ยาแม้จะมีคุณค่าอนันต์แต่ก็มีโทษมหันต์เช่นกัน ยิ่งเมื่อต้องใช้ยาหลายชนิดร่วมกัมย่อมเสี่ยงต่อผลลัพธ์อันไม่พึงประสงค์

ภญ.ศิศิลักษณ์ ฐิตินันท์เมือง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ แนะนำว่า การใช้ยาในผู้สูงอายุควรใช้อย่างเหมาะสมและเท่าที่จำเป็น ซึ่งมีหลักการง่าย ๆ ที่ลูกหลานควรปฏิบัติ คือ จดชื่อยาประจำตัวของคุณปู่ ย่า ตา ยาย ไว้ว่าใช้ยาอะไรอยู่บ้าง หาก ฉุกเฉิน ต้องไปหาแพทย์ ที่โรงพยาบาล แพทย์จะได้ทราบประวัติการใช้ยาว่ามีอะไรบ้างที่ต้องระวังเป็นพิเศษจะช่วยให้สามารถดูแลคนไข้ได้ถูกต้องและลดความเสี่ยง ไม่ให้แพทย์จ่ายยาซ้ำซ้อนหรือตีกับยาที่รับประทานอยู่

ลำดับต่อมาคือควรรู้จักยาที่รับประทาน เวลารับยาจากเภสัชกรต้องช่วยกันจำว่า ยาตัวนี้ใช้ในการรักษาโรคอะไร ยาตัวนั้นใช้ในการรักษาโรคอะไร เพราะ คุณปู่ ย่า ตา ยายต้องรับประทานยาเป็นประจำและไม่ควรซื้อยารับประทานเอง

เภสัชกรสาว เล่าว่า จากประสบการณ์ผู้สูงอายุมักนิยมซื้อยาลดไขมัน ยาความดัน ยาเบาหวานรับประทานเองแทนที่จะไปพบแพทย์ ส่วนหนึ่งเนื่องจากเกรงใจลูกหลานที่ต้องเสียเงิน เสียเวลาเดินทาง และเข้าใจผิดคิดว่า สามารถซื้อรับประทานเองได้ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะการให้ยาคนไข้แต่ละครั้งนั้น แพทย์จะต้องปรับยาตามค่าไขมัน เบาหวาน ความดันที่เหมาะสม

การซื้อยาทานเองอาจจะเกิดอันตรายได้ ทำให้ความดันคุมไม่อยู่ ความดันอาจต่ำเกินไป หรือน้ำตาลต่ำหรือสูงเกินไปก็ได้

จัดเป็นเซตกันลืม

บางครั้งแพทย์จะสั่งเจาะเลือดเพื่อตรวจดูการทำงานของตับ และไต เพราะว่ายาบางตัวต้องมีการปรับให้เหมาะสมกับการทำงานของตับและไต เนื่องจากในผู้สูงอายุการทำงานของตับและไตน้อยกว่าคนหนุ่มสาว จึงไม่สามารถใช้ได้ในปริมาณเดียวกันกับคนหนุ่มสาวได้ ส่วนปัญหาที่พบบ่อยๆ คือ คุณปู่คุณย่า มักหยิบยาผิด หรือจำไม่ได้ว่ารับประทานยาแล้วหรือยัง บางครั้งรับประทานยาซ้ำหรือไม่รับประทานยาเลย วิธีแก้ง่าย ๆ คือ จัดยาเป็นชุด ๆ ไว้ ให้คุณปู่คุณย่าว่า ชุดนี้หลังข้าวเช้า ชุดนี้หลังข้าวกลางวัน และชุดนี้หลังข้าวเย็น แทนจะให้ท่านจัดยาทานเองเพราะโอกาสผิดพลาดสูง

นอกเหนือจากยาประจำตัวแล้ว ปัญหาพบคือ ผู้สูงอายุมักนิยมรับประทานอาหารเสริม หรือสมุนไพรตามเพื่อน ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องรับประทาน หรือบางตัวเสี่ยงตีกับยาประจำที่รับประทาน ซึ่งความเชื่อในสังคมไทยที่ส่วนใหญ่มองว่า ยาสมุนไพร ยาลูกกลอนดี ช่วยคลายปวดเมื่อย ซึ่งพบบ่อยครั้งว่า แหล่งผลิตไม่น่าเชื่อถือ มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ แม้ว่ารับประทานแล้วอาจแก้ปวดได้ แต่ในระยะยาว เกิดผลเสียต่อร่างกาย เช่น น้ำตาลขึ้น กระดูกพรุน ตาเป็นต้อ ฯลฯ

