ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รมว.สาธารณสุข ประชุมกำหนดแนวทาง Patient journey หรือ เส้นทางเดินของคนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เผย 7 เดือนที่ผ่านมา มีผู้เสพสมัครใจบำบัดแล้วกว่า 7 หมื่นคน เกือบ 90% กลุ่มอาการสีเขียว อยู่ในชุมชนแต่ต้องการเลิกยา ตัดวงจรผู้ค้ารายย่อยได้จริง มีตัวอย่างเด็กร่วมโครงการทูบีนับเบอร์วัน  เล่าประสบการณ์จริง ย้ำ! สถานบำบัดมีพอ มีศูนย์ค้นหาผู้เสพทั่วประเทศ

 

กำหนดแนวทางบำบัด Patient journey

เมื่อวันที่ 24 เมษายน นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมติดตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีประเด็นยาเสพติด ว่า การบำบัดรักษาฟื้นฟูยาเสพติด เป็นหน้าที่หลักตามกฎหมายให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ ซึ่งคณะกรรมการบำบัดและฟื้นฟู มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประเทศ และมีปลัด สธ.เป็นกรรมการ โดยในการประชุมมีการกำหนดแนวทางทั้งหมดในกระบวนการบำบัดรักษาฟื้นฟู ที่ใช้คำว่า เส้นทางเดินของคนที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด เรียกว่า Patient journey

แบ่งกลุ่มสีตามอาการผู้เสพ เพื่อเข้าสู่บำบัดรักษา

โดยเริ่มตั้งแต่การค้นหา มาสู่การคัดกรอง ส่งต่อและเข้าสู่สถานบำบัดตามประเภทแบ่งกลุ่มสี เช่น สีแดง อาการรุนแรง คลุ้มคลั่งอาละวาท ไปโรงพยาบาล หรือรพ.ธัญญารักษ์ที่มีจิตแพทย์  สีเหลืองแยกไปมินิธัญญารักษ์ หรือรพ.ชุมชน ส่วนสีเขียวเข้าสู่ชุมชนบำบัดที่เรียกว่า ชุมชนล้อมรักษ์ หรือ CBTX ทั้งหมดจะเป็นแนวทางต่างๆตามกลุ่ม รวมถึงการบำบัดฟื้นฟูแล้วเสร็จจะไปอย่างไร อย่าง CBTX เป็นทั้งการบำบัดฟื้นฟูทางการแพทย์และสังคม แต่เน้นบำบัดรักษาฟื้นฟู เพราะดูทั้งสุขภาพกายและใจ เนื่องจากกลุ่มนี้ไม่มีอาการ แต่ติดทางใจ จิตใจอ่อนแอ และให้เขามีความรอบรู้เข้าใจ โทษพิษภัยยาเสพติดต่างๆ เติมเต็มด้วยการสร้างอาชีพให้อยู่ให้ได้ในสังคม

กว่า 7 เดือนสมัครใจบำบัดแล้วกว่า 7 หมื่นคน

เมื่อถามว่าตั้งแต่เริ่มนโยบายนี้มีผู้สมัครใจเข้ามาบำบัดมากเท่าไหร่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า กฎหมายใหม่ต้องสมัครใจ ส่วนช่วง 7-8 เดือนที่ผ่านมา มีผู้เข้ารับบำบัดแล้วกว่า 70,000 คน ถือว่าเยอะมาก อยู่ในกระทรวงสาธารณสุขประมาณ 5 หมื่นกว่าคน นอกนั้นอยู่ทั้งกระทรวงกลาโหม กระทรวงยุติธรรม สถานพินิจฯ เรือนจำ โดยมีทั้งการค้นหา และเข้ามาสมัครใจบำบัดเอง อย่างจ.น่าน เปิดศูนย์ฯ ไม่ต้องค้นหา มีคนสมัครใจบำบัด 70 คนจาก 197 คน ไม่ต้องออกไปค้นหาเลย นอกนั้นก็จะค้นหาชักจูง รวมถึงญาติส่งเข้ามา

กลุ่มสีเขียวมากเกือบ 90% อยู่ในชุมชน

ผู้สื่อข่าวถามว่าผู้บำบัดกว่า 7 หมื่นคนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสีอะไร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสีเขียว สีเหลือง ส่วนสีส้มสีแดงมีน้อยมาก อย่างสีแดงมี 8 พันคนคิดราว 10% ส่วนใหญ่สีเขียว คือ ไม่มีอาการ ส่วนสีเหลืองมีอาการแต่ไม่มาก ส่วนใหญ่เป็นคนเสพยาและมีอาการจิตเวชอื่น

