ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.จัดโครงการ Workation ช่วยฮีลใจแพทย์ รับอาสาสมัคร Volunteer Doctor หมุนเวียนไป "เกาะหลีเป๊ะ" คนละ 1-2 สัปดาห์ เที่ยวด้วยทำงานด้วย ช่วยดูแลประชาชน-นักท่องเที่ยว พาครอบครัวไปด้วยได้

เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 67  นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงภายหลังประชุมผู้บริหารระดับสูง สธ. ครั้งที่ 3/2567 ว่า วันนี้ได้มีการติดตามความก้าวหน้าการขับเคลื่อนนโยบาย สธ.ไตรมาส 2 (Mid-Year Success 2024) โดยในประเด็นด้านการท่องเที่ยวปลอดภัย วันที่ 9-10  มี.ค.นี้ ตนพร้อมผู้บริหาร สธ.จะลงพื้นที่ เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ติดตามการพัฒนาศักยภาพของสถานบริการปฐมภูมิ ระบบส่งต่อรักษา การรับอาสาสมัคร Volunteer Doctor เพื่อรองรับการให้บริการประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา เนื่องจากเกาะหลีเป๊ะ เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญอีกหนึ่งแห่งของประเทศ มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค

"อาสาสมัคร Volunteer Doctor คือ พื้นที่ห่างไกลพื้นที่เฉพาะเราขาดแคลนแพทย์ที่จะเข้าไปดูแลประจำ ปลัด สธ.จึงเสนอโครงการนี้ขึ้นมาและแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง ให้แพทย์ที่ประสงค์อาสาเข้าไปพื้นที่เฉพาะ เช่น เกาะหลีเป๊ะ พักผ่อนและทำงาน ให้เป็น Vacation และ Work ไปด้วย 1-2 สัปดาห์ มีแพทย์สนใจเยอะมาก ลงทะเบียนเพื่อไปอยู่ตรงนั้นตามที่สะดวก แล้วหมุนเวียนกันมา เพื่อลดการขาดแคลนแพทย์ในพื้นที่เฉพาะ ดูแลพี่น้องประชาชนได้ ก็จะลงพื้นที่ไปติดตามดู ตรงนี้ถือเป็น Workation ไปทำงานด้วย เที่ยวพักผ่อนด้วย ให้สิทธิพาครอบครัวไปพักผ่อนด้วย เป็นการส่งเสริมให้ไปทำงานพื้นที่ตรงนั้นและได้พักผ่อน ซึ่งแพทย์ชอบมาก" นพ.ชลน่านกล่าว

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พื้นที่เหล่านี้มีความจำเป็นที่จะต้องมีบุคลากรที่พร้อมที่จะดูแลนักท่องเที่ยว เพราะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สนใจมาก เป็นการสร้างความมั่นคงปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวตามนโยบาย อย่างเกาะหลีเป๊ะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวจำนวนมาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีก็ให้ความสำคัญ เพราะภาวะเศรษฐกิจที่เงินไม่เชข้าสู่ระบบเลย เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวจะหาได้ง่ายที่สุด จึงพยายามสู้เรื่องนี้ สธ.ก็ส่งเสริมนโยบายนี้เป็นการท่องเที่ยวปลอดภัยขับเคลื่อนผ่าน 4 มาตรการหลัก คือ  1.ยกระดับเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพ  2. ยกระดับระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน/ระบบสาธารณสุขฉุกเฉิน  3. ยกระดับเรื่องที่พักและอาหารปลอดภัย และ 4. ยกระดับสถานพยาบาลในพื้นที่ท่องเที่ยว โดยนำร่องใน 31 จังหวัด ครอบคลุม 12 เขตสุขภาพ

ขณะนี้มีโรงแรมประเภท 4 ผ่านมาตรฐาน Green Health Hotel 17.24% แหล่งท่องเที่ยวผ่านมาตรฐาน Green Health Attraction 2 แห่ง อาหารริมบาทวิถีผ่านมาตรฐาน SAN Plus (Street Food Good Health) ระดับดีขึ้นไป 30 แห่ง สถานที่จำน่ายอาหารผ่านมาตรฐาน SAN (Clean Food Good Taste) 25,350 แห่ง และทุกอำเภอมีร้านเมนูชูสุขภาพ โดยวันที่ 24 มี.ค. 2567 จะมีการจัดกิจกรรม Safety Phuket Island Sandbox ขึ้นที่ จ.ภูเก็ต 

