ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วัณโรค 1 ใน 4 โรคติดเชื้อทำให้เสียชีวิตติดอันดับโลก  สธ.เดินหน้ายุทธศาสตร์ยุติวัณโรค  ชู 5 แนวทาง ลดป่วยรายใหม่ลง 90% ในปี 2578 หรือลดอัตราป่วยปีละ 5% เดินหน้าค้นหา 7 กลุ่มเสี่ยงเข้าถึงการคัดกรองและรักษา เผยหารือ สปสช.เห็นชอบเพิ่มยาสูตรใหม่รักษาวัณโรคดื้อยาเข้าสิทธิประโยชน์

 

เมื่อวันที่ 22 มี.ค. รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย  นพ.นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ศ.เกียรติคุณ นพ.อรรถ นานา นายกสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ดร.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย แถลงข่าวรณรงค์ยุติวัณโรคเนื่องในวันวัณโรคสากล ปี 2567

วัณโรค 1 ใน 4 โรคติดเชื้อทำให้เสียชีวิตติดอันดับโลก  

รศ.นพ.เชิดชัย กล่าวว่า สธ.ตระหนักและให้ความสำคัญถึงปัญหาวัณโรคมาโดยตลอด มีแผนงานและกิจกรรมที่จะผลักดันขับเคลื่อนนโยบายป้องกัน ดูแล รักษา และควบคุมวัณโรคของประเทศ เพื่อลดอัตราป่วยและตายจากวัณโรค ทั้งนี้ สาเหตุของโรคติดเชื้อที่ทำให้เสียชีวิตระดับโลก 4 อันดับ คือ โควิด 19 วัณโรค  เอชไอวี และมาลาเรีย การจะลดการป่วยและตายจากวัณโรค ต้องมีเครือข่ายที่ร่วมกันทั้งสถานบริการสาธารณสุขภาครัฐและเอกชน ซึ่ง สธ.มียุทธศาสตร์ยุติวัณโรค (End TB Strategy) ในปี พ.ศ. 2578 คือ 1.เร่งรัดค้นหาและตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยวัณโรคและวัณโรคดื้อยาทุกกลุ่มเสี่ยง  2.ยกระดับการดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคและวัณโรคดื้อยา 3.เพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการวินิจฉัยการรักษาการติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ 4.เสริมสร้างความเข้มแข็งระบบสนับสนุนการดําเนินงานวัณโรค และ 5.ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมป้องกัน ดูแลรักษา และควบคุมวัณโรค เพื่อยุติวัณโรค ลดอัตราตายลงร้อยละ 95 และลดผู้ป่วยรายใหม่ลงร้อยละ 90 ภายในปี 2578

เผยผลงาน 3-4 ปีควบคุมวัณโรคควบคู่โควิด

รศ.นพ.เชิดชัยกล่าวว่า ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา สธ.ทำงานหนักในการควบคุมโรคโควิด 19 แต่ก็ยังควบคุมวัณโรคควบคู่ไปด้วยจนประสบความสำเร็จ “Success stories : the journey of Thailand” ได้แก่ 1.ประเทศไทยพ้นออกจากกลุ่มประเทศที่มีปัญหาด้านจำนวนและอัตราป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานสูงที่สุดของโลกได้ในปี 2564  2.ผลักดันนโยบายในการเพิ่มสิทธิประโยชน์ 7 กลุ่มเสี่ยงสูงต่อวัณโรคเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ในปี 2565  3.มีการค้นหาคัดกรองตรวจวินิจฉัยด้วยการ X-ray ปอดและตรวจเสมหะด้วยเทคนิคทางโมเลกุล ระดับอณูชีววิทยา ตลอดจนขึ้นทะเบียนรักษาผู้ป่วยวัณโรค และวัณโรคดื้อยาด้วยสูตรยาระยะสั้นและยาใหม่ๆ ในทุกสถานพยาบาลทั่วประเทศศ  4.ขยายเครือข่ายการตรวจหาการติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาการติดเชื้อ วัณโรคระยะแฝงในกลุ่มผู้สัมผัสครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ 5.พัฒนาโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) การถ่ายภาพรังสีทรวงอก เพื่อคัดกรองเชิงรุกในประชากร กลุ่มเสี่ยง พร้อมนำไปติดตั้งกับระบบเครื่องเอกซเรย์บนรถหน่วยบริการเคลื่อนที่ภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ

