ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย เผยการผ่าตัดแปลงเพศ เป็นสิทธิในการตัดสินใจของแต่ละคน หากกระทบจิตใจรัฐบาลควรดูแล ส่วนข้อกังวลเรื่องงบประมาณ มองว่า การให้สิทธิดูแลกลุ่ม LGBTQ+ ของไทยถือเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าที่สุดในเอเชีย

 

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ศ.คลินิก นพ.อภิรักษ์ ช่วงสุวนิช นายกสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เตรียมทำแพคเกจเพิ่มเติมสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ ทั้งส่งเสริมสุขภาพ รักษาและฟื้นฟู ซึ่งการผ่าตัดแปลงเพศ เป็นหนึ่งในสิทธิประโยชน์ของกลุ่มบัตรทองอยู่แล้ว แต่ต้องมีข้อบ่งชี้ ว่า  ตนมองว่านโยบายนี้เป็นการยอมรับว่า เราให้สิทธิในการตัดสินใจของแต่ละคนว่าอยากจะใช้ชีวิตอย่างไร ซึ่งหากเรื่องนี้กระทบต่อจิตใจของคนนั้นๆจริงๆ  เรื่องนี้ก็สมควรเป็นเรื่องที่รัฐควรดูแล แต่ก็ต้องดูตามความเหมาะสม

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่า ควรนำงบฯ ไปใช้เพื่อการรักษาผู้ป่วยมากกว่า ศ.คลินิก นพ.อภิรักษ์ กล่าวว่า อันนี้ก็เป็นอีกมุมมองหนึ่ง แต่การให้สิทธิในการดูแลประชาชนเรื่องความหลากหลายทางเพศ ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชีย เพราะส่วนใหญ่เรื่องนี้จะเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย

การผ่าตัดแปลงเพศมีระเบียบโดยแพทยสภากำหนดเกณฑ์ต่างๆ

นายกสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งฯ กล่าวอีกว่า  สำหรับการผ่าตัดอวัยวะที่แสดงเพศหญิงและชายในประเทศไทยจะมีระเบียบโดยแพทยสภา กำหนดว่าจะต้องมีการประเมินทางจิตแพทย์ร่วมกับแพทย์สหสาขาทั้งจิตแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ แพทย์ผ่าตัด แพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ เพื่อดูว่ามีความพร้อมในการใช้ชีวิตด้วยเพศตรงข้ามได้หรือไม่ จากนั้นจะต้องเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ผู้ที่จะทำการผ่าตัด เพื่อกำหนดแผนการผ่าตัดและการใช้ฮอร์โมนเพศอย่างน้อย 2 ปี ดังนั้นผู้ที่ใช้ฮอร์โมนด้วยตนเองมาก่อนโดยไม่ได้อยู่ในแผนการผ่าตัดจะต้องเข้ารับการใช้ฮอร์โมนจากแพทย์อีกครั้งเป็นเวลา 2 ปี จึงจะทำการผ่าตัดส่วนที่เป็นอวัยวะเพศได้ เรื่องนี้จะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบเพราะผ่าตัดไปแล้วจะไม่สามารถผ่าตัดกลับมาเป็นเช่นเดิมได้

ย้ำ! การผ่าตัดทุกอย่างมีโอกาสแทรกซ้อนได้

อย่างไรก็ตาม  การผ่าตัดทุกอย่างมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ แต่ถ้าทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็จะลดโอกาสเสี่ยงได้มาก ซึ่งการผ่าตัดจากเพศหญิงเป็นเพศชาย จะมีความซับซ้อนมากกว่าการผ่าตัดจากเพศชายเป็นเพศหญิง ที่จะต้องมีการตัดมดลูกและรังไข่ เพราะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของผลิตฮอร์โมน ฉะนั้น การผ่าตัดแปลงเพศถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และสำคัญของคนๆ หนึ่ง จะต้องเปลี่ยนจากจิตใจ อวัยวะ การใช้ชีวิต สิ่งแวดล้อม ครอบครัวด้วย จึงไม่ใช่เรื่องง่ายในการตัดสินใจผ่าตัดแปลงเพศ

 ภาพจากเว็บไซต์สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย

รพ.รัฐผ่าตัดแปลงเพศได้ ทำมาแล้วกว่า 20 ปี

เมื่อถามว่าในโรงพยาบาลของรัฐมีการผ่าตัดแปลงเพศหรือไม่ ศ.คลินิก นพ.อภิรักษ์กล่าวว่า มีอยู่จริง ซึ่งเริ่มให้บริการมากว่า 20 ปีแล้ว แต่ระเบียบด้านการประเมินโดยจิตแพทย์เพิ่งจะเริ่มใช้เมื่อช่วง 10 ปีหลัง โดย รพ. ที่ให้บริการผ่าตัดแปลงเพศส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนแพทย์ที่มีการฝึกอบรมสายงานด้านการศัลยกรรมตกแต่ง ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ ด้านระบบทางเดินปัสสาวะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดอยู่แล้ว ซึ่งจะมีอยู่ประมาณ 10 แห่ง ได้แก่ รพ.ศิริราช รพ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รพ.รามาธิบดี รพ.พระมงกุฎเกล้า รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ รพ.สงขลานครินทร์ ส่วน รพ.ในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข ก็เริ่มมีบริการใน รพ.ศูนย์ใหญ่ๆ แต่ยังมีไม่มาก เช่น รพ.เลิดสิน

ผ่าตัดแปลงเพศ ค่าใช้จ่ายรพ.รัฐต่ำกว่าเอกชน 2-3 เท่าตัว

เมื่อถามถึงค่าใช้จ่ายในผ่าตัดแปลงเพศทั้งใน รพ.ของรัฐ และรพ.เอกชน ศ.คลินิก นพ.อภิรักษ์กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายของการผ่าตัดแปลงเพศเฉพาะการผ่าตัดนั้น หากเป็นการเปลี่ยนแปลงจากเพศชายเป็นเพศหญิงที่มีความซับซ้อนน้อย ค่าใช้จ่ายของ รพ.เอกชนจะอยู่เริ่มต้นราวๆ 300,000 บาทขึ้นไป ส่วนการเปลี่ยนจากเพศหญิงเป็นเพศชาย มีความยุ่งยากซับซ้อนกว่ามาก ค่าใช้จ่ายจึงสูงกว่าเป็นเท่าตัวอาจจะถึงหลักล้านบาท

“ที่เราเห็นว่าหลายคนไปผ่าตัดแปลงเพศใน รพ.เอกชน เพราะว่าคิวของ รพ.รัฐ ค่อนข้างเยอะต้องใช้เวลานานมากกว่าจะถึงคิวการพบแพทย์เพื่อวางแผนการผ่าตัด แต่ในเรื่องของค่าใช้จ่ายการผ่าตัดแปลงเพศใน รพ.รัฐ จะต่ำกว่า รพ.เอกชน ประมาณ 2 – 3  เท่าตัว ก็จะอยู่ราวๆ หลักแสนปลาย” ศ.คลินิก นพ.อภิรักษ์กล่าว