ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ดควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการ สปสช. ติดตาม "30 บาทรักษาทุกที่ฯ" จ.ร้อยเอ็ด หลักคิกออฟ 3 เดือน พร้อมรับฟังปัญหา-อุปสรรค หน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ เบื้องต้นพบปัญหาเชื่อมต่อข้อมูล การส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลและคลินิกในบางบริการ 

เมื่อวันที่ 13-14 มี.ค. 2567 นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ประธานกรรมการควบคุมคุณภาพ และมาตรฐานบริการสาธารณสุข (บอร์ดควบคุมฯ) และศ.นพ.ชูศักดิ์ คุปตานนท์ ประธานอนุกรรมการควบคุมคุณภาพ และมาตรฐานบริการสาธารณสุขระดับเขตพื้นที่ (อคม.) พร้อมด้วย นพ.ดุสิต ขำชัยภูมิ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นางวราภรณ์ สุวรรณเวลา รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ นายณรงค์ อาสายุทธ รักษาการผู้อำนวยการ สปสช.เขต 7 ขอนแก่น

ลงพื้นที่ จ.ร้อยเอ็ด 1 ใน 4 จังหวัดนำร่อง “30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” เฟสแรกเพื่อเยี่ยมชมหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) พร้อมรับทราบปัญหาและอุปสรรคการร่วมให้บริการ เพื่อส่งเสริม พัฒนาคุณภาพ และมาตรฐานบริการ โดยมี นพ.สุรเดชช ชวะเดช นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด (สสจ.ร้อยเอ็ด) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมให้ข้อมูล 

สำหรับหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ที่ได้ลงเยี่ยมชม รับฟังปัญหาและอุปสรรคครั้งนี้ ประกอบด้วย คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ชุมชนอบอุ่น ร้านยาชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น คลินิกกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น เป็นต้น 

นพ.สุพรรณ เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อติดตามงาน รับทราบปัญหาและอุปสรรคของคลินิกต่างๆ ในระยะเริ่มต้นโยบายที่คิกออฟเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2567 พบว่าคลินิกที่ได้เยี่ยมชมนั้นมีมาตรฐานและคุณภาพในการให้บริการประชาชนระดับที่ดี ขณะเดียวกันยังพบปัญหาและอุปสรรคอยู่บ้าง โดยเฉพาะความไม่เข้าใจกระบวนการให้หรือรับบริการของประชาชนและหน่วยบริการ รวมถึงการเชื่อมโยงส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล และคลินิกที่จะต้องพูดคุยทำความเข้าใจเพื่อพัฒนาต่อไป

นอกจากนี้จะมีการพูดคุยกับสภาวิชาชีพต่างๆ ให้ช่วยทำความเข้าใจผู้ประกอบวิชาชีพถึงหลักเกณฑ์ วิธีการเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐาน รวมถึงการสื่อสารภายในจังหวัด โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และ สปสช. เขตถึงแนวทางการส่งต่อผู้ป่วยไปยังคลินิก เพราะจากการลงพื้นที่วันนี้ทำให้ทราบปัญหาการไม่ส่งต่อผู้ป่วยให้คลินิกที่เกิดขึ้นในบางบริการ ซึ่งอาจเกิดจากการสื่อสารที่ได้ข้อมูลไม่ถูกต้อง อย่างไรก็ดีจะมีการสรุปภาพรวมนโยบายฯ ทั้งหมดในวันที่ 27 มี.ค. นี้ โดยจะมีการประชุมกรรมการควบคุมฯ เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต่อไป

นพ.สุพรรณ กล่าวต่อว่า นอกจากในครั้งนี้ยังได้มีการประชุมผู้ให้บริการและผู้ที่เกี่ยวข้องตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ฯ โดยได้รับข้อคิดเห็นว่าการพัฒนาระบบเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย เช่นเดียวกับระบบส่งต่อข้อมูล และระบบการเบิกจ่ายที่รวดเร็ว เหมาะสม ขณะที่บางวิชาชีพได้เสนอเรื่องการเพิ่มหรือขยายบางบริการ ส่วนนี้จะให้ สปสช. นำไปหารือร่วมกับสภาวิชาชีพต่างๆ เพื่อหาแนวทางดำเนินการต่อไป 

