ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

 

"หมอชลน่าน" เผยบอร์ดนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ตั้ง "หมอเลี๊ยบ" เลขาฯ พร้อมทำกฎหมายแยกตัวออกจาก ก.พ. ในปี 68 ขณะเดียวกันท้วงกรณีถูกเข้าใจผิดเรื่องส่งเสริมการมีลูก 

เมื่อวันที่ 13 กันยายน ที่ห้องประชุมกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) กระทรวงสาธารณสุข นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมรับฟังการจัดประชุมทำแผนขับเคลื่อนนโยบายด้านสาธารณสุข โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารจากหน่วยงานในสังกัดทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 400 คน

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า  วันนี้มีการเวิร์กช็อปนโยบายที่จะดำเนินการแบ่งออกเป็น 13 กลุ่ม เพื่อเป็นการทำนโยบายนำไปสู่การปฏิบัติ เพื่อพี่น้องประชาชน

"สำหรับการชี้แจงนโยบายจะขออนุญาตเป็นวันที่ 15 กันยายนนี้สำหรับผู้บริหารระดับสูง  แต่วันที่ 22 กันยาจะเป็นการเชิญผู้บริหารระดับสูงและผู้บริหารที่อยู่ในส่วนของปฏิบัติดำเนินการเรื่องนี้ และจะมีกิจกรรมการแข่งขันฟุตบอลเพื่อให้มีพบปะสังสรรค์กันในวันที่ 22 กันยายนนี้โดยจะจองตัวท่านปลัดเอาไว้และจะแถลงนโยบายวันนั้นเลย" นพ.ชลน่าน กล่าว

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า สิ่งที่พวกเราทำสอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรี ซึ่งจากการที่ตนได้เข้าประชุมครม. สิ่งสำคัญต้องเอานโยบายรัฐบาลมาแปลงเป็นนโยบายของกระทรวงและจะต้องมีควิกวินเพื่อประโยชน์ของประชาชน อย่างท่านอดีตรัฐมนตรี อนุทิน ชาญวีรกูล  พูดว่าสั่งงานวันนี้ต้องเสร็จเมื่อวานหมายความว่าได้มีการวางแผนและเตรียมงานไว้หมดแล้ว

สิ่งที่ท่านนายกคาดหวังไว้คือเราเป็นรัฐบาลของประชาชนอะไรที่ตอบสนองพี่น้องประชาชนโดยเร็วที่สุดและไม่ขัดต่อระเบียบราชการเราต้องทำ ยิ่งฝ่ายการเมืองต้องปฏิบัติถูกกฎมายมากๆ เพราะโทษยิ่งหนัก อย่างการยกกระป๋องเบียร์โทษปรับ 50,000 แต่โทษทาง ปปช.จะถูกให้ออกจากทางการเมืองได้เลย เรื่อง กฎระเบียบจึงเป็นสิ่งสำคัญ กฎระเบียบจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก

30 บาทพลัสกับควิกวิน เพื่อประชาชน

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า  สำหรับการยกกระดับ 30 บาท หรือ 30 บาทพลัส  โดยคำว่าโดยคำว่า 30 บาทเป็นเหมือนแบรนด์เหมือนชื่อเท่านั้น เพราะเริ่มตั้งแต่ปี 2545 มีกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติรองรับ โดยชื่อจริงคือหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งชื่อยาว ดังนั้น 30 บาทเป็นชื่อที่พูดและเข้าใจง่าย ซึ่งไม่ได้หมายความว่า จะเก็บเงินแต่อย่างไร 

"หมอเลี๊ยบ" นั่งเลขาฯ คกก.พัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ

"สำหรับ 4 ปี ที่คาดหวังงานนั้น ถ้าผมมีโอกาสอยู่ครบ โดยคาดว่าในปี 2567 คือหนึ่งการดูแลสุขภาพหรือสุขภาวะที่ดีที่มีความสมบูรณ์พร้อมทั้งร่างกายจิตใจ ปัญญาจะต้องเป็นภาพที่จับต้องได้เชื่อมโยงกับทุกมิติของผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบที่ไม่มีการแยกส่วน โดยจะมีองค์กรหนึ่งขึ้นมาที่เรียกว่าคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติขึ้นมารองรับ 

ต้องขอบคุณท่านปลัดที่ช่วยกันทำ ซึ่งจะผลักดันเข้าครม. ครั้งต่อไป ซึ่งจะมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานและจะมี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี  เป็นเลขานุการของคณะกรรมการชุดนี้ และให้นำเสนอคณะทำงานเข้ามา โดยจะมาเชื่อมโยงหน่วยงานต่างๆขับเคลื่อนด้านนโยบาย เป็นกรรมการที่คอยบูรณาการหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง หากเป็นจริงขึ้นมาได้การทำงานหากเป็นจริงขึ้นมาได้การทำงานจะไร้รอยต่อ" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว

100 วันเห็น 1 เขต 1 รพ.แรก

โดยหากทำสำเร็จ จากที่ดูแลเรื่องสุขภาพร้อยละ 70 จะทำให้สามารถเชื่อมข้อมูลทั้งหมดได้ถึง 100% ทั้งงานส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค การรักษาการฟื้นฟู นอกจากนี้ ยังมีเรื่องอื่นๆอีก เช่น อย่าง 100 วันแรกจะเกิดอะไรขึ้น ยกตัวอย่างในกทม .  จะทำยังไงให้เข้าถึงเตียงเข้าถึงการรักษาได้โดยไม่จำเป็นต้องสร้างโรงพยาบาล ต้องทำงานร่วมกันไม่แยกส่วนกัน โดยอาจจะเลือกบางที่ที่จำเป็น เช่นเขตดอนเมืองอาจประกาศเป็นควิกวินหนึ่งเขตหนึ่งโรงพยาบาลแรก 

เตรียมกฎหมายแยกออกจาก ก.พ.ปี 68

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ในเรื่องของการบริหารจัดการบุคลากรมารองรับนั้นจะมีการหารือร่วมกับทางคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) และทางกระทรวงจะมีคณะกรรมการบริหารบุคลากร เพื่อพิจารณา เรื่องกรอบอัตรากำลังขอ เรื่องกรอบอัตรากำลังของตนเอง โดยจะมีกฎหมายเฉพาะ เพื่อนำกระทรวงสาธารณสุขออกจาก ก.พ. เพื่อปลดล็อกข้อผูกมัดที่มีลักษณะเหมือนตัดเสื้อโหลให้ราชการ ซึ่งการจ้างแพทย์พยาบาล เภสัชกร เรามีศักยภาพการจ้างงานเองได้ หากสามารถออกกฎหมายรองรับภายในปี 2568 จะช่วยให้ปลดล็อกเรื่องนี้ได้ 

 

"ที่ผ่านมาเวลามีการจำกัดเรื่องอัตรากำลังของราชการ  ซึ่งจะเป็นภาพรวมแต่จริงๆในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขยังจำเป็นและต้องการบุคลากรดังนั้นการปลดล็อกตรงนี้จะช่วยได้" นพ.ชลน่านกล่าว 

 

ท้วงกรณีถูกเข้าใจผิดเรื่องส่งเสริมการมีลูก

นพ.ชลน่าน ยังกล่าวถึงกรณีถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องส่งเสริมการมีบุตร ว่า  เรื่องที่เมื่อวานตนถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก อย่างเรื่องส่งเสริมการมีบุตร เพราะข้อมูลคือเรามีปัญหาโครงสร้างประชากร อัตราการเกิดน้อยกว่าอัตราการตาย  เป็นปัญหาเหมือนกันของทุกประเทศ ต้องแก้เชิงระบบ เราสามารถที่จะประกาศได้และผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ ให้เด็กเกิดอย่างมีคุณภาพ โดยคู่สมรสมีความพร้อมและตั้งใจที่จะมีลูก

“ผมพูดในมุมการเมืองว่า คนที่มีฐานะดีคู่สมรสที่มีการศึกษา ไม่อยากมีลูก เพราะสภาพสังคมไม่รองรับไม่เอื้อต่อการเลี้ยงดูบุตร ผมใช้คำว่าทำให้สังคมมันบิดเบี้ยว ก็มี ส.ส.ท่านหนึ่งไปเล่นในโซเชียลว่า เขามีลูกไม่มีลูกก็เป็นเรื่องของเขา กลายเป็นว่าเราไปรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคล แต่อยากให้เราเรียนรู้ว่ารถทัวร์เที่ยวนี้ ยิ่งมาเยอะกระทรวงเราได้ประโยชน์ จะเป็นที่สนใจในสังคมและเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งหากเป็นวาระแห่งชาติ มีแนวทางช่วยเหลือส่งเสริมทำให้มั่นใจว่า ลูกที่เกิดมาได้รับการดูแล อย่างสิงคโปร์ออกนโยบายมีลูก 3 คนขึ้นไป รัฐรับผิดชอบดูแล ก็จะทำให้เราปรับให้โครงสร้างประชากรมีคุณภาพ” นพ.ชลน่าน กล่าว

13 ประเด็นยกระดับ 30 บาทพลัส

ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดการประชุมผู้บริหารและบุคลากรจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และภาคีเครือข่าย เพื่อระดมความคิด ประสบการณ์ นำมาวิเคราะห์และวางแผนงานให้ครอบคลุมทั้ง
13 ประเด็น ได้แก่ 1.โครงการพระราชดำริฯ โครงการเฉลิมพระเกียรติและโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับพระบรมวงศานุวงศ์ 
2.รพ. กทม. 50 เขต 50 รพ. และปริมณฑล 3.สุขภาพจิต/ยาเสพติด 4.มะเร็งครบวงจร 5.สร้างขวัญกำลังใจบุคลากร 6.การแพทย์ปฐมภูมิ 7.สาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะ 8.สถานชีวาภิบาล 9.พัฒนา รพช.แม่ขาย 
10.ดิจิทัลสุขภาพ 11.ส่งเสริมการมีบุตร 12.เศรษฐกิจสุขภาพ และ 13.นักท่องเที่ยวปลอดภัย ซึ่งทั้งหมดสอดคล้องกับประเด็นปัญหาและแนวโน้มในการพัฒนาประเทศของรัฐบาล พร้อมวางแนวทางขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติให้เกิดผลในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม และก่อให้เกิดระบบสุขภาพที่ยั่งยืน