องค์การเภสัชกรรม เปิดเวทีย้อนรอยวิวัฒนาการ กัญชาทางการแพทย์ ด้านรองเลขาธิการ ป.ป.ส.หนุนออก กม.กัญชา ควบคุมสันทนาการ ห่วงหากไม่เป็นไปตามกรอบอนุสัญญาฯ ทำส่งออก "ตำรับยากัญชา" ยาก อดีตประธานบอร์ด อภ.แนะต้องพัฒนาวิธีสกัดและสายพันธุ์รองรับ ด้านอดีตอธิบดีกรมการแพทย์ย้ำต้องใช้การแพทย์เท่านั้น

 

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กทม.  องค์การเภสัชกรรม (อภ.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการการใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ในผู้ป่วยโรคลมชักในเด็ก โดย ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ปี 2562 อภ.ได้ส่งมอบยาจากสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เพื่อนำไปใช้ในคลินิกกัญชานำร่อง 12 แห่ง และพัฒนาสู่การนำไปใช้ในคลินิกกัญชาทางการแพทย์ทั่วประเทศ

 

อภ.ชู4 ผลิตภัณฑ์ยากัญชาทางการแพทย์

 

ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ของ อภ. ประกอบด้วย 1.ซีบาแนค ทีเอชซี แคนนาบิส ออยล์ มีข้อบ่งใช้ในการดูแลรักษาแบบประคับประคองในผู้ป่วยมะเร็ง 2.ซีบาแนค ซีบีดี แคนนาบิส ออยล์ มีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคลมชักที่รักษายาก และโรคลมชักที่ดื้อต่อการรักษา 3.ซีบาแนค ทีเอชซี ต่อ ซีบีดี 1 : 1 แคนนาบิส ออยล์ มีข้อบ่งใช้ในการรักษาภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง และการดูแลรักษาแบบประคับประคอง และ 4.ซีบาแนค ทีเอชซี ฟอร์ท แคนนาบิส ออยล์ เป็นสูตรที่มี THC เข้มข้น 81 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ใช้เสริมในการรักษาแบบประคับประคอง ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด, ปวด, เบื่ออาหาร และนอนไม่หลับ

 

ทั้ง 4 ผลิตภัณฑ์ได้นำไปใช้จริงกับผู้ป่วยตามแนวทางการรักษาที่กรมการแพทย์กำหนด ปรากฎว่ามีผลการรักษาที่ดี โดยหนึ่งในผลการศึกษาเกี่ยวกับการใช้ยาจากสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ที่ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ คือ โครงการศึกษาการใช้ยาจากสารสกัดกัญชาชนิด CBD สูงในการรักษาโรคลมชักชนิดรักษายากในเด็กของประเทศไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมการแพทย์ สธ. สมาคมกุมารประสาท และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยนำผลิตภัณฑ์ซีบาแนค ซีบีดี แคนนาบิส ออยล์ ของ อภ.ไปใช้ในโครงการศึกษาตั้งแต่ปี 2564 - 2566 ทำให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญมีองค์ความรู้เกี่ยวกับกัญชาทางการแพทย์ในการใช้รักษาผู้ป่วยโรคลมชักในเด็ก ซึ่งนับเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาและเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยโรคลมชักในเด็กของประเทศไทย

 

ดร.ภญ.นันทกาญจน์กล่าวว่า สำหรับการประชุมในครั้งนี้ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาของการขับเคลื่อนให้เกิดต้นแบบในการนำคุณประโยชน์ของกัญชาทางการแพทย์และการรักษา แลกเปลี่ยนความรู้และขยายผลองค์ความรู้ในวงกว้าง เพื่อให้สามารถนำคุณประโยชน์ของกัญชามาใช้ทางการแพทย์ได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ อันจะขยายไปสู่    การเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยภายใต้สิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป

ย้อนรอย "กัญชา" สู่ทางการแพทย์

 

ทั้งนี้ ภายในงานมีช่วงเสวนา "วิวัฒนาการความเป็นมาของสารสกัดกัญชาทางการแพทย์" โดย นพ.โสภณ เมฆธน อดีตประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจาก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในช่วงนั้น ให้เป็นประธานขับเคลื่อนการใช้กัญชาทางการแพทย์ ในฐานะที่เป็นประธานบอร์ด อภ. ตนจึงมีการตั้งคณะกรรมการดำเนินงาน 4 ชุด คือ 1.การปลูก ซึ่งต้องพัฒนาสายพันธุ์ให้ได้ CBD เด่นที่จะมาใช้ในการรักษา เพราะบ้านเราจะได้ THC เด่น   2.การสกัด ซึ่ง 2 ส่วนนี้ให้ อภ.รับผิดชอบ  3.การนำมาใช้ในการรักษาโรคต่างๆ เช่น ลมชัก แก้ปวด อาเจียนจากเคมีบำบัด เป็นต้น ซึ่งมีทั้งที่มีข้อมูลชัดว่าใช้ได้ น่าจะใช้ได้ และอาจจะใช้ได้ เช่น มะเร็ง เป็นต้น ที่ต้องไปศึกษาวิจัย โดยกรมการแพทย์รับหน้าที่เรื่องนี้ และเรื่องกฎหมายที่มี อย.และ ป.ป.ส.ร่วมดำเนินการ ในเรื่องของการปลูก เช่น ชาวบ้านปลูกได้หรือไม่อย่างไร และการนำไปใช้ เป็นต้น สำหรับการขับเคลื่อนมีการไปศึกษาดูงานเพื่อนำมาปรับใช้ใกนารดำเนินงาน โดยไปทั้งเนเธอร์แลนด์ เพื่อดูวิธีการปลูกแบบอินดอร์ การใช้เพื่อแก้ปวด แบบไอระเหย ซึ่งที่นี่จะมีการใช้ในลักษณะสันทนาการ , อิสราเอลที่มีวิธีการปลูกแบบกรีนเฮาส์ ซึ่งใช้เฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น และมีการวิจัยและทดลองที่เข้มแข็ง และสหรัฐอเมริกาเพื่อดูการปลูกแบบเอาท์ดอร์

 

"เมื่อกฎหมายคลายล็อกก็เริ่มมีการดำเนินการปลูก และเร่งผลิตให้ได้เร็วที่สุด โดยปลูกต้นแรกที่ถูกต้องตามกฎหมายวันที่ 27 ก.พ. 2562 ปลูกแบบอินดอร์โดยไม่ใช้ดินเลย ไม่นานก็ได้ออกมา ซึ่งครั้งนั้นเรานำเมล็ดเข้ามา เพราะจะได้สารสกัดอะไรมากน้อยจะอยู่ที่สายพันธุ์ เราได้ผลิตภัณฑ์ออกมาสำเร็จ และมอบให้ สธ.เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2562 โดยยืนยันว่าใช้เฉพาะทางการแพทย์ ไม่มีเพื่อสันทนาการ" นพ.โสภณกล่าว

 

อดีตผอ.อภ.เน้นผลิตเมดิคัล เกรด

 

นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ อดีต ผอ.อภ. กล่าวว่า ตนมองว่ากัญชาทางการแพทย์เกิดประโยชน์มากกว่าเหล้า แต่การนำมาใช้ต้องกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก จึงเริ่มตั้งแต่มีการเอาของกลางจะนำมาใช้ในการผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ แต่ไม่ได้นำมาผลิต เนื่องจากผลการตรวจวิเคราะห์ออกมาไม่ผ่าน เพราะมีการปนเปื้อนสารโลหะหนักและยาฆ่าแมลง และมีเชื้อรา ซึ่งการใช้กัญชาไม่ได้มาตรฐานและใต้ดินจะเจอแบบนี้และเกิดโทษมากกว่า ดังนั้น ของกลางจึงใช้ไม่ได้ จึงต้องปลูกให้ได้มาตรฐานระดับเมดิคัล เกรดเท่านั้น เราดำเนินการ 3 เฟส คือ ระดับวิจัยและพัฒนา ระดับกึ่งอุตสาหกรรม (Pilot Phase) และระดับอุตสาหกรรม (Industrial Phase) โดยมีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานในการปฏิบัติที่ดีในด้านต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ การเพาะปลูก จนถึงปลายน้ำคือผลิตภัณฑ์ถึงมือผู้ป่วย ประกอบด้วย 7 G ดังนี้

 

GAP : Good Agricultural Practices หลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติด้านการเพาะปลูกที่ดี GLP : Good Laboratory Practices หลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติด้านห้องปฏิบัติการที่ดี GMP: Good Manufacturing Practice หลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิตยาที่ดี GCP : Good Clinical Practices หลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติด้านการวิจัยทางคลินิกที่ดี GDP : Good Distribution Practices หลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติด้านการจัดส่งยาที่ดี GSP : Good Security Practices หลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติด้านความปลอดภัยที่ดี และ GIP : Good Information Practices หลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติข้อมูลสารสนเทศที่ดี

 

"การดำเนินงานเรามีการพัฒนาต่อเนื่อง จนได้ผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ที่สามารถเบิกจ่ายในสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" นพ.วิฑูรย์กล่าว

 

ออกแนวเวชปฏิบัติการใช้กัญชาทางการแพทย์

 

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เรายึดว่าใช้กัญชาทางการแพทย์เท่านั้น เรามีการทำข้อแนะนำการใช้กัญชาทางการแพทย์ ดำเนินการด้วยเวชปฏิบัติอิงหลักฐาน "การแพทย์เชิงประจักษ์" จุดมุ่งหมายเพื่อทำการวินิจฉัยและตัดสินใจให้ดีที่สุด ประกอบด้วย หลักฐานจากการศึกษาวิจัยที่เชื่อถือ ประสบการณ์ทางคลินกจากผู้เชี่ยวชาญ และความคาดหวังของผู้ป่วยและคุณค่าที่จะได้รับ โดยการใช้กัญชาทางการแพทญืเราบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ 1.ได้ประโยชน์ ได้แก่ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด โรคลมชักรักษายากในเด็ก โรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง อาการปวดประสาทส่วนกลางที่รักษาด้วยวิธีต่างๆ ไม่ได้ผล และผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง ซึ่งเราเน้นว่าเป็นตัเลือกสุดท้าย

