วันที่ 14 พฤษภาคม 2555 ที่จะถึงนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งมีนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน วาระสำคัญที่สังคมเฝ้าจับตา คือการคัดเลือกเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) คนใหม่ แทนคนเดิม คือ นพ.วินัย สวัสดิวร ที่ได้หมดวาระไปเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา
เดิมนั้น หากไม่เกิดข้อปัญหาเรื่องการตีความคุณสมบัติของนพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานสรรหาเลขาธิการสปสช. การคัดเลือกเลขาธิการจะมีขึ้นในวันที่ 11 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา แต่การประชุมในวันดังกล่าวมีการทักท้วงจากกรรมการบางท่านถึงคุณสมบัติของปลัดกระทรวงแรงงานที่ทำสัญญาเรื่องการให้บริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุนร่วมกับสปสช. และกรมบัญชีกลาง อาจขัดคุณสมบัติตามข้อกฎหมายได้ ที่สุดที่ประชุมจึงมีมติให้ส่งคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความให้ชัดเจน กระทั่งวันที่ 27 เมษายน 2555 คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่านพ.สมเกียรติไม่มีลักษณะต้องห้ามในการเป็นกรรมการสรรหา กระบวนการคัดเลือกเลขาธิการสปสช.จึงมีกำหนดในวันที่ 14 พฤษภาคม นี้
โดยที่ผ่านมา คณะกรรมการสรรหาได้สรรหาผู้สมัครเลขาธิการและคัดเลือกได้จำนวน 3 ราย ก่อนเสนอให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบอร์ดสปสช.ทำหน้าที่คัดเลือก
Health Focus จึงขอนำเสนอประวัติของผู้ผ่านการสรรหา 3 ราย ดังนี้
1. นพ.วินัย สวัสดิวร อายุ 58 ปี
ประวัติการศึกษา :
- พ.ศ.2522 วิทยาศาสตร์บัณฑิต แพทย์ศาสตร์บัณฑิต (วทบ.พบ.) คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ.2528 ประกาศนียบัตรแพทย์ทางระบาดวิทยา (Field Epidermiology Training Program (FETP) กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับ CDC, USA
- พ.ศ.2529 สาธารณสุขศาสตร์มหาบัณฑิต (สม.) มหาวิทยาลัยมหิดล
- พ.ศ.2529 อนุมัติบัตรเวชศาสตร์ป้องกัน สาขาระบาดวิทยา แพทยสภา
ประวัติการทำงาน :
- พ.ศ.2523-2526 ผู้อำนวยการรพ.สมเด็จพระยุพราชเลิงนกทา จ.ยโสธร
- พ.ศ.2528-2533 หัวหน้าฝ่ายเวชกรรมสังคม รพ.มหาสารคาม
- พ.ศ.2533-2536 ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน สสจ.มหาสารคาม
- พ.ศ.2536-2541 นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดยโสธร
- พ.ศ.2541-2543 นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครสวรรค์
- พ.ศ.2543-2546 รองอธิบดีกรมการแพทย์
- พ.ศ.2546-2551 รองเลขาธิการสปสช
- พ.ศ.2551-2555 เลขาธิการสปสช.
นพ.วินัย สวัสดิวร อดีตเลขาธิการสปสช.ที่เพิ่งพ้นวาระไปหมาดๆ เป็นตัว “เกร็ง” และลุ้นมานาน โดยเฉพาะช่วงที่กำลังจะหมดวาระ ว่าจะได้รับสัญญาณให้ดำรงต่อเป็นเลขาธิการสปสช.ในวาระที่ 2 เพื่อเกียรติประวัติของชีวิตหรือไม่ คลุกคลีกกับสปสช.ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ไม่ใช่คนในสายกลุ่มแพทย์ชนบทแบบสายตรงหรือของแท้ หลังการเมืองเข้าคุมบอร์ดสปสช.เต็มตัว สายแพทย์ชนบทก็ถูกลดบทบาทไปจนเหลือพลังต่อรองน้อยมาก ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดและเป็นข้อเดียวที่จะชี้ชะตานพ.วินัยต่อจากนี้ได้ คือ การเมือง ช่วงหลังๆ จึงเร่งสปีดสร้างผลงานเข้าตาการเมือง โดยเฉพาะ นโยบายฉุกเฉิน 3 กองทุน และสนองนโยบายหลายข้อ ถูกเตะสกัดจากแพทย์ฝั่งตรงข้าม ถึงขั้นยื่นหนังสือถึงนายกฯปูให้ยับยั้งโดยอ้างเรื่องการสัญญาว่าจะให้งบแก่รมว.สธ.หากได้รับเลือกเป็นเลขาธิการต่ออีกสมัย (ดู จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีเรื่องการเลือกเลขาธิการสปสช.ไม่สุจริตเที่ยงธรรม http://www.thaitrl.org/index.php?option=com_content&task=view&id=2432&Itemid=45 ) ยังไม่นับรวมช่วงระหว่างดำรงตำแหน่งที่ถูกแพทย์กลุ่มนี้โจมตีด้วยหลายข้อกล่าวหา โดยเฉพาะเรื่องรพ.ขาดทุน และประเด็นข้อท้วงติงของสตง. 7 ประการ
2. นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ อายุ 52 ปี
ประวัติการศึกษา
- แพทยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ปริญญาเอก ศัลยศาสตร์ทั่วไป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ปริญญาเอก เวชศาสตร์ครอบครัว แพทยสภา
- ปริญญาเอก เวชศาสตร์ป้องกัน แพทยสภา
- นักบริหารระดับสูง กพ.
- เศรษฐศาสตร์สาธารณะ สถาบันพระปกเกล้า
- Advance Management Program Harvard Business School
ประวัติการทำงาน
- ผู้อำนวยการรพ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา
- ผู้อำนวยการสำนักบริหารการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
- ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
- รักษาการ นพ.ผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
นพ.ชาญวิทย์ นับเป็นบุคคลที่คนในแวดวงสาธารณสุขรับทราบดีว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนักการเมืองใหญ่ในกลุ่มอำนาจปัจจุบันเป็นอย่างดี สามารถตอบสนองได้หลายอย่าง และนี่เป็นคุณสมบัติที่ทำให้เซียนทั้งหลายฟันธงไม่ขาดว่าการเมืองจะเลือกใคร แต่จุดอ่อนสำคัญคือ ที่ผ่านมาเคยถูกชมรมแพทย์ชนบทจับตามองจากการเป็น 1 ในกรรมการร่างเงื่อนไขการประกวดราคาจัดซื้อคอมพิวเตอร์ให้รพ.ทั่วประเทศกว่า 900 ล้านบาท มีข้อกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชน (ดู ข่าวคอมพ์ รถพยาบาล โยกย้าย 3 ปม ทำกระทรวงหมอเดือด นสพ.ผู้จัดการรายวัน 27 พ.ย.49) 5 รวมถึงจุดอ่อนด้านขาดประสบการณ์และความรู้เรื่องระบบหลักประกันสุขภาพ แต่หากการเมืองไม่เปลี่ยนขั้วมีความเป็นไปได้สูงว่า นพ.ชาญวิทย์อาจจะถูกดันให้มารับตำแน่งในสปสช.เพื่อมาเรียนรู้งาน ก่อนจะผลักให้ขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในโอกาสต่อไป
3. ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล อายุ 52 ปี
ประวัติการศึกษา :
- วิทยาศาสตร์บัณฑิต (การแพทย์) มหาวิทยาลัยมหิดล
- แพทยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล
- รัฐประสานศาสตร์บัณฑิต มสธ
- วทม.การแพทย์คลินิก ศิริราชพยาบาล
- วุฒิบัตร(ปริญญาเอก) ศัลยศาสตร์ทั่วไป มหาวิทยาลัยขอนแก่น
- ศัลยศาสตร์บำบัดวิกฤต มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด สหรัฐอเมริกา
- ประกาศนียบัตร หลักสูตรการเมืองและการปกครองสำหรับผู้บริหารระดับสูง (ปปร) รุ่นที่ ๑๐
- ประกาศนียบัตร หลักสูตรการพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง (พตส) รุ่นที่ ๑
- กำลังศึกษาในหลักสูตร ปรอ.รุ่นที่ ๒๔ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร
ประวัติการทำงาน :
- คณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ
- ผู้จัดการแผนงานรณรงค์รักษ์สุขภาพโดยแพทย์ร่วมกับสหวิชาชีพ หน่วยงานสังกัด สสส.
- ศาสตราจารย์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินวิโรฒ
นพ.สมเกียรตินั้น เป็นชื่อที่ได้รับการสนับสนุนจากฝั่งแพทยสมาคม แพทยสภา สภาวิชาชีพต่างๆ รวมถึงกลุ่มสผพท. และ สพศท. จุดอ่อนที่การเมืองไม่น่าจะเลือก คือ ประวัติเมื่อครั้งปรากฏการณ์ “ไล่ทักษิณ” เมื่อปี 2549 ที่นพ.สมเกียรติ เคยขึ้นเวทีพันธมิตรไล่ทักษิณในนามเครือข่ายแพทย์มาแล้ว (ดูเครือข่ายแพทย์ร่วมวงศ์ไล่แม้ว http://www2.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?newsID=9490000040637)
- 256 views