6.พัฒนาโปรแกรมระบบฐานข้อมูลการบริหารจัดการผู้ป่วยวัณโรคของประเทศไทย (NTIP) และได้จดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้เป็นฐานข้อมูลหนึ่งเดียวของประเทศไทยกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา 7.พัฒนาความร่วมมือในระดับต่างๆ ทั้งใน รพ.มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาทางการแพทย์ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมมือเร่งรัดคัดกรองวัณโรคเชิงรุกในเรือนจำกระทรวงยุติธรรม ตามโครงการราชทัณฑ์ปันสุขฯ และ 8. พัฒนาความร่วมมือในระดับนานาชาติ ทั้งการทบทวนแผนงานวัณโรคแห่งชาติ การศึกษาวิจัยวัณโรคระยะแฝง การดำเนินงานควบคุมวัณโรคในประชากรข้ามชาติ และพื้นที่ชายแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เตรียมการสำรวจความชุกของวัณโรคระดับชาติของประเทศไทยร่วมกับนานาชาติอีกด้วย

24 มีนาคมของทุกปีวัน “วัณโรคสากล”

นพ.นิติ กล่าวว่า วันวัณโรคสากล (World TB Day) ตรงกับวันที่ 24 มี.ค.ของทุกปี โดยปีนี้กำหนดข้อความรณรงค์ คือ YES! WE CAN END TB หรือ “ยุติวัณโรค เราทำได้” สื่อไปถึงทุกภาคส่วน ว่าวัณโรคยังคงเป็นโรคติดต่อที่เป็นนักฆ่าที่อันตรายที่สุดในโลก โดยแต่ละวันจะมีคนเสียชีวิตจากวัณโรคกว่า 4,000 คน และเกือบ 30,000 คน ล้มป่วยด้วยวัณโรคในทุกๆ วัน ส่วนข้อมูลในประเทศไทย ปี 2566 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการณ์ว่า มีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 111,000 รายต่อปี และเสียชีวิตกว่า 12,000 รายต่อปี เราสามารถค้นหาคัดกรองเข้ามารักษา 7.8 หมื่นคน มีช่องว่างอีก 3 หมื่นคน ที่ต้องมาช่วยกันเพื่อนำคนเข้ามารักษา

เน้นการเข้าถึงกระบวนการรักษา 7 กลุ่มเสี่ยง

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มผู้ป่วยวัณโรคของไทยลดลง โดยพบว่า ปี ค.ศ. 2000 เรามีผู้ป่วยวัณโรค 241 ต่อแสนประชากร แนวโน้มผู้ป่วยลดลงต่อเนื่องจนปี 2021 อยู่ที่ 143 ต่อแสนประชากร และเพิ่มขึ้นในปี 2022 เป็น 155 ต่อแสนประชากร ซึ่งในปี 2035 หรือปี 2578 ที่ต้องการยุติวัณโรคนั้น หากเราลดอัตราป่วย 2% ต่อปี จะยังมีอัตราอยู่ที่ 119 ต่อแสนประชากร ดังนั้นเราต้องพยายามลดอัตราป่วยลง 5% ต่อปี จะทำให้ปี 2578 เรามีอัตราป่วยเหลือ 80 ต่อแสนประชากร

โดยต้องพยายามเน้นการเข้าถึงเข้ากระบวนการรักษาใน 7 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่

1.ผู้สัมผัสผู้ป่วยหรือคนร่วมบ้าน ซึ่งเราพบว่าคนร่วมบ้านใกล้ชิดมีโอกาสเป็น 20% ถ้าพาญาติใกล้ชิดมาตรวจค้นหาความเสี่ยง โอกาสแพร่กระจายก็น้อยลง  2.ผู้ต้องขังในเรือนจำ มี 3.5 แสนคน เราจึงดำเนินการอย่างโครงการราชทัณฑ์ปันสุขในการค้นหาคัดกรอง   3.บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข  4.ผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น เอชไอวี 5.8 แสนคน คนทานยากดภูมิต้านทาน อย่างผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ ก็น่าจะมีประมาณ 1 พันรายต่อปี  5.ผู้ป่วยเบาหวาน  6.ผู้สูงอายุเกิน 65 ปี มีโอกาสเป็นวัณโรคระยะแฝงในร่างกาย และ 7.แรงงานข้ามชาติต่างด้าว  โดย 4 กลุ่มแรกต้องเร่งค้นหากลุ่มนี้ เราอาจจะได้ผู้ป่วยเข้ามาเพิ่ม 1 หมื่นคนต่อปี

 

"ทั้งหมดนี้เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งประเทศไทยยังติดเรื่องนี้อยู่ ก็จะร่วมมือกันทุกภาคส่วนดำเนินการเพื่อยุติปัญหาวัณโรคให้ได้ในปี 2578 โดยเน้นการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก การวินิจฉัยรักษาอย่างรวดเร็ว ปรับเปลี่ยนสูตรยาตามแนวทางองค์การอนามัยโลก ฯลฯ เพื่อลดอัตราป่วยตายวัณโรค สู่เป้าหมาย เมืองไทยปลอดวัณโรคเพื่อโลกปลอดวัณโรค" นพ.นิติกล่าว

 