 

2.น่าจะได้ประโยชน์ ได้แก่ โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรคปลอกประสาทอักเสบ (ที่ไม่ใช่ปลอกประสาทเสื่อมแข็ง) โรควิตกกังวล และโรคอื่นๆ และ 3.อาจจะได้ประโยชน์ คือ การรักษามะเร็งต่างๆ โรคอื่นๆ โดยต้องศึกษาในหลอดทดลอง สัตว์ทดลอง และในคน

 

 

นายมานะ ศิริพิทยาวัฒน์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาในต่างประเทศมีงานวิจัยที่สามารถนำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้ ส่วนในประเทศไทยกำหนดให้เป็นยาเสพติด ซึ่งการดำเนินการปลดล็อกให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2559 มีการยกร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) ซึ่งมีการประกาศบังคับใช้ในปี 2562 ซึ่งตนมองว่าฉบับนี้ถือว่าดีที่สุด และเป็นฉบับเริ่มต้นให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ที่มีความชัดเจนมาก เพราะค่อยๆ ดำเนินการปลดล็อกให้ใช้กัญชาทางการแพทย์เป็นลำดับเป็นขั้นเป็นตอน ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นค่อนข้างน้อย ซึ่งไม่เหมือนช่วงหลังที่มีการปลดล็อกกว้างขวางทันที ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา

 

"จากที่ทำกันมายังไม่เห็นตรงไหนว่า กัญชาของเราจะเกี่ยวข้องกับสันทนาการเลย เราค่อยๆ เปิดช่องจากสิ่งที่ถูกต้อง เราปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติด ค.ศ. 1961 การจะเดินหน้าต่อไปไม่มีปัญหาเลยในส่วนตรงนี้ แต่จะทำอย่างไรหลังจากที่ปี 2564 เริ่มมีการดำเนินการไม่ตรงเจตนาที่เราทำในครั้งแรก จึงมองว่า กัญชาจะไปทางไหน จะใช้ประโยชน์ทางการแพทย์วิทยาศาสตร์เท่านั้นตามอนุสัญญาหรือไม่  การผลิตของ อภ.และใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ได้จริง ต้องการจำหน่ายไปต่างประเทศหรือใช้ในประเทศเท่านั้น" นายมานะกล่าว

 

ห่วงติดกรอบอนุสัญญาฯ 

 

นายมานะกล่าวว่า เรื่องนี้มีนัยสำคัญ เพราะจะเกี่ยวกับอนุสัญญาฯ เพราะต่างประเทศมองว่า กัญชาคือยาเสพติดตามอนุสัญญาฯ ถ้าเขาจะรับกัญชา วัตถุดิบ สารสกัดหรือผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับกัญชาออกไป ถ้าบอกว่าเราทำไม่ถูกต้องตามอนุสัญญาฯ จะขายตามประเทศต่างๆ ได้หรือไม่ จึงต้องทำตรงนี้ให้ชัดเจน ซึ่งการขายในประเทศไม่ได้ห้าม ซึ่งต้องดูว่า กฎหมายเราเกินกว่าอนุสัญญาไปหรือไม่ ตัวช่อดอก การปลูก สารสกัดจากการสังเคราะห์ จะอยู่ในอนุสัญญา ส่วนเรื่องการใช้ประโยชน์ ปัจจุบันมีการสนับสนุนการใช้ทั้งการแพทย์แผนไทยและการแพทย์แผนปัจจุบัน

หนุนออก กม.คุมสันทนาการ ปิดช่องกัญชาข้ามแดน

 

นายมานะกล่าวว่า มาตรการที่จะต้องเสริมเข้าไป คือ การเสนอ กม.กัญชาเข้าไปใหม่ จะทำอย่างไรให้กฎหมายที่จะออกมาควบคุมได้อย่างเหมาะสมเรื่องใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และควบคุมการสันทนาการ เพราะทุกวันนี้ยังมีอยู่ในร้านที่ได้รับอนุญาต ไม่รู้ว่าใช้ทางการแพทย์หรือไม่ อีกอย่างคือกัญชาที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งทุกวันนี้จะไม่ค่อยได้ยินข่าวการจับกุม แต่ ป.ป.ส.มีการจับตาดูอยู่ ซึ่งเมื่อไม่ใช่ยาเสพติดก็ต้องไปใช้กฎหมายศุลกากร ฯลฯ ก่อน

 

นพ.โสภณกล่าวว่า การเดินหน้าต่อไปจะต้องคำนึงเรื่องของการพัฒนาและวิธีการสกัด ซึ่งการสกัดที่ดีเป็นเรื่องสำคัญ อย่างประเทศจีนมีการสกัดที่ดีมาก เขาเก็บกัญชาตั้งแต่ดอกยังตูม โดยเก็บมาทั้งใบ แล้วเอาไปสกัด รวมถึงเรายังต้องพัฒนาสายพันธุ์ให้ได้สารสกัด CBD ที่ต้องการ โดยต้องเน้นเรื่องของการใช้เทคโนโลยีเข้ามาส่งเสริมพัฒนา