ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แพทย์ รพ.บำรุงราษฎร์ ให้ความรู้ “มะเร็งเต้านม” ภัยที่ผู้หญิงทุกคนไม่ควรมองข้าม  เบื้องต้นหมั่นตรวจเต้านมด้วยตนเอง ขณะที่ผู้หญิงอายุมากกว่า 35 ปี แนะนำให้ตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรมเป็นประจำทุกปี

โรคมะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 1 ของผู้หญิงทั่วโลก จากสถิติขององค์การอนามัยโลก มีผู้หญิงเป็นมะเร็งเต้านมกว่า 2 ล้านคนต่อปี และเสียชีวิตกว่า 685,000 รายทั่วโลก ขณะที่ ข้อมูลจากกรมการแพทย์ สถานบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า มีผู้หญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านม 18,000 คนต่อปี หรือคิดเป็น 49 คนต่อวัน และเสียชีวิต 4,800 คนต่อปี หรือ 13 รายต่อวัน โดยจำนวนของผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี 

“มะเร็งเต้านม” จึงเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งมีโอกาสหาย อย่างไรก็ตาม ถ้าพูดถึงโรคมะเร็งเต้านม หลาย ๆ คนคงทราบแล้วว่า มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 1 ของผู้หญิงทั่วโลก และไม่ใช่พบแค่ผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังพบได้ในผู้ชายประมาณ 0.5-1% อีกด้วย จะเห็นได้ว่ามะเร็งเต้านมไม่เลือกเพศ ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้

ทำความรู้จัก มะเร็งเต้านม

ปัจจุบันปัญหาเกี่ยวกับเต้านมเป็นปัญหาของผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นก้อนเนื้อที่เต้านมชนิดไม่ร้ายแรงหรือถุงน้ำที่เต้านม ไปจนถึงก้อนเนื้อที่เป็นมะเร็ง โดย รศ.นพ.วิชัย วาสนสิริ หัวหน้าศูนย์เต้านม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า มะเร็งเต้านมเกิดจากการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์ที่อยู่ภายในท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนมจนไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดก้อนในเต้านมหรือมะเร็งเต้านม และอันตรายจากมะเร็งเต้านม หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที มะเร็งจะแพร่กระจายไปตามทางเดินน้ำเหลือง เช่น ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ หรือลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น ปอด ตับ สมอง กระดูก จนทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด นอกจากนี้ ยังพบว่า มะเร็งเต้านมจะพบได้มากขึ้นในผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไป  

ควรหมั่นตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ

ผู้หญิงทุกคนควรหมั่นตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ หรือคอยสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการคลำพบก้อนที่เต้านม มีก้อนหนาๆ ในเต้านมหรือใต้แขน ผิวหนังบริเวณเต้านมมีการเปลี่ยนแปลง เช่น มีรอยบุ๋ม ย่น หดตัวหรือหนาขึ้นผิดปกติ มีผื่นแดง ร้อน ผื่นคล้ายผิวส้ม หัวนมมีการหดตัว บุ๋ม คัน มีผื่นแดงผิดปกติ มีแผล หรือมีน้ำเหลือง เลือด หรือของเหลวไหลออกมา รวมถึงอาการปวดบริเวณเต้านม ซึ่งหากมีอาการผิดปกติเหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณของอาการมะเร็งเต้านม ควรรีบไปพบแพทย์ทันที แต่หลายๆ ครั้งก็พบว่า ผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติอะไร กว่าจะตรวจพบก็เข้าสู่ระยะ 2-3 แล้ว 

ดังนั้น แนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม โดยผู้หญิงที่อายุไม่เกิน 35 ปี แนะนำให้ตรวจเต้านมด้วยเครื่องอัลตราซาวนด์ และผู้หญิงที่อายุมากกว่า 35 ปี แนะนำให้ตรวจด้วยเครื่องแมมโมแกรมเป็นประจำทุกปี เพราะหากตรวจได้เร็วก็จะรักษาได้ง่ายและมีโอกาสหายได้มากยิ่งขึ้น    

วิธีตรวจวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งหรือไม่

สำหรับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งหรือไม่  คือ การตรวจคัดกรอง ส่งชิ้นเนื้อ และพบศัลยแพทย์เต้านม ซึ่งผู้ป่วยสามารถทราบผลตรวจวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วภายใน 72 ชั่วโมง โดยการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมมี 3 วิธี คือ การตรวจคลำเต้านมโดยแพทย์ซึ่งเป็นการตรวจเบื้องต้น  การตรวจด้วยดิจิทัลแมมโมแกรม  และการตรวจอัลตราซาวนด์ 

โดยการตรวจดิจิทัลแมมโมแกรมก็คือ กระบวนการตรวจโดยใช้เอกซเรย์พลังงานต่ำถ่ายภาพของเต้านม ซึ่งภาพที่ได้จะมีความละเอียดสูงและคมชัดมาก ทำให้สามารถตรวจพบหินปูนหรือเนื้อเยื่อที่ผิดปกติหรือรอยโรคขนาดเล็กได้ และระบุตำแหน่งและค้นหาความผิดปกติได้อย่างแม่นยำ สามารถตรวจวินิจฉัยหาความผิดปกติของเต้านมได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งเป็นวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่ดีที่สุดในปัจจุบัน เพราะจะทำให้มีโอกาสรักษาหายขาดสูง

นอกจากนี้ยังมีการตรวจด้วยอัลตราซาวนด์โดยเป็นการส่งคลื่นเสียงความถี่สูงผ่านเข้าไปในเนื้อเตานม เมื่อคลื่นเสียงไปตกกระทบตามเนื้อเยื่อต่าง ๆ จะสะท้อนกลับขึ้นมาที่เครื่องตรวจทำให้สามารถแยกองค์ประกอบของเนื้อเยื่อได้ว่าส่วนใดเป็นเนื้อเยื่อปกติ ส่วนใดผิดปกติ