“นโยบายนี้เพิ่งเริ่มต้นปีนี้เมื่อเดือนมกราคม และครั้งนี้กรรมการควบคุมฯ ได้ลงพื้นที่ติดตามงานในช่วงแรกร่วมกับสภาวิชาชีพต่างๆ เข้ามาดูเรื่องมาตรฐานวิชาชีพนั้นๆ รวมถึงมาตรฐานและบริการ พบว่าอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ดีคณะกรรมการฯ จะมีการขยายการติดตามการดำเนินนโยบายฯ เพิ่มเติมในจังหวัดอื่นๆ ต่อไป” นพ.สุพรรณ ระบุ

นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ ผู้ทรงคุณวุฒิแพทย์แผนไทย คณะกรรมการควบคุมคุณภาพฯ กล่าวว่า สิ่งที่เห็นตรงกันคือการให้บริการประชาชนด้วยความรวดเร็วจะต้องเป็นไปตามคุณภาพและมาตรฐาน ฉะนั้นกรรมการควบคุมคุณภาพฯ จึงต้องลงพื้นที่ติดตาม อย่างไรก็ดีจากการเยี่ยมชมคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมเป็นหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ พบว่าสถานที่ อุปกรณ์ บุคลากร ฯลฯ มีมาตรฐานสูง ขณะเดียวกันก็ต้องดูการเข้ามาใช้บริการของประชาชนควบคู่กันไปด้วย 

ทั้งนั้ในส่วน “เซ็นทรัลแล็บ 101 คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น” ที่ร่วมให้บริการนั้น เบื้องต้นพบว่ามีผู้เข้ารับบริการที่คลินิกเพียง 3 ราย จาก 3 เดือนนับตั้งแต่เริ่มนโยบาย ถือว่าเป็นเกณฑ์ที่ต่ำ สาเหตุเบื้องต้นคาดว่าเกิดจากการสื่อสารระหว่างโรงพยาบาลและผู้ป่วย เพราะการที่ผู้ป่วยจะมารับบริการที่คลินิกเทคนิคการแพทย์ได้นั้นต้องมีใบสั่งจากแพทย์ ซึ่งปัญหานี้จะนำไปวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การแก้ไข 

 “นอกจากนี้ยังมีปัญหาของระบบ เช่น การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลและคลินิกฯ ซึ่งมีบางส่วนที่เป็นจุดอ่อน แต่ก็เป็นโอกาสที่ดีที่ได้มีการลงมาประเมินช่วง 3 เดือนแรก เพื่อนำไปปรับปรุงก่อนจะมีการขยายเฟสทั่วประเทศ” นพ.ณัฐวุฒิ กล่าว 

ด้าน นพ.สุรเดชช กล่าวว่า สิ่งที่ จ.ร้อยเอ็ด จะต้องไปพัฒนาต่อนั้น คือการสร้างความใจให้หน่วยบริการและบุคลากรเรื่องระบบเทคโนโลยี เพราะพบว่าบุคลากรในหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ยังไม่เข้าใจระบบเชื่อมโยงข้อมูล โดย สสจ.ร้อยเอ็ด จะเร่งให้ความรู้และคำแนะนำแก่หน่วยบริการที่จะขึ้นทะเบียนเข้ามา เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้การเชื่อมโยงข้อมูลเป็นประเด็นสำคัญ นอกเหนือเชื่อมข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลแล้ว จะต้องเชื่อมต่อไปถึงหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ด้วย หากประชาชนยินยอมเปิดเผยข้อมูล หน่วยบริการในแต่ละระดับที่เข้าร่วมก็จะดูข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วย (Personal Health Record: PHR) ได้ เช่น ประวัติการรักษา ประวัติแพ้ยา อย่างไรก็ดีกระทรวงสาธารณสุขกำลังจะพัฒนาระบบไอทีให้ง่ายกว่าเดิม ผู้ให้บริการก็จะใช้งานได้ง่ายขึ้น ทำให้การบริการมีประสิทธิภาพ เรื่องนี้เราเห็นอนาคตอยู่แล้วว่าคนที่ได้ประโยชน์คือประชาชน 

ส่วนภาพรวม จ.ร้อยเอ็ด ในนโยบายฯ นี้นั้น วันนี้มีโรงพยาบาลภาครัฐร่วมให้บริการ 20 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 229 แห่ง คลินิกเอกชนที่ร่วมเป็นหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ประมาณ 300 แห่ง จากทั้งหมด 600 ร้อยแห่ง รวมทั้งมีสถานบริการของเทศบาล และโรงพยาบาลค่าย ขณะที่ภาพรวมการใช้บริการตั้งแต่มีการประกาศนำร่อง มีประชาชนเข้ารับบริการตามนโยบายฯ แล้วกว่า 1.7 แสนราย คิดเป็น 3 แสนครั้งในการเข้ารับบริการ 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง