ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คาดปี 2574 ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด มีจำนวนถึง 18 ล้านคน! ปชช. 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 28 คาดผู้ป่วยติดเตียงเพิ่มขึ้นเป็น 234,000 คน ผุดโครงการขอให้หายดี...จังหวัดอ่างทอง ช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง เสริมสร้างกำลังใจให้กับผู้ป่วยและผู้ดูแล

จากข้อมูลสถิติประชากร กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในปี 2566 ระบุว่าในประเทศไทยมีผู้สูงอายุจำนวน 13,064,929 คน คิดเป็น 20.08% ของประชากรทั้งประเทศ (66,052,615 คน) ทำให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยมีผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง จำนวน 174,409 คน คิดเป็น 1.3% ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด (นับเฉพาะผู้ที่เข้าระบบ) ซึ่งคาดการณ์ว่าในปี 2574 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด มีจำนวนผู้สูงอายุ 18,680,000 คน โดยเป็นประชาชนที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 28 ของประชากรทั้งประเทศ และคาดว่าจะมีผู้ป่วยติดเตียงเพิ่มขึ้นเป็น 234,000 คน (ไม่รวมผู้ป่วยนอกระบบ) ซึ่งจะส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสาธารณสุขอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทั้งนี้ พบว่าผู้ป่วยที่ติดเตียง และที่สามารถดูแลตัวเองได้นั้น บางคนมีผู้ดูแล บางคนอยู่ตามลำพังหรืออาจมีทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเข้าไปเยี่ยมเยียนดูแลที่บ้านบ้าง บางคนมีบัตรสวัสดิการ แต่ในขณะที่บางคนตกสำรวจ ขาดการดูแล เกิดปัญหาความไม่ทั่วถึงและไม่เท่าเทียม อีกทั้งการดูแลรักษาที่ยืดเยื้อยาวนานเพราะแผลเรื้อรัง ทำให้เกิดความลำบากทั้งต่อผู้ป่วย ผู้ดูแล และเจ้าหน้าที่พยาบาล

“โครงการขอให้หายดี...จังหวัดอ่างทอง” จึงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 จากความร่วมมือระหว่างภาครัฐหน่วยงานสาธารณสุข องค์การบริหารส่วนจังหวัดอ่างทอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอ่างทอง และภาคเอกชน เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียง เสริมสร้างกำลังใจให้กับผู้ป่วยและผู้ดูแล ช่วยลดปัญหาเศรษฐกิจในครัวเรือนและภาครัฐ รวมถึงเพื่อลดปัญหาด้านบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยที่มากขึ้น

นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ประธานโครงการขอให้หายดี จ.อ่างทอง กล่าวถึงโครงการว่า ความร่วมมือจัดตั้งโครงการขอให้หายดีฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้ป่วยติดเตียงและผู้ดูแลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยการบูรณาการการดูแล การรักษา และการป้องกันของผู้ป่วยและผู้ที่มีแนวโน้มว่าจะเป็นแผลกดทับเรื้อรัง รวมถึงการเตรียมความพร้อมสำหรับสังคมผู้สูงอายุที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ ตอนนี้โครงการฯ พบว่าผู้ป่วยติดเตียงที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการจำนวน 23 ราย มีพัฒนาการของแผลดีขึ้นตามลำดับ ผู้ดูแลมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น ลดขั้นตอนการดูแลผู้ป่วย ลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสีย ช่วยให้ผู้ป่วยและผู้ดูแลมีกำลังใจที่ดีขึ้น ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จในระยะเริ่มต้นโครงการ ทั้งนี้หากโครงการฯ ดำเนินงานต่อไป จะช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ ลดค่าใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและภาครัฐด้วยเช่นเดียวกัน 

นายทวีโชค โรจนอารัมภ์กุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า แผลกดทับหรือ Pressure Ulcers ที่เป็นกันมากในผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียง นอกจากจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการเจ็บปวดในขั้นตอนการรักษา แผลติดเชื้อเรื้อรังหายยาก หรือเสื่อมสภาพกลายเป็นเนื้อตายต้องตัดจนทำให้สูญเสียอวัยวะ บางรายเกิดภาวะแทรกซ้อนอาจนำไปสู่การเสียชีวิต ซึ่งหากเราสามารถช่วยลดภาวะของโรคที่กล่าวมานี้ได้ โดยการกระจายองค์ความรู้ การดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่มีแผลกดทับเรื้อรังให้แก่ญาติผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษา ติดตามผลการดูแลรักษาผ่านการลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่วนตำบล (รพ.สต.), อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.), Care Giver และระบบแพทย์ออนไลน์ (Telemedicine) ก็จะเป็นการช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่มารักษาในสถานพยาบาล ลดค่าใช้จ่ายในการรักษาและการเดินทาง ช่วยบรรเทางานของบุคลากรทางการแพทย์ และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในการดูแลรักษาผู้ป่วยระยะยาว”

นายอัครพันธุ์ รัตตะรังสี กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิโรจน์รัตน์ เมเนจเม้นท์ จำกัด กล่าวว่า ตนดำเนินธุรกิจควบคู่กับการทำงานเพื่อสังคม โดยทีมงานของเราร่วมลงพื้นที่สำรวจปัญหาด้านต่างๆ ในสังคม  ร่วมกับพันธมิตรภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และมูลนิธิ เรานำความรู้ด้านงานวิจัยจากต่างประเทศ มาศึกษาพัฒนาเป็นความรู้ของคนไทย และผลิตเป็นนวัตกรรมสาร HOCl เพื่อบรรเทาการอักเสบหลังการติดเชื้อ ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ไวรัสและแบคทีเรีย 99.99%  ป้องกันและบรรเทาแผลกดทับ โดยผู้ป่วยหรือผู้ดูแลสามารถใช้ผลิตภัณฑ์เองได้ที่บ้านโดยไม่ต้องเดินทางไปขูดหรือทำแผลที่โรงพยาบาล ซึ่งเราคาดหวังที่จะให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดน้อยลง ช่วยฟื้นฟูให้แผลหายเร็วขึ้น อีกทั้งเรายังมีโครงการเพื่อพระภิกษุอาพาธในโครงการกุฏิชีวาภิบาล และเตรียมขยายไปทั่วประเทศไทยอีกด้วย