ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิต ส่งทีม MCATT ประสานงานเขตสุขภาพที่ 5 วางแผนดูแลจิตใจผู้ประสบภัยและผู้ได้รับผลกระทบในกลุ่มเสี่ยงจากโรงงานพลุระเบิด เตรียมมาตรฐานการเยียวยาเพื่อเฝ้าระวังภาวะเครียดฉับพลัน-ภาวะซึมเศร้า 

วันนี้ (18 มกราคม 2567) จากการเกิดเหตุโรงงานผลิตพลุระเบิด ณ ตำบลศาลาขาว อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อช่วงเย็นวันที่ 17 มกราคม ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสจำนวนมากนั้น กรมสุขภาพจิตได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุขให้ร่วมดำเนินการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบสถานการณ์และดำเนินการจัดทำแผนเพื่อช่วยเหลือและเยียวยาจิตใจผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวโดยทันที

นพ.พงศ์เกษม  ไข่มุกด์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ตามที่นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายกระทรวงสาธารณสุขได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์ในจังหวัดสุพรรณบุรี และให้กรมสุขภาพจิตเตรียมความพร้อมเพื่อส่งทีม MCATT (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team: MCATT) ประสานงานร่วมกับหน่วยงานพื้นที่เขตสุขภาพที่ 5 ดูแลประชาชนในพื้นที่ประสบภัยอย่างเต็มที่ทันที มีการสนับสนุนทีมงานเยียวยาจิตใจจากภาวะสุขภาพจิต ร่วมกับทีมช่วยเหลือจากสาธารณสุขจังหวัดสุพรรรณบุรี และทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (MCATT) ในพื้นที่รับผิดชอบเข้าประจำการ ณ วัดโรงช้างสวนแตง อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรีทันที เพื่อประเมินสถานการณ์เบื้องต้น และทีม MCATT ได้มีการเตรียมความพร้อมของบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและทรัพยากรด้านต่างๆ เพื่อการวางแผนดูแลจิตใจผู้ประสบภัยและผู้ได้รับผลกระทบในกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ตามมาตรฐานการเยียวยาเพื่อเฝ้าระวังภาวะเครียดฉับพลัน (Acute Stress Disorder: ASD) ภาวะซึมเศร้า (Depression) และติดตามต่อเนื่องผ่านระบบฐานข้อมูล CMS (Crisis Mental Health Surveillance System) เพื่อให้มั่นใจว่าได้รับการดูแลเยียวยาจิตใจตามมาตรฐานอย่างต่อเนื่องภายใต้การสนับสนุนทรัพยากรด้านต่างๆ จากเครือข่ายสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด

นพ.ธิติ  แสวงธรรม รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้ประสานทีมงานเพื่อเตรียมการดูแลจิตใจผู้ได้รับผลกระทบทุกกลุ่ม ทั้งผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ ญาติผู้เสียชีวิต ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และผู้ที่เห็นเหตุการณ์ที่อาศัยในพื้นที่ เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวมีจำนวนผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยได้ประสานงานให้สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์เป็นหน่วยงานหลักในการลงปฏิบัติหน้าที่พื้นที่ประสบเหตุ รายงานสถานการณ์และติดตามผลการเยียวยาจิตใจในระยะ 1 สัปดาห์แรกทุกวันอย่างใกล้ชิด ซึ่งขณะนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาวะเครียด จากการเผชิญเหตุการณ์รุนแรงโดยไม่ตั้งตัว เสี่ยงต่อภาวะตื่นตระหนก วิตกกังวล ความหวาดกลัว ความเครียด และภาวะซึมเศร้า รวมถึงความโศกเศร้าจากการสูญเสียผู้ใกล้ชิดที่เกิดขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจและต้องเฝ้าระวังในระยะต่อไป

ทั้งนี้หากพบว่า ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบ หรือผู้ใกล้ชิดกับเหตุการณ์มีความเครียด สามารถสำรวจสุขภาพใจด้วยแอปพลิเคชัน Mental Health Check In หรือปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อดูแลที่เหมาะสมต่อไป