ถามว่าโครงการ Volunteer Doctor ที่เกาะหลีเป๊ะ เริ่มดำเนินการตั้งแต่เมื่อไร และจะขยายพื้นที่อื่นด้วยหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เป็นโครงการที่ทำมาภายใต้ความสอดคล้องเหมาะสมของพื้นที่ ที่พื้นที่คิดแก้ปัญหากันเอง ซึ่ง สธ.ได้เห็นก็น่าจะส่งเสริมในภาวะขาดแคลนแพทย์ที่จำเป็นเฉพาะพื้นที่ ใช้ความโดดเด่นสถานที่ท่องเที่ยว เรื่องการได้พักผ่อน การเปลี่ยนสถานที่ของแพทย์ลงไปทำงานก็เลยเกิดโครงการนี้ขึ้นมา ส่วนพื้นที่ที่จะขยายจะมีตรงไหนบ้างก็กำลังดูพื้นที่ เช่น แม่ฮ่องสอน ตาก เป็นต้น

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. กล่าวว่า เราดำเนินงานอย่างเป็นทางการในระบบตั้งแต่มีนโยบาย ซึ่งก่อนหน้านี้จะเดิมต่างคนต่างทำ เราก็จัดระบบให้เข้ารูปเข้ารอย มีการนำร่องที่เกาะหลีเป๊ะ โดยมีระบบให้ลงทะเบียนเพื่อไปทำงานและพักผ่อน 1-2 สัปดาห์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากในพื้นที่และบุคลากรด้านการท่องเที่ยวด้วย เท่าที่ดำเนินการมาได้รับความสนใจอย่างมาก ขนาดยังไม่ค่อยเปิดแพทย์ก็มาสมัครกันมาก มีการลงทะเบียนแบบสมัครใจหมุนเวียนกันไปดูแลยาวตลอดทั้งปี นอกจากนี้ จะมีการขยายโครงการนี้ไปยังพื้นที่เฉพาะต่างๆ ด้วย เช่น แม่ฮ่องสอน หรือ อ.อุ้มผาง จ.ตาก 

ถามว่าจะมีการเพิ่มค่าตอบแทนต่างๆ เป็นพิเศษด้วยหรือไม่  นพ.ชลน่านกล่าวว่า ค่าตอบแทนพิเศษจะเป็นไปตามลักษณะงานที่ทำอยู่แล้ว และให้สิทธิได้พักผ่อน มีงานที่จะต้องดูแล

นพ.โอภาสกล่าวว่า คนที่มาสมัครไม่ได้สนใจเรื่องค่าตอบแทนอะไรมาก แต่เขาได้มาท่องเที่ยวพักผ่อน ซึ่งเรามีที่พักฟรี อาหารฟรี พาครอบครัวมาได้ และไม่นับว่าเป็นวันลา อย่างแพทย์เอกชนก็มีมาสมัคร 

ถามถึงที่ผ่านมามีข่าวทั้งทำร้ายนักท่องเที่ยวและต่างชาติทำร้ายคนไทย จะบูรณาการเรื่องพื้นที่ท่องเที่ยวปลอดภัยอย่างไร  นพ.ชลน่านกล่าวว่า ต้องอาศัยบูรณาการทุกภาคส่วน โดยเฉพาะความปลอดภัยด้านมิติร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สิน ส่วนงานใดที่เกี่ยวข้องก็ต้องให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน ของเราทำมิติสุขภาพ ทุกอย่างต้องผสมผสานกัน ไม่ทำเป็นส่วนๆ โดยสถานที่ที่จะเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวปลอดภัยด้านสุขภาพ ก็ต้องยกระดับ 4 ด้าน เรามีระบบประเมินวัดทั้งหมดถึงจะประกาศ ส่วนด้านอาชญากรรมจะเป็นมิติคสามเกี่ยวข้องของหน่วยงานอื่น