ป่วยดังกล่าวจะเริ่มประกาศใช้จริงในวันที่ 1 ตุลาคม 2555
นพ.วินัยกล่าวอีกว่า ส่วนผู้ป่วยเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์นั้น ขณะนี้มีการหารือว่าจะต้องปรับในเรื่องเกณฑ์ข้อกำหนดการรับยาต้านไวรัสเอชไอวีให้เท่าเทียมทั้ง 3 กองทุน เนื่องจากปัจจุบันยังไม่ได้ตามข้อกำหนดที่องค์การอนามัยโลกระบุไว้ คือ ผู้ป่วยต้องได้รับยาต้านไวรัสที่ค่าซีดีโฟว์ (CD4) หรือ ค่าภูมิคุ้มกันภายในร่างกาย ที่ระดับ 350 เนื่องจากหากได้รับยาต้านไวรัสเร็วก็จะส่งผลดีต่อผู้ป่วยในการป้องกันโรคแทรกซ้อนต่างๆ ไม่ให้ร่างกายทรุดโทรมเร็ว แต่ปัจจุบันการให้ยาต้านไวรัสจะให้เมื่อค่าซีดีโฟว์อยู่ที่ระดับ 200 ตรงนี้ก็จะมีการหารือและนำเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ในวันที่ 3 กันยายน ว่า จะปรับเปลี่ยนตามองค์การอนามัยโลกแนะนำได้หรือไม่ เบื้องต้นอาจปรับในส่วนของสิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรคก่อน ส่วนอีก 2 สิทธิจะมีการหารือกันให้ได้ข้อสรุปก่อนจะมีการประกาศขยายสิทธิสร้างความเสมอภาค 3 กองทุนต่อไป
"การปรับค่าซีดีโฟว์ หลายคนอาจวิตกว่าหากได้รับยาเร็วขึ้นจะมีปัญหาการทานยาไม่สม่ำเสมอและไม่ต่อเนื่องหรือไม่ เพราะโดยปกติคนที่ร่างกายยังแข็งแรงมักไม่ค่อยทานยาเท่าไรนัก ตรงนี้ก็ต้องมาคุยว่าจะมีแนวทางอย่างไรด้วย" เลขาธิการ สปสช.กล่าว
อนึ่ง ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์ รับยาต้านไวรัส 225,272 คน ใช้สิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค 148,357 คน หรือร้อยละ 65.9 สิทธิประกันสังคม 46,114 คน หรือร้อยละ 20.5 สิทธิข้าราชการ 12,059 คนหรือร้อยละ 5.4 และสิทธิอื่นๆ 18,742 คนหรือร้อยละ 8.3 ส่วนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 38,780 คน ใช้สิทธิ 30 บาทรักษาทุกโรค 20,077 คน สิทธิประกันสังคม 9,193 คน และสิทธิข้าราชการ 8,810 คน
ที่มา : นสพ.มติชน วันที่ 3 ก.ย. 55
- 1 view