หวั่นภาวะสมองไหลหลังเปิดเสรีอาเซียน โรงพยาบาลเอกชนวอนรัฐเปิดช่องร่วมผลิตแพทย์เฉพาะทาง

นพ.กำพล พลัสสินทร์ ประธานชมรมโรงพยาบาลเพื่อการพัฒนาระบบประกันสังคม เปิดเผยว่า มีแนวโน้มสูงที่แพทย์เฉพาะทางจะไหลออกไปต่างประเทศหลังการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ เออีซี ดังนั้นขอเสนอให้โรงพยาบาลเอกชนที่มีศักยภาพสูง เช่น โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ร่วมผลิตแพทย์เฉพาะทางและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้เพียงพอต่อความต้องการ

นพ.กำพล กล่าวว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ มีอาจารย์แพทย์สาขาเฉพาะทาง เช่น หัวใจ สมอง ผิวหนังปอด ไต ทางเดินหายใจ ประจำอยู่มากกว่ามหาวิทยาลัยแพทย์หรือโรงพยาบาลรัฐขณะเดียวกันโรงพยาบาลเอกชนยังมีเทคโนโลยี ระบบไอที และวิวัฒนาการทางการแพทย์สูงกว่าโรงพยาบาลอื่นๆด้วยอย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนยังไม่สามารถผลิตแพทย์ได้ เนื่องจากถูกกีดกันจากภาครัฐ เกรงว่าจะผลิตมาแข่งขันกับโรงเรียนแพทย์หรือผลิตไม่ได้คุณภาพ ทั้งๆที่ในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาอังกฤษ เปิดช่องให้โรงพยาบาลเอกชนผลิตแพทย์เฉพาะทางทั้งสิ้น

"ระยะเวลาการผลิตแพทย์ 1 คน เริ่มจากเรียนในวิทยาลัยแพทยศาสตร์ 6 ปี จากนั้นหากจะต่อสาขาอายุรกรรมต้องเรียนอีก 3 ปี จึงสามารถต่อแพทย์เฉพาะทางได้ แน่นอนว่าจะได้แพทย์เฉพาะทาง 1 คน ต้องใช้เวลาร่วม 10 ปีแต่แนวทางที่เสนอจะให้โรงพยาบาลเอกชนมารับช่วงต่อหลังจากจบวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์แล้ว ซึ่งแพทย์เฉพาะทางบางสาขา อาจเริ่มเรียนในปีที่ 7 เท่านั้น"นพ.กำพล กล่าว

นพ.กำพล กล่าวว่า เบื้องต้นได้หารือกับผู้อำนวยการสองโรงพยาบาลข้างต้นและได้รับการยืนยันว่ามีความพร้อม ขึ้นอยู่กับแพทยสภาว่าจะยอมให้โรงพยาบาลเอกชนผลิตแพทย์หรือไม่ ทั้งนี้ หากแพทยสภาเห็นด้วยและออกประกาศก็สามารถบังคับใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ หรือคณะรัฐมนตรี

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 14 พฤษภาคม 2555