กลุ่มร.พ.รามคำแหง ชี้ทุนนอกจ่อหอบเงินลงทุนธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในไทยรับเออีซี กระตุ้นทุนไทยปรับกลยุทธ์มุ่งควบรวมกิจการ หวังรวมกลุ่มเพิ่มอำนาจต่อรองพร้อมเร่งเครื่องลงทุนสร้างจุดต่างด้านการรักษา เพิ่มทางเลือกใหม่ให้ผู้ป่วยล่าสุดทุ่ม 400 ล้านผุดศูนย์มะเร็งเสริมศักยภาพรุกหนักผู้ป่วยประกันชีวิตหลังแนวโน้มการใช้บริการทางการแพทย์พุ่ง
น.พ.ศิริพงศ์ เหลืองวารินกุล รองกรรมการผู้จัดการบริษัทโรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน)ผู้บริหารโรงพยาบาลรามคำแหง เปิดเผยว่าภาพรวมธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยมีการขยายตัวต่อเนื่องมีชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการทางการแพทย์จำนวนมากจนกลายเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพหรือเมดิคัลฮับประกอบกับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีในปี2558คาดว่าจะเป็นแรงจูงใจการลงทุนจากกลุ่มทุนกองทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในกิจการโรงพยาบาลในประเทศไทยมากขึ้นซึ่งเป็นโอกาสที่ไทยจะได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ตลอดจนเทคโนโลยีทางการแพทย์มากขึ้นด้วย
ปัจจุบันธุรกิจโรงพยาบาลในประเทศไทยมีการเคลื่อนไหวสูงตลอดช่วง10ปีที่ผ่านมาทั้งการเข้าซื้อและควบรวมกิจการ(M&A)รวมถึงรวมกลุ่มกันของโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจรองรับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นทำให้แนวโน้มในอนาคตหากโรงพยาบาลขนาดเล็กไม่มีการรวมกลุ่มกันจะทำให้ดำเนินกิจการลำบาก
ในส่วนของโรงพยาบาลรามคำแหงยังคงเดินหน้าร่วมทุนในโรงพยาบาลต่างๆเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างเครือข่ายให้กับธุรกิจล่าสุดร่วมทุนในโรงพยาบาลอีก4 แห่งอาทิโรงพยาบาลอมตะนครจังหวัดชลบุรี,โรงพยาบาลเทพารักษ์และโรงพยาบาลชัยปราการจังหวัดสมุทรปราการเป็นต้นซึ่งเป็นการร่วมทุนผ่านโรงพยาบาลวิภารามและโรงพยาบาลรามคำแหงถือหุ้นในสัดส่วน50%ทำให้ปัจจุบันโรงพยาบาลรามคำแหงมีโรงพยาบาลในเครือเพิ่มขึ้นเป็น 27 แห่ง จากเดิมที่มีอยู่ 23 แห่ง
"ภายใน3-4ปีข้างหน้าจะเห็นกลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาลมากขึ้นจากปัจจุบันมีการเคลื่อนไหวอยู่ในภูมิภาคนี้และจะเห็นการร่วมทุนตลอดจนการรวมกลุ่มของโรงพยาบาลเอกชนไทยมากขึ้นด้วย เพื่อสร้างพาวเวอร์ให้กับธุรกิจมีความแข็งแกร่งและขีดความสามารถในการแข่งขันได้มากขึ้นซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่ากลุ่มโรงพยาบาลในไทยมีอยู่ประมาณ 3-4 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ,บำรุงราษฎร์,เกษมราษฎร์ และรามคำแหง" น.พ.ศิริพงศ์ กล่าวและว่า
อย่างไรก็ตามต้องการให้โรงพยาบาลไทยมุ่งให้ความสำคัญด้านการรักษาเฉพาะด้านมากขึ้นเพื่อสร้างความหลากหลายและเป็นทางเลือกให้กับผู้ป่วยที่จะเข้ารับการรักษาอีกทั้งช่วยลดการเผชิญหน้ากันโดยตรงของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนซึ่งในปีนี้โรงพยาบาลรามคำแหงมีแผนขยายลงทุนภายใต้งบประมาณราว 400ล้านบาทสำหรับการจัดตั้งศูนย์ฉายแสงรักษาโรคมะเร็งซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการในปีหน้าเพื่อเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์การเป็นโรงพยาบาลทางเลือกให้กับผู้ป่วยให้มากขึ้นจากที่ผ่านมาตั้งศูนย์หัวใจศูนย์รักษาแผลเบาหวาน
ทั้งนี้จากแนวโน้มผู้ป่วยที่มีประกันชีวิตหันมารับบริการทางการแพทย์ของโรงพยาบาลมากขึ้นจึงเป็นโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มผู้ป่วยดังกล่าวอย่างต่อเนื่องเพราะถือเป็นกลุ่มเป้าหมายขนาดใหญ่ มีอัตราการเติบโตสูงและในอนาคตคาดว่าจะเป็นกลุ่มที่ขยายตัวมากขึ้นเพราะปัจจุบันผู้บริโภคชาวไทยยังมีการทำประกันชีวิตค่อนข้างน้อยหากธุรกิจดังกล่าวขยายตัวก็จะเป็นปัจจัยบวกต่อธุรกิจโรงพยาบาลในอนาคตปัจจุบันโรงพยาบาลรามคำแหงมีผู้ป่วยที่ใช้สิทธิ์ผ่านประกันชีวิตราว 50% และจ่ายเงินเพื่อการรักษาเอง 50%
สำหรับภาพรวมผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรกโรงพยาบาลรามคำแหงมีการเติบโตราว10%และมีผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการ3.24แสนคนเติบโตราว5%ส่วนใหญ่ยังเป็นคนไทย98% และต่างชาติ2%เท่านั้นเนื่องจากบริษัทยังคงเน้นให้การรักษาผู้ป่วยคนไทยและคนกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกเป็นหลักส่วนภาพรวมรายได้ในปีนี้คาดว่าจะเติบโตราว10-12% จากปีก่อนที่มีรายได้รวมกว่า3.32 พันล้านบาท
ที่มา: หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 12 - 15 ส.ค. 2555--
- 9 views