เมื่อไม่นานนี้มีข่าวคราวที่เกิดขึ้นกับบริษัท แกล็กโซสมิธไคลน์ (GSK) จำกัด บริษัทผลิตและจำหน่ายยายักษ์ใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ที่ทำให้หน่วยงานทางด้านสาธารณสุขตลอดจนผู้บริโภคยาในประเทศไทยต้องหันกลับมาทบทวนเกี่ยวกับระบบสาธารณสุขในประเทศของเราจากการที่ GSK ถูกศาลเมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ มีคำสั่งปรับเป็นเงิน 3,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 96,000 ล้านบาท โดยเป็นค่าปรับในคดีอาญา 1,000 ล้านดอลลาร์ และค่าปรับในคดีแพ่งอีก 2,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อยุติคดีในข้อหาสำคัญหลายข้อหา ได้แก่ ทำตลาดยาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration : FDA) จากกรณีการใช้ยาไม่ตรงกับข้อบ่งใช้ที่ขึ้นทะเบียนไว้ ปิดบังเกี่ยวกับอันตรายของยา ตลอดจนกล่าวอ้างในงานวิจัยว่ายามีความปลอดภัย
แต่ละข้อหาที่ GSK ถูกกล่าวหาดำเนินคดี ล้วนแต่เป็นข้อหาฉกาจฉกรรจ์ที่ส่งผลกระทบไปถึงผู้คนในวงกว้าง จากการที่ GSK มีการส่งออกยาไปขายในหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย พฤติกรรมของ GSK ประการหนึ่งที่ทำให้ผู้สนใจติดตามข่าวนี้ต้องตกตะลึงก็คือ การติดสินบนแพทย์ในสหรัฐอเมริกาเพื่อให้สั่งจ่ายยารักษาโรคเบาหวานยี่ห้อ Avandia โดย GSK ได้ปกปิดงานวิจัย 3 ชิ้นที่ได้กล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาตัวนี้ แต่กลับใช้งานวิจัยที่ได้ทำขึ้นใหม่เพื่ออ้างความปลอดภัยของยา GSK ได้จ่ายสินบนให้แพทย์โดยจัดทัวร์ไปพักผ่อนที่ฮาวาย เงินสด รวมตั๋วคอนเสิร์ตราคาแพงของมาดอนนา เป็นต้น
นอกจากนี้ GSK ยังได้ทำการตลาดเพื่อจำหน่ายยารักษาโรคซึมเศร้ายี่ห้อ Paxil และ Wellbutrin โดยไม่ผ่านการรับรองจาก FDA ซึ่งการใช้ยาดังกล่าวก็ยังใช้ไม่ตรงกับที่บริษัทขออนุญาต และไม่ตรงกับที่ระบุในฉลากยา ไฟรเซอร์ บริษัทยาตลาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาที่มีรายได้มหาศาลจากการผลิตและขายยาไวอากร้า ก็ได้ถูกศาลสหรัฐสั่งปรับเป็นเงิน 2,300 ล้านดอลลาร์มาแล้ว จากคดีที่ขายยาแก้ปวดยี่ห้อ Bextra โดยไม่ได้รับอนุญาต
ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับกรณีบริษัทยายักษ์ใหญ่ดังกล่าวข้างต้น ทำให้สังคมไทยคงต้องหันกลับมามองดูว่า พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นกับแพทย์ในสหรัฐอเมริกาจะเกิดขึ้นกับแพทย์ในประเทศไทยได้บ้างหรือไม่ ซึ่งคนส่วนใหญ่เชื่อว่าพฤติการณ์เช่นเดียวกันนี้อาจจะเกิดขึ้นกับแพทย์หรือโรงพยาบาลในประเทศไทยได้เช่นกัน ทำให้คนไทยที่เจ็บไข้ได้ป่วยหรือมีความจำเป็นต้องใช้ยาอยู่บนความเสี่ยงในการใช้ยา ซึ่งไม่รู้ที่มาที่ไปของการผลิตและประสิทธิภาพที่แท้จริงของยาที่ตนเองใช้ว่าจะรักษาอาการเจ็บป่วยได้ผลหรือไม่
ความเสี่ยงในการใช้ยาดังกล่าวมักจะเกิดขึ้นกับยาใหม่ และยาจากคลินิกเอกชนหรือโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง ปัจจุบันมีข้อสังเกตว่ายาที่คลินิกเอกชนหรือโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งจ่ายให้แก่คนไข้ที่ไปใช้บริการจะไม่มีชื่อยาและไม่ระบุส่วนผสม ซึ่งการไม่ระบุรายละเอียดหรือส่วนผสมของตัวยาดังกล่าว อาจเกิดจากเหตุสำคัญ 2 ประการคือ ประการแรกเป็นยาที่ไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ประการที่สองอาจจะเป็นตัวยาที่ผ่านการรับรองจาก อย. แต่คลินิกเอกชนและโรงพยาบาลเอกชนนั้นไม่ต้องการให้คนไข้หรือผู้บริโภคทราบชื่อยาดังกล่าว เพื่อให้คนไข้หรือผู้บริโภคต้องมาซื้อยาจากคลินิกเอกชนหรือโรงพยาบาลเอกชนนั้นแต่เพียงผู้เดียว กรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องที่ อย. ควรจะเข้ามาดูแลกวดขันเข้มงวดกับบรรดาคลินิกเอกชนหรือโรงพยาบาลเอกชนทั้งหลายให้ทำการเปิดเผยชื่อยา ตลอดจนสูตรและส่วนผสมของยาให้มีความชัดเจนไม่ว่าจะที่เป็นยาใหม่ ยาที่นำเข้าจากต่างประเทศและยาที่ผลิตในประเทศ เพื่อเป็นการคุ้มครองคนไข้และผู้บริโภค มิให้เกิดอันตรายจากการใช้ยา ปัญหาที่กล่าวมานี้ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ก็ไม่เคยได้ข่าวว่า อย. ได้เข้าไปดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร ทั้งที่ อย. ถือเป็นหน่วยงานหลักที่กฎหมายได้ให้อำนาจอย่างเต็มที่ในการดูแลความปลอดภัยเกี่ยวกับอาหารและยาให้กับประชาชน
ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นกับระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย และอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนคนไทยจำนวนมากในอนาคตอีกด้วย หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลไม่ว่าจะเป็น อย. และกระทรวงสาธารณสุข ควรจะเข้ามาป้องกันและเตรียมการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรีบด่วน โดยเฉพาะในเรื่องระบบการเข้าถึงยาของคนไทย เพื่อให้ผู้บริโภคยาชาวไทยไม่ต้องยืนอยู่บนความเสี่ยงใช้ยาโดยไม่ทราบกระทั่งชื่อของยา และไม่ทราบว่ายาที่ตนเองใช้อยู่จะรักษาอาการป่วยไข้ได้ผลเพียงใด อีกทั้งจะมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นจากการใช้ยาหรือไม่ นอกจากนี้ ควรที่จะทำให้คนไทยทั่วไปสามารถเข้าถึงยาที่ดีและมีประสิทธิภาพในการรักษาได้ในราคาที่สมเหตุสมผลไม่แพงจนเกินไปอย่างที่เป็นอยู่ จากการที่บริษัทยาต่างชาติขูดรีดขายยาราคาแพงให้คนไทยใช้อยู่ในขณะนี้.
--เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 13 ส.ค. 2555 (กรอบบ่าย)--
- 362 views