ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. แจงความคืบหน้าปมปัญหาส่งต่อผู้ป่วยใน กทม.ยืนยันแม้ยกเลิกใบส่งตัวไม่มีผลต่อการเบิกจ่าย พร้อมเร่งดำเนินการไม่ให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบ 25 มี.ค.นี้ เตรียมพบ “ชัชชาติ.” หารือสถานพยาบาลในสังกัด กทม. ลดผลกระทบปชช.ช่วงเปลี่ยนผ่าน OP New Model 5 

วันที่ 22 มี.ค. 2567 คณะผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำโดย ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. พร้อมด้วย พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการ สปสช. และ ทพญ.น้ำเพชร ตั้งยิ่งยง ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 13 กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมแถลงข่าวความคืบหน้า “แนวทางการส่งต่อผู้ป่วยบัตรทองใน กทม.” หลังปรับรูปแบบการเบิกจ่ายผู้ป่วยนอกใน กทม. เป็น OP New Model 5 

ทพ.อรรถพร เปิดเผยผ่านทางออนไลน์ว่า การแถลงข่าวในครั้งนี้ เป็นการแถลงข่าวต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบถึงความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาการส่งต่อผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง หรือบัตร 30 บาท) ซึ่งขอย้ำว่า สปสช. ไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามแก้ปัญหาให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบเร็วที่สุด เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ สปสช. เขต 13 กทม. และเจ้าหน้าที่ 1330 หลังจากที่ยังมีประชาชนร้องเรียนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

เปลี่ยนรูปแบบการจ่ายเงินให้คลินิกชุมชนอบอุ่นใน กทม.

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา ก่อนการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีกลุ่มตัวแทนกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนระบบบัตรทองใน กทม. เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.ทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธาน บอร์ด สปสช. เพื่อขอให้แก้ปัญหาการใช้สิทธิบัตรทองใน กทม. หลังจากที่ สปสช. เขต 13 กทม. ได้เปลี่ยนรูปแบบการจ่ายเงินให้คลินิกชุมชนอบอุ่นใน กทม. เป็นรูปแบบ OP New Model 5 มี 4 เรื่องด้วยกันที่ขอให้ดำเนินการ ประกอบด้วย

1. ให้กำกับดูแลให้คลินิกชุมชนอบอุ่นส่งตัวผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับบริการที่โรงพยาบาลตามมาตรฐานวิชาชีพ

2. ให้กำหนดให้คลินิกชุมชนอบอุ่นเขียนใบส่งตัวในระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่ต่ำกว่า 3 เดือนในกรณีโรคไม่เรื้อรัง และไม่ต่ำกว่า 1 ปีในกรณีโรคเรื้อรัง

3. ให้กำหนดให้ผู้ป่วยไปขอรับใบส่งตัวที่ศูนย์บริการสาธารณสุขได้ ในกรณีที่คลินิกชุมชนอบอุ่นไม่ออกใบส่งตัวให้ 

4. เผยแพร่ข้อมูลรายชื่อหน่วยบริการที่มีเรื่องร้องเรียน เพื่อให้ประชาชนใช้เป็นข้อมูลประกอบการรับบริการ หรือย้ายหน่วยบริการ 

 “4 ข้อเรียกร้องนี้ ท่าน นพ.ชลน่าน ได้ให้ สปสช. ดำเนินการที่เป็นไปตามความเหมาะสม โดยยึดหลักการสำคัญ คือ ต้องไม่ให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบ ขณะเดียวกันคลินิกฯ ต้องอยู่ได้ด้วย เป็นเหตุผลที่ปรับรูปแบบบริการการเงินจาก Model 5 เป็น OP New Model 5 เพื่อประชาชนใช้บริการได้ และให้คลินิกอยู่ได้ด้วย ส่วนผู้ป่วยที่มีใบส่งตัวรักษาต่อเนื่องกับ โรงพยาบาลรับส่งต่อที่ยังไม่หมดอายุนั้น ท่าน รมว.สาธารณสุข ย้ำด้วยว่าขอให้ โรงพยาบาลรับส่งต่อทุกสังกัดให้การดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ต่อเนื่อง” ทพ.อรรถพร กล่าว

ทพ.อรรถพร กล่าวว่า สำหรับการเรื่องร้องเรียนโดยแนบรายชื่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการเบิกจ่ายหลังวันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา สายด่วน 1330 ก็ได้มีการประสานเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะรายแล้ว และหากยังเกิดปัญหาเจ้าหน้าที่ก็ยินดีแก้ปัญหาให้ ขณะเดียวกันสำหรับรายชื่อหน่วยบริการที่ได้รับการร้องเรียนนั้น สปสช. จะเน้นเรื่องการพูดคุยแลกเปลี่ยนร่วมกันแก้ไขปัญหา เนื่องจากการปรับรูปแบบการเบิกจ่ายเป็นข้อเสนอจากคลินิกฯ 

อย่างไรก็ดี แต่เมื่อปรับแล้วเกิดผลกระทบก็ต้องปรับต่อเพื่อหาจุดลงตัวที่สุด แต่ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ก็ได้มีการเขียนข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องในการจัดการข้อร้องเรียน ได้แก่ ม.57 และ ม.59 ซึ่งประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน สามารถแจ้งเข้ามาที่ สปสช. ได้ และจะมีการรวบรวม และเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขที่จะมีการพิจารณาชี้ขาด แต่ด้วย สปสช. และหน่วยบริการต้องทำงานกันอย่างเป็นเนื้อเดียวในระยะยาวโดยมีประชาชนเป็นสำคัญก็ไม่ประสงค์ให้ถึงขั้นใช้กฎหมาย แต่ยังยืนยันว่า สปสช. จะใช้วิธีเจรจา และรวบรวมข้อมูลเพื่อแก้ปัญหา ทำความเข้าใจ แต่หากยังไม่มีการปรับ และทำให้ประชาชนเดือดร้อนก็อาจจะมีการพิจารณาใช้กฎหมายต่อไป 

ประชาชนได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงการเบิกจ่าย

ด้าน พญ.ลลิตยา กล่าวว่า จากมติคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ เขต 13 กรุงเทพมหานคร (อปสข. เขต 13 กทม.) โดย นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ บอร์ด สปสช. และประธาน อปสข. เขต 13 ได้มีมติที่เกี่ยวข้อง พิจารณาแนวทางการแก้ไข้ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2567 ซึ่งเป็นข้อสรุปที่ได้รวบรวมจากการประชุม และหารือของคณะทำงานชุดต่างๆ รวมถึงหารือร่วมกับหน่วยบริการระบบบัตรทองในพื้นที่ กทม. ทั้งหน่วยบริการปฐมภูมิ (คลินิกฯ) และโรงพยาบาลรับส่งต่อ เป็นมติที่สืบเนื่องจากการปรับรูปแบบการเบิกจ่าย จากการจ่ายตามรายการบริการมาเป็นแบบเหมาจ่ายรายหัวตามข้อเสนอจากคลินิกฯ แต่ภายหลังจากการเปลี่ยนตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2567 ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการส่งตัวของผู้ป่วย 

อย่างไรก็ดี อปสข.กทม. มีมติ มอบให้ สปสช.เขต 13 กทม. ซักซ้อมทำความเข้าใจกับหน่วยบริการทุกแห่ง ทั้งหน่วยบริการปฐมภูมิ และหน่วยบริการรับส่งต่อ หากหน่วยบริการปฐมภูมิต้นสังกัดพิจารณาแล้วว่าเกินศักยภาพในการดูแล ต้องส่งต่อไปยังหน่วยบริการที่มีศักยภาพในเครือข่าย ส่วนหน่วยบริการรับส่งต่อต้องให้บริการผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยนัด มีใบส่งต่อ หรือมีเหตุสมควรที่เข้าไปรับบริการ โดยหน้าที่โรงพยาบาลสามารถให้การรักษา และเบิกค่าใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์ที่ สปสช.กำหนด เช่น กองทุน OP Anywhere หรือกองทุนเฉพาะอื่นๆ 

รวมถึง ต้องมีการกันเงินเหมาจ่ายรายหัวผู้ป่วยนอกในกรณีมีการส่งตัวผู้ป่วย หรือส่งไปยังโรงพยาบาลรับส่งต่อ จากการพูดคุยกันครั้งแรก คลินิกฯ และหน่วยบริการสาธารณสุขจะรับผิดชอบ 1,600 บาทแรก แต่เมื่อพิจารณาแล้วก็มีการขอปรับราคาเป็น 800 บาทแรก และในส่วนที่เกินก็จะเป็นการหักจากกองทุนกลางที่จะหักจากทุกคลินิกฯ จำนวน 30 บาท/ประชากร/เดือน หากกองทุนส่วนนี้เหลือจะคืนให้คลินิกฯ แต่ก็จะมีการเข้าพิจารณาว่าจะต้องปรับอัตราตามมติ และข้อตกลง รวมถึงให้ สปสช. มีการติดตามอย่างใกล้ชิด และประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งจากฝั่งประชาชน คลินิกฯ และงบประมาณ 

25 มี.ค.นี้ เตรียมพบ “ชัชชาติ.” หารือสถานพยาบาลในสังกัด กทม.