หรือกลุ่มวิตามินรวม หากรับประทานหลายยี่ห้อทำให้ได้รับวิตามินบางตัวสูงเกินไปได้ ยกตัวอย่าง วิตามินในกลุ่มวิตามินที่ละลายในไขมัน ได้แก่ วิตามินเอ ดี อี ถ้ารับประทานในปริมาณมากจะไปสะสมก่อเกิดพิษตามแต่วิตามินนั้น ๆ หากเป็นวิตามินบี วิตามินซี ซึ่งละลายในน้ำ โอกาสที่สะสมจะน้อยกว่าวิตามินที่ละลายในไขมัน เพราะสามารถขับออกมาทางปัสสาวะได้

เภสัชกรสาว บอกว่า บางครั้งลูกหลานจะซื้อน้ำมันปลาให้คุณปู่ ย่า คุณตา คุณยาย แนะนำว่า ให้คิดก่อนว่า คุณคาดหวังอะไรจากน้ำมันปลา เพราะประโยชน์ของน้ำมันปลาก็คือ ลดระดับของไตรกลีเซอไรด์ในเลือด และเพิ่มระดับของเอชดีแอลคอเลสเตอรอล ซึ่งเป็นไขมันที่ดี น้ำมันปลาสามารถลดระดับของไตรกลีเซอไรด์ลงได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพต้านการอักเสบ แต่ถ้าคุณปู่ คุณย่าไม่ได้มีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ไม่มีความจำเป็นต้องรับประทาน

ข้อควรระวังในการรับประทานน้ำมันปลา คือมันจะทำเลือดหยุดไหลช้า ดังนั้นถ้าต้องถอนฟัน หรือผ่าตัด ซึ่งจะมีเลือดออกมาก ควรจะแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนล่วงหน้าว่า รับประทานน้ำมันปลา โดยส่วนใหญ่แพทย์จะสั่งให้หยุดรับประทานก่อนทำฟัน หรือผ่าตัด 5-7 วัน เช่นเดียวกันสำหรับผู้ที่รับยาประจำ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเช่นกัน เพราะ อาจมียาบางตัวมีผลกระทบ เช่น แอสไพริน

ถ้าไม่หยุดเวลาที่ผ่าตัดเลือดมันไหลหยุดไหลช้ากว่าปกติ ถ้าเป็นการผ่าตัดคนไข้ก็เสียเลือดมากโดยไม่จำเป็น

สังเกตอาการข้างเคียง

ยาที่ผู้สูงอายุต้องระวังคือ ยากลุ่มแก้ปวดแก้อักเสบแบบที่กัดกระเพาะ เพราะผู้สูงอายุมักซื้อยาทานเอง หากรับประทานบ่อยๆ จะมีปัญหายากัดกระเพาะ ไตทำงานบกพร่อง และโรคหัวใจทำงานแย่ลงได้ ดังนั้นลูกหลานจึงควร ดูแลใกล้ชิดว่า ท่านรับประทานยาถูกไหม ครบไหม หรือแอบทานยาอะไรที่นอกเหนือจากที่หมอสั่งหรือเปล่า

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ควรสังเกตอาการข้างเคียงจากยา ยกตัวอย่าง เช่น ถ้ารับประทานแอสไพรินแล้ว อยู่ดีๆ มีจ้ำตามตัว สีปัสสาวะ อุจจาระเปลี่ยนหรือมีเลือดออก ต้องดูว่า เกิดจากยาหรือมาจากสาเหตุอื่นหรือกลุ่มของยาความดัน ที่มีผลข้างเคียงทำให้ขาบวมได้ ถ้าบวมมาก ควรรีบพาพบแพทย์ให้เปลี่ยนยาหรือปรับขนาดยา

อย่า !!! หยุดยาเอง

หากมีข้อสงสัยไม่ว่า จะเป็นเรื่องยาหรือสุขภาพ อย่า นิ่งนอนใจ ควรปรึกษาหาความกระจ่าง ชัดกับเภสัชกร แพทย์ พยาบาลเพื่อไขข้อข้องใจให้มีความเข้าใจกระจ่างชัดเพื่อประสิทธิภาพของการใช้ยาบนพื้นฐานของความปลอดภัยต่อสุขภาพ เพราะสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการใช้ยาในผู้สูงอายุ คือความปลอดภัย ดังนั้น การดูแลการใช้ยาอย่างใกล้ชิด จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้และทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้ยานั่นเอง

ที่มา: นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 24 มิ.ย. 55