เมื่อถามว่ากลุ่มสีเขียวเยอะ แสดงว่าเป็นการส่งสัญญาณว่า นโยบายนี้ตอบรับผู้เสพที่มีอาการไม่มากและสนใจบำบัด เพราะที่ผ่านมาอาจไม่มีลู่ทางหรือไม่  นพ.ชลน่าน กล่าวว่า อาจสะท้อนบอกเช่นนั้นได้ เนื่องจาก 7 เดือนมีเข้ามาบำบัดกว่า 7 หมื่นคน ถือว่าเยอะมาก และตามกฎหมายใหม่ให้สมัครใจ ไม่มีการบังคับ แม้ศาลมีคำสั่งให้ไปบำบัด แต่ก็ไม่ใช่บังคับบำบัด เพราะศาลต้องถามก่อนว่าสมัครใจหรือไม่ หากไม่สมัครใจก็ดำเนินคดี ดังนั้น คนก็จะตัดสินใจ 2 ช่วง อย่างถูกจับแล้วแต่ยังไม่ได้ถูกดำเนินคดี โดยเจ้าหน้าที่ไปนำตัวมาก่อน และจะถามว่า สมัครใจหรือไม่ เพื่อเข้าสู่การคัดกรอง ซึ่งพวกนี้ไม่ถูกบันทึกเป็นคดี ยกเว้นไม่สมัครใจ แต่เมื่อเข้าสู่คดี ขึ้นศาลก็ยังมีโอกาสตัดสินใจตามที่กล่าวมาอีก

แสดงว่ากลุ่มสีเขียวน่าจะถึง 80% หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า กลุ่มอาการสีแดงมีราว 10% สีเขียวก็เกือบ 90%

เมื่อถามอีกกรณีกลุ่มสีเขียวจะเป็นกลุ่มที่อยู่ในชุมชน และหากไม่บำบัดจะมีความเสี่ยงกลายเป็นผู้ค้ารายย่อยหรือไม่ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า  เป็นไปได้สูงมาก เพราะกลุ่มนี้จะเสพ แต่ไม่มีอาการ และเท่าที่ทราบจากปรากฎการณ์ โครงการทูบีนัมเบอร์วัน ที่เข้าสถานพินิจ เข้ามาร่วมโครงการ มาเล่าประสบการณ์ว่า เริ่มจากเสพนิดเดียว 1 เม็ด 2 เม็ด ไปเรื่อยๆ จนไม่มีเงินก็ถูกทาบทามให้เป็นผู้ค้า ดังนั้น หากตัดตอนตรงนี้ได้ ก็จะช่วยตัดวงจรการค้ารายย่อย ซึ่งที่ผ่านมามีหลายจังหวัดเครือข่ายการค้ายาลด เพราะไม่มีคนเดินส่งยา

1.46 ล้านคน เป็นกลุ่มสีเขียวที่ต้องดึงเข้าบำบัดแบบสมัครใจ

“เราจะทำสิ่งเหล่านี้ให้เป็นเรียลไทม์ เพราะมีกลุ่มเป้าหมายที่ทราบว่า 1.9 ล้านคน โดยประมาณ 1.46 ล้านคน เป็นกลุ่มสีเขียว หากเข้าใจกระบวนการของเรา ก็สามารถเดินเข้ามาบำบัดได้ หลายคนบอกว่าไม่มีสถานบำบัด เป็นเรื่องไม่จริง เพราะกลุ่มมีอาการ เรามีสถานบำบัดชัดเจน แต่กลุ่มไม่มีอาการ พร้อมจะเป็นชุมชนบำบัดเกิดขึ้นได้ทันที เพราะเรามีกลไกเติมเต็มบุคลากรเข้าไป เรื่องนี้ไม่ต้องกังวล ชุมชนเป็นฐานในการบำบัด พร้อมเป็นสถานบำบัดทุกแห่ง ขณะนี้เตรียมไว้อย่างน้อยอำเภอละ 1 ที่ทั่วประเทศ เรามีศูนย์คัดกรองทั่วประเทศใน รพ.สต.ทุกแห่ง มีการอบรมพัฒนาศักยภาพ เติมเต็มเครื่องไม้เครื่องมือ” นพ.ชลน่าน กล่าว