“ในวันจันทร์ที่ 25 มี.ค.นี้ สปสช. ได้ประสาน กทม. โดย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. เข้าพบ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เพื่อขอหารือในแนวทางและความร่วมมือการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนใน กทม. ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับรูปแบบการเบิกจ่าย พร้อมให้ข้อมูลปัญหาการส่งต่อ หรือประชาชนไม่ได้รับใบส่งตัวจากคลินิก เป็นต้น ซึ่งเป็นการขอคำปรึกษาและขอความร่วมมือ” พญ.ลลิตยา กล่าว 

ด้าน ทพญ.น้ำเพชร ระบุว่า สปสช. กทม. รับทราบและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และให้ความสำคัญต่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเบิกจ่าย ซึ่ง สปสช. กทม. มีการประชุมติดตามร่วมกับเจ้าหน้าที่สายด่วน 1330 ทุกวัน ในกรณีที่ประชาชนได้รับผลกระทบ หรือมีคำถามนำมาวิเคราะห์ ซึ่งในทุกวันนี้ได้รับข้อร้องเรียน 3 ส่วน ทั้งภาคประชาชนที่อาจจะได้รับบการสื่อสารเรื่องกลับไปขอใบส่งตัว แต่ขณะเดียวกันหน่วยบริการก็ได้มีการตั้งรับให้ประชาชนมารับใบส่งตัวเพื่อส่งไปยังโรงพยาบาลรับส่งต่อ ส่วนโรงพยาบาลรับส่งต่อก็อาจจะต้องให้ประชาชนไปเอาใบส่งตัว ฉะนั้นจึงต้องมีการชี้แจงทำความเข้าใจกับหน่วยบริการ ทั้งคลินิก ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือโรงพยาบาลรับส่งต่อ

 อย่างไรก็ดี ถ้าเป็นผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลอยู่แล้ว สปสช กทม. ก็ขอความร่วมมือให้ โรงพยาบาลรับส่งต่อดูแลต่อเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน และในส่วนของคลินิกฯ หรือผู้ป่วยนั้นได้มีการรวบรวมปัญหาต่างๆ ซึ่งผู้บริหาร สปสช. ก็จะมีการแบ่งข้อมูลออกเป็นเขตพื้นที่ และติดตามสถานการณ์รวมกันว่าในแต่ละคลินิกฯ มีจำนวนประชาชนได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน หากพบว่ามีจำนวนมาก ก็จะมีการจัดลำดับความสำคัญ ประชุมร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อดูศักยภาพของคลินิกฯ ว่ามีศักยภาพในการดูแล หรือจำเป็นต้องมีการส่งต่อผู้ป่วย 

“ระยะนี้เราลงพื้นคลินิกฯ ทุกวันที่อาจจะต้องการคำชี้แจ้ง หรือความเข้าใจที่ถูกต้อง ซักซ้อมกับคลินิกฯ เพื่อลดผลกระทบประชาชน เพิ่มความเข้าใจกันมากขึ้น ซึ่งในช่วงนี้มีการประชุมออนไลน์ ลงพื้นที่ ทั้งมอนิเตอร์การร้องเรียนของประชาน รวมถึงสะสมข้อมูลด้วย” ทพญ.น้ำเพชร กล่าว 

กรณีรพ.รับส่งต่อมีใบนัดแล้ว รพ.ยินดีให้บริการและเบิกจ่ายตามกองทุนที่ สปสช. กำหนด

ทพญ.น้ำเพชร กล่าวว่า ล่าสุดได้มีการปรึกษากับโรงพยาบาลรับส่งต่อทุกแห่งเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนเรื่องใบส่งตัว กรณีโรงพยาบาลรับส่งต่อมีใบนัดแล้ว ทางโรงพยาบาลยินดีที่จะให้บริการ และเบิกจ่ายตามกองทุนที่ สปสช. กำหนด ส่วนกรณีผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องรับบริการอย่างต่อเนื่อง หรือประเมินแล้วว่าเกินศักยภาพของคลินิกฯ ที่อยู่ในการดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลแล้ว โรงพยาบาลก็ยินดีที่จะดูแลต่อเนื่อง ไม่ว่าจะมีปัญหาเรื่องใบส่งตัว หรือเมื่อดูจากหน้างานแล้วจำเป็นต้องได้รับการรักษา ซึ่งส่วนนี้โรงพยาบาลรับส่งต่อก็รับมาเพื่อดูแลประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง