ผลสำรวจทาวเวอร์ส วัทสัน พบค่าใช้จ่ายสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลของพนักงานในเอเชีย แปซิฟิกเพิ่มสูงขึ้น เกินกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ พร้อมชี้ให้เห็นว่ากลยุทธ์ดังกล่าวเป็นการตอบโจทย์เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลลดลงได้แล้ว การผลักดันให้พนักงานมีสุขภาพแข็งแรง ยังช่วยสร้างความผูกพันกับองค์กร อีกทั้งเพิ่มผลผลิตในระยะยาวอีกด้วย
บริษัททาวเวอร์ส วัทสัน (NYSE, NASDAQ:TW) ผู้ให้บริการปรึกษาด้านการบริหารองค์กรระดับโลก เผยผลสำรวจล่าสุดพบว่าค่าใช้จ่ายสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลของลูกจ้างเพิ่มขึ้นเป็นเลขสองหลักทั่วภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก นั่นคือ 10.2 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ โดยที่ค่านี้เพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อยคือ 10.1 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2554
ขณะที่อินเดียเป็นประเทศที่มีค่าใช้จ่ายสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลของลูกจ้างสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกอย่างต่อเนื่องถึง 13 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ประเทศจีนอยู่ที่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้มีแรงผลักดันมาจากความต้องการของพนักงานเกี่ยวกับสวัสดิการสุขภาพมากขึ้น และบริการที่มากขึ้นของบริษัทประกันภัย
แม้แต่ประเทศที่เป็นตลาดการรักษาพยาบาลการแพทย์ที่พัฒนาแล้วก็ยังมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยที่ประเทศสิงคโปร์และฮ่องกงมีค่าใช้จ่ายที่ 8 เปอร์เซ็นต์ และ 9 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ
นอกจากนี้ กว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนองค์กรในเอเชีย แปซิฟิกที่เข้าร่วมทำการสำรวจคาดว่าใช้จ่ายสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาลของลูกจ้าง มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีก 5 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับภูมิภาคยุโรปและอเมริกาเหนือซึ่งมีจำนวนองค์กรที่คาดว่าค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 41 เปอร์เซ็นต์ และ 22 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ
ดร. ราเจชรี (จีน่า) ปาเรค ผู้อำนวยการฝ่ายบริการ สวัสดิการด้านสุขภาพสำหรับองค์กร ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ทาวเวอร์ส วัทสัน กล่าวว่า ข่าวนี้ไม่ได้เป็นความน่ากลัวไปเสียทั้งหมด ด้วยพบว่าทุกๆ ภูมิภาคที่ผ่านมาค่าคาดการณ์ของการเพิ่มขึ้นนั้นเป็นไปในอัตราที่ต่ำลง ซึ่งอาจเป็นผลพวงจากการถดถอยทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม จากที่คาดว่าอัตราของแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะด้วยอัตราการเพิ่มที่ลดลงก็ตาม นายจ้างจะถูกบังคับให้มองหาวิธีใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาเพื่อจัดการค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของบริษัท
ประเด็นสำคัญก็คือ นายจ้างจำนวนมากจะตรวจสอบว่ากลยุทธ์การส่งเสริมสุขภาพในองค์รวมจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวอย่าง มีประสิทธิภาพได้อย่างไร