ศ.เกียรติคุณ นพ.อรรถ กล่าวว่า สมาคมปราบวัณโรคฯ สนับสนุนร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุข และองค์กรอื่นๆ ที่มีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกันในการรักษา ควบคุม ป้องกัน และกำจัดวัณโรคให้หมดไป โดยสมาคมปราบวัณโรคฯ มีวิธีการปฏิบัติคือ 1.ส่งเสริมและสนับสนุนกิจการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยวัณโรค 2.ดำเนินการและร่วมมือในด้านสาธารณสุข เพื่อป้องกันและควบคุมวัณโรค 3.ดำเนินการและร่วมมือในการวิจัยเรื่องวัณโรค และเผยแพร่ความรู้เรื่องวัณโรค ให้แก่ กลุ่มสหวิชาชีพ ต่างๆ 4.ดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ การสุขศึกษา ความรอบรู้เรื่องวัณโรคให้แก่ประชาชนปฏิบัติการอื่นๆ อันจะพึงบังเกิดคุณประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศชาติ ต่อไป

วัณโรค โรคติดต่อทางเดินหายใจ แร่เชื้อจากการไอ จาม พูดคุย

ทั้งนี้ วัณโรคเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ ที่แพร่เชื้อจากผู้ป่วยจากการไอ จาม พูดคุย คนที่ได้รับเชื้อจะมีโอกาสป่วยเป็นวัณโรค เมื่อป่วยก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วย และครอบครัว แต่เป็นโรคที่ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะสามารถรักษาหายได้ โดยกินยาอย่างต่อเนื่องตามแพทย์สั่ง 6 เดือน โดยต้องรีบตรวจหาหรือวินิจฉัยให้เร็ว เมื่อมีอาการผิดปกติหรือเมื่อเรารู้ว่าเป็นผู้สัมผัสร่วมบ้าน ผู้สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยวัณโรค ให้รีบตรวจหาวัณโรคให้เร็วที่สุด ที่ รพ.หรือสถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อเข้าสู่กระบวนการการรักษาตามมาตรฐาน วัณโรครักษาหายได้ ลดการแพร่กระจายเชื้อไปสู่คนอื่น และมีทัศนคติที่ดี ไม่แบ่งแยกไม่ลดคุณค่า ไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วยวัณโรค

อัปเดตยารักษาวัณโรคสูตรใหม่

ถามถึงความคืบหน้าของยารักษาวัณโรคสูตรใหม่  นพ.ไกรสร โตทับเที่ยง ผอ.กองวัณโรค กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ทั่วโลกมีสูตรยาวัณโรคหลายสูตร ประเทศไทยพยายามติดตามการใช้สูตรยาเดียวกับที่ WHO แนะนำให้ใช้ เมื่อเช้าวันที่ 22 มี.ค. กองวัณโรคเพิ่งจะเจรจา สปสช. เพื่อให้ยอมรับการใช้ยาวัณโรคสูตรใหม่ล่าสุดที่ WHO สนับสนุนรักษาวัณโรคดื้อยาเป็นสิทธิประโยชน์หลักคนไทย ซึ่งอนุกรรมการฯ ก็เห็นชอบในหลักการเพื่อให้คนไทยใช้ยาตัวใหม่นี้ โดย สปสช.จะสนับสนุนงบประมาณในการจัดหาซื้อยา ซึ่งเดิมที่ผ่านมายาตัวใหม่นี้บางส่วน สปสช.จัดซื้อ บางส่วนต้องขอสนับสนุนกองทุนโลกซื้อยามาให้ประเทศไทย แต่ต่อไป สปสช.ก็ดำเนินการใช้งบประมาณจัดซื้อยาได้ โดยเราจะติดตามคืบหน้าทางวิชาการว่าเมื่อไรมีแนวทางใหม่ๆ สูตรยาใหม่ๆ พยายามใช้ยาให้ทันสมัยที่สุด

สำหรับสูตรยาวัณโรคนั้น สำหรับกรณีผู้ป่วยปกติไม่ดื้อยา ใช้ยาสูตรมาตรฐานรักษาประมาณ 6 เดือน กรณีดื้อยาก่อนหน้านี้หลายปีก่อนใช้เราใช้ยาฉีด เวลารักษา 18-20 เดือน ต่อมาสั้นลงมาเหลือ 9-11 เดือน เมื่อมียากินดีกว่ายาฉีด ก็ปรับเหลือยากินใช้เวลา 9-11 เดือน ล่าสุดใช้ยากินอย่างเดียว 6 เดือน ประสิทธิภาพจาก 60-70% ก็ขยับเกือบเป็น 90% โดยผู้ป่วยดื้อยาเราคำนวณว่ามีประมาณปีละ 1 พันคน ก็จะทำแผนเพื่อจัดซื้อยาและเตรียมสำรองไว้กรณีแรงงานต่างด้าว และกลุ่มที่ไร้สิทธิด้วย