"ลาว-พม่า"เร่งแก้กฎหมายเปิดรับเอกชนต่างชาติ ลงทุนธุรกิจโรงพยาบาล ขยายการรักษาช่วยดูแลผู้ป่วยในประเทศ พร้อมดันระบบหลักประกันสุขภาพ ตั้งเป้าปี 8 ปี ครอบคลุมประชาชนทั้งหมด ด้าน"เวียดนาม"เล็งตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ ดึงผู้ป่วยโรคซับซ้อนไม่ต้องรักษาต่างประเทศ สภาการพยาบาลมองพยาบาลนอกไหลเข้าไทยแทน โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ ทำหน้าที่ล่ามสื่อสารผู้ป่วยต่างชาติ
ธุรกิจสุขภาพมีแนวโน้มคึกคักหากเปิดเสรีอาเซียน "กรุงเทพธุรกิจ" ได้มีโอกาสสำรวจความพร้อมในการลงทุนโรงพยาบาลจากรัฐมนตรีสาธารณสุข ลาว พม่า และเวียดนาม พบว่าทั้ง 3 ประเทศมีความต้องการแก้กฎหมายเพื่อเปิดให้เอกชนต่างชาติลงทุนธุรกิจโรงพยาบาล
ศ.เอกสว่าง วงศ์วิชิต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) กล่าวว่า ตามแผนแม่บทประเทศได้กำหนดการมุ่งพัฒนาเพื่อให้ประเทศหลุดพ้นจากประเทศด้อยพัฒนาภายในปี 2563 โดยด้านการสาธารณสุขเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนา จึงได้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ เน้นที่การส่งเสริมป้องกันโรคและดูแลสุขภาพประชาชน การจัดทำระบบสาธารณสุขที่ขยายบริการรักษาพยาบาลเพื่อให้ประชาชน โดยเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงชนเผ่าต่างๆ เข้าถึงการรักษา ซึ่งตามแผนได้กำหนดให้ในปี 2558 ลาวจะต้องมีหลักประกันสุขภาพที่ครอบคลุมประชากรร้อยละ 50 และในปี 2563 กำหนดให้ครอบคลุมประชากรทั้งหมด
ด้านบุคลากรสาธารณสุขนั้นยอมรับว่า ลาวยังขาดแคลนอยู่มาก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเวียดนาม ไทย และสิงคโปร์ ลาวมีแพทย์ในสัดส่วนประชากรที่น้อยมาก อยู่ประมาณ 12-17 ต่อประชากร 10,000 คน แต่ที่ผ่านมา มีความพยายามในการผลิตเพิ่ม โดยร่วมมือกับไทยและสหรัฐในการส่งแพทย์เข้ารับอบรม
ศ.เอกสว่าง กล่าวว่า จำเป็นต้องมีการปฏิรูปโรงพยาบาลเช่นกัน เนื่องจากยังเป็นปัญหาอยู่มาก โดยเฉพาะความพอเพียงต่อการบริการ ปัญหาเครื่องมือแพทย์ ซึ่งลาวมีโรงพยาบาลศูนย์ 5 แห่ง โรงพยาบาลระดับแขวง (จังหวัด) 17 แห่ง และสุขศาลา 2,000 แห่ง โดยในพื้นที่มีประชากรต่อกว่า 2,000 คนก็จะไม่มีสถานพยาบาลประจำในพื้นที่ แต่ต่อไปจะดำเนินการให้มีประจำอยู่ อย่างไรก็ตาม ในการจัดตั้งโรงพยาบาลเพิ่มเพื่อรองรับผู้ป่วยนั้น การเปิดให้เอกชนลงทุนธุรกิจโรงพยาบาลถือเป็นทางเลือกหนึ่ง เนื่องจากการดำเนินการจากภาครัฐคงไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงเปิดให้มีการลงทุน ทั้งในรูปแบบที่เอกชนลงทุนดำเนินการเองทั้งหมด หรือร่วมมือกับภาครัฐในการจัดตั้ง
ศ.เอกสว่างกล่าวต่อว่า ขณะนี้ มีโรงพยาบาลที่เอกชนเข้ามาลงทุนบ้างแล้ว เช่นที่แขวงอุดมไซ เป็นโรงพยาบาลขนาด 100 เตียง เช่นเดียวกับที่แขวงบ่อแก้ว หลวงพระบาง ที่เวียงจันทน์มีโรงพยาบาลเอกชนตั้งอยู่ 2-3 แห่ง แต่เป็นขนาด 30-40 เตียง ส่วนระดับโรงพยาบาลศูนย์ระดับ 200-500 เตียงนั้นที่ผ่านมาก็เสนอเข้ามาแล้ว เป็นโรงพยาบาลขนาด 200 เตียง จัดตั้งอยู่ใกล้พื้นที่ธาตุหลวง ก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณร้อย 60 "เอกชนที่เข้ามาลงทุนส่วนใหญ่เป็น ของลาวเอง ที่เสนอมามีเอกชนจีนเหมือนกัน เสนอจัดตั้งโรงพยาบาลที่แขวงบ่อแก้ว ในส่วนเอกชนไทยยังไม่มี มีแต่ในส่วนของคลินิกเสริมความงามที่เริ่มเข้ามาดำเนินธุรกิจ" ศ.เอกสว่างกล่าว
"เมียนมาร์" เปิดลงทุน รพ.
ศ.นพ.เป เตท ขิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สหภาพเมียนมาร์ กล่าวว่า เตรียมพร้อมเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีก 3 ปีข้างหน้าอย่างเต็มที่ในทุกด้าน โดยด้านการสาธารณสุขขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างเร่งแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดให้นักลงทุนจากต่างชาติสามารถเข้าไปลงทุนในด้านบริการสุขภาพได้ รวมทั้งการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแพทย์ที่เป็นของเอกชนด้วย เพื่อนำไปสู่การผลิตแพทย์ให้เพียงพอต่อความต้องการของสถานบริการภาคเอกชน
ที่ผ่านมา สถานบริการเอกชนในพม่ามีการเติบโตที่รวดเร็ว แต่เอกชนยังไม่ได้ลงทุนในด้านการผลิตทรัพยากรบุคคล ส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตแพทย์จากภาครัฐและทางโรงพยาบาลเอกชนดึงไปใช้ ดังนั้น จึงอยากให้เอกชนมีการลงทุนผลิตบุคลากรสำหรับป้อนตนเอง
เวียดนามเร่งปฏิรูปสาธารณสุข
พญ.ไต คิม เตี๋ยน เหงียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประเทศเวียดนาม กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญอันดับแรกสำหรับการลงทุนด้านสุขภาพ รวมทั้งการสนับสนุนด้านงบประมาณ ช่วงที่ผ่านมา งบประมาณด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นปีต่อปี และเป็นการเพิ่มขึ้น ในอัตราที่มากกว่าด้านอื่น
ทั้งนี้ รัฐบาลต้องการปฏิรูประบบสุขภาพ และระบบการเงินด้านสุขภาพเพื่อปรับปรุงการให้บริการสุขภาพแก่ประชาชนทุกคนได้อย่างทั่วถึง โดยได้รับการสนับสนุนทั้งจากรัฐบาลและภาคเอกชน
ส่วนแรกเป็นการมุ่งปรับปรุงระบบสุขภาพปฐมภูมิ สร้างเครือข่ายสุขภาพสำหรับประชาชนรากหญ้า ตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน อำเภอ จังหวัดและส่วนกลาง เน้นที่การป้องกันสุขภาพ โรคอุบัติใหม่ โรคติดต่อ และโรคไม่ติดต่อ เรื้อรัง โดยเฉพาะโรคหัวใจ มะเร็ง ความดัน สูง รวมไปถึงการดูแลด้านสุขภาพจิตของประชาชน
นอกจากนี้ รัฐบาลยังตั้งเป้าการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยในปี 2563 จะทำให้ประชาชนเข้าถึงการรักษา โดยเฉพาะในกลุ่มประชาชนยากจน ชนกลุ่มน้อยตามภูเขา เด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี สำคัญรัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณในการพัฒนาคน และยังได้จัดตั้งศูนย์ความ เป็นเลิศด้านสุขภาพที่ใช้เทคโนโลยีการรักษา ระดับสูงเพื่อที่จะให้การรักษากลุ่มโรคที่มีภาวะรุนแรงไม่ให้ชาวเวียดนามต้องเดินทางไปรักษาในต่างประเทศ โดยเฉพาะไทย สิงคโปร์ สหรัฐ และยุโรป
ชี้ธุรกิจสุขภาพแข่งขันสูง
นายราเชนทร์ พจนสุนทร รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ในภาคของการบริการ เรื่องของวิชาชีพที่สามารถจะไปได้ดีในตลาดอาเซียน ได้แก่ ธุรกิจสุขภาพ ไอที การขนส่งทางอากาศ โทรคมนาคม โลจิสติกส์ ร้านอาหาร สปา เสริมความงาม รักษาพยาบาล ก่อสร้าง ซ่อมเรือ อู่ซ่อมรถยนต์ ถือเป็นโอกาสที่ต้องส่งเสริมให้คนไทยมีฝีมือให้เก่งยิ่งขึ้น
ส่วนเมื่อเขตการค้าเสรีอาเซียนเกิดขึ้นนั้น ในแง่ของวิชาชีพทางด้านสาธารณสุขอาจจะเกิดการเคลื่อนย้ายบุคลากรด้านการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์หรือพยาบาล
เชื่อพยาบาลฟิลิปปินส์เข้าไทย
ดร.กฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาล กล่าวว่า เชื่อว่าหลังการเปิดเสรีอาเซียน จะมีชาวต่างชาติเข้ารับบริการมากขึ้น แต่เมื่อดูด้านกำลังคนต้องยอมรับว่า ในส่วนของพยาบาลยังมีปัญหาขาดแคลนอยู่ ที่ผ่านมา แม้ว่าในการผลิตพยาบาลจะสามารถผลิตได้ 9,000 คนต่อปี แต่มีปัญหาในการรักษาพยาบาลให้อยู่ในระบบสุขภาพ โดยส่วนใหญ่จะไหลออกนอกระบบ แม้ไม่มีการเปิดเสรีอาเซียน
พยาบาลไทยจะไหลไปในส่วนภาค เอกชนในประเทศมากกว่า แต่จะมีพยาบาล จากต่างชาติไหลเข้ามาทำงานในไทยที่โรงพยาบาลเอกชนมากขึ้น โดยเฉพาะจากฟิลิปปินส์ จะมาทำหน้าที่เป็นล่ามสื่อสารกับผู้ป่วย ต่างชาติ
"ที่ผ่านมา มีพยาบาลที่ออกจากวิชาชีพไปทำงานชีพอื่นถึงประมาณร้อยละ 4 ต่อปี ปัญหาที่เกิดขึ้นจำเป็นที่ภาครัฐต้องหามาตรการแก้ไขอย่างเร่งด่วนเพื่อคงพยาบาลไว้ใน ระบบกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้มีจำนวนเพียงพอต่อการดูแลประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล"
ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 9 กรกฎาคม 2555
- 260 views