สำหรับผลสำรวจแนวโน้มค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลทั่วโลกจาก พ.ศ. 2552 - 2555 นั้น จะค่อนข้างเป็นไปในอัตราคงที่ และปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายก็ยังคงเป็นปัจจัยหลัก 3 ประการ ได้แก่ เทคโนโลยีใหม่ทางด้านการแพทย์ทำให้มีการดูแลรักษาที่มากเกินความจำเป็น (52 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ตอบแบบสอบถาม) แพทย์แนะนำการบริการที่มากเกินไป (50 เปอร์เซ็นต์) และแรงผลักดันจากกำไรของผู้ให้บริการสุขภาพ (31 เปอร์เซ็นต์)
จากผลสำรวจพบว่าอาการเจ็บป่วย ที่มีการเคลมมากที่สุดในเอเชียแปซิฟิกคือ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคระบบทางเดินอาหาร โรคมะเร็ง และ โรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งเป็นในทิศทางเดียวกับภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก เกือบ 3 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า โรคมะเร็งจะเป็นโรคที่มีการเคลมมากที่สุด
ถึงแม้ว่าวิธีการจัดการค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่ได้รับความนิยมส่วนมากจะยังคงเป็นการทำสัญญาของเครือข่ายผู้ให้บริการสุขภาพและการบริการผู้ป่วยในที่ได้รับการอนุมัติล่วงหน้าแล้วก็ตาม (ผู้ตอบแบบสอบถามตอบ 57 เปอร์เซ็นต์ ของทั้งสองประเด็น) วิธีการที่ไม่ใช่แบบดั้งเดิมบางวิธีการกำลังได้รับความสนใจเช่นกัน โดยมากกว่าสองในห้าของผู้ตอบแบบสอบถาม (42 เปอร์เซ็นต์) รายงานว่าได้ใช้โปรแกรมการจัดการสภาพความเรื้อรังของโรคหรือการจัดการโรค และมากกว่า 1 ใน 4 (29 เปอร์เซ็นต์) ใช้โปรแกรมเพื่อการมีสุขภาพที่ดี
ดร. ราเจชรี (จีน่า) ปาเรค กล่าวว่า ในเอเชียเรื่องสุขภาพถือเป็นเรื่องใหม่ ทว่าพวกนายจ้างก็กำลังเริ่มให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้มากขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกแม้ว่าองค์กรต่างๆ ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน เช่นการหาผู้ให้บริการด้านสุขภาพที่ให้บริการทั้งในระดับโลกหรือระดับภูมิภาค โครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่ไม่เอื้ออำนวย และความด้อยประสิทธิภาพอื่น ๆ
"พวกเขาสามารถเอาชนะอุปสรรคเหล่านี้ได้ด้วยความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะส่งเสริมสุขภาพของพนักงานในองค์กร กลยุทธ์นี้ไม่เพียงแต่จะช่วยให้นายจ้างบริหารจัดการค่าใช้จ่ายของพวกเขา แต่ยังผลักดันให้พนักงานมีสุขภาพแข็งแรง มีความผูกพันกับองค์กร และเพิ่มผลผลิตในระยะยาวอีกด้วย"
ขณะที่ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ในประเทศไทยนั้นยังคงเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยอยู่ที่ 8 เปอร์เซ็นต์ ถึง 9 เปอร์เซ็นต์
คริส เมส ผู้อำนวยการฝ่ายที่ปรึกษาส่วนงานสวัสดิการพนักงาน ทาวเวอร์ส วัทสัน ประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ต้องทราบก็คือ ค่าใช้จ่ายทางการแพทย์เพิ่มขึ้นสูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของเงินเดือน ทำให้สวัสดิการทางการแพทย์กลายเป็นค่าใช้จ่ายที่สำคัญมากสำหรับบริษัทที่ดำเนินงานในประเทศไทย
"ในอดีตเรามักจะเห็นบริษัทต่างๆ พยายามเลือกหาผู้ให้บริการประกันที่ให้ราคาถูก แต่ขณะนี้กลับกลายเป็นเรื่องที่ยากขึ้นมาก เพราะปัจจุบันบริษัทผู้ให้ประกันส่วนมากมีการประเมินข้อมูลอัตราส่วนการเคลมย้อนหลังอย่างละเอียด"
เขาบอกว่าแม้แนวคิดเรื่องนี้ยังที่ค่อนข้างใหม่สำหรับบริษัทในประเทศไทย แต่หากใช้อย่างถูกต้อง แนวคิดนี้สามารถนำไปสู่การควบคุมค่าใช้จ่ายทางการแพทย์และยังช่วยให้พนักงานเกิดความผูกพันกับบริษัทมากขึ้นอีกด้วย
สำหรับผลการสำรวจฉบับเต็มคลิกดู ที่ http://www.towerswatson.com/ research/7394
ที่มา : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2555
- 6 views