ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผมร่วงหลังติดโควิด

ภาวะผมร่วงหลังติดโควิด เรียกว่า โรคอะไร หายได้เองไหม สาเหตุเกิดจากอะไร เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดส่วนปลายอุดตัน จริงหรือไม่

กรณีข่าวปลอมระบุว่า ติดโควิดเมื่อนานมาแล้ว แต่ผมยังร่วง เนื่องจากหลอดเลือดส่วนปลายอุดตันนั้น สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า ภาวะผมร่วงภายหลังการติดเชื้อ Corona Virus Disease 2019 (COVID-19) หรือโควิด-19 นานเกิน 12 สัปดาห์ขึ้นไป (Long-COVID-19) ส่วนใหญ่เกิดจากโรคผมผลัด (Telogen effluvium) เนื่องจากการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19

ร่างกายเกิดความเครียดและมีการกระตุ้นให้เกิดการอักเสบที่รากผม ซึ่งส่งผลต่อวงจรชีวิตของผม ทำให้มีการเปลี่ยนเร็วกว่าปกติ ทำให้เกิดการหลุดร่วงของเส้นผมได้มากกว่าปกติ 

ถ้าผู้ป่วยเกิดภาวะผมร่วงภายหลังจากมีการติดเชื้อโควิด-19 โดยไม่มีปัจจัยอื่น โดยทั่วไป ผู้ป่วยที่มีโรคผมผลัดมักหายได้เองหลังจากสาเหตุหมดไปแล้วประมาณ 3-6 เดือน ในกรณีผู้ป่วยที่เป็นโรคผมผลัดหลังจากการติดเชื้อภายหลังการติดเชื้อโควิด-19 อาจจะหายได้เร็วกว่าที่ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน 

"ผมร่วงหลังติดโควิด"

ข้อมูลเพิ่มเติมจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า อาการผมร่วงฉับพลัน พบได้ในผู้ป่วยหรือผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 ร้อยละ 30 โดยเฉพาะในผู้ป่วยเพศหญิง ที่พบอาการดังกล่าวได้มากกว่าเพศชาย สาเหตุจากเชื้อโควิดทำให้ร่างกายเกิดการอักเสบ โดยจะเกิดสารไซโตไคน์ (Cytokines) ภายในร่างกายสูง ส่งผลให้ระบบบางส่วนในร่างกายถูกทำลาย เส้นผมจึงเกิดอาการช็อคและร่วง ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจจะเกี่ยวข้องกับโรคผมผลัด ได้แก่

  • ความเครียดหรือความวิตกกังวล 
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิดอย่างต่อเนื่อง ในการรักษาอาการของโรคโควิด-19 เช่น ยาละลายลิ่มเลือด หรือแพ้ยาปฏิชีวนะ
  • ผู้ป่วยอาจรับประทานอาหารได้น้อย และน้ำหนักตัวลดลงอย่างมาก ส่งผลทำให้ร่างกายอ่อนแอและเกิดผมร่วง

อาการผมร่วงหลังติดโควิด

  • ผมร่วงมากหลังจากหายป่วยแล้ว 1-3 เดือน
  • ผมร่วงทั่วศีรษะ โดยไม่มีรอยแผลเป็น
  • มีผมร่วงมากกว่า 100 เส้นต่อวัน ในบางรายอาจสูงถึง 700-1000 เส้นต่อวัน

"ผมร่วงหลังติดโควิด"

ภาวะ Long COVID คืออะไร

ตามนิยามของ WHO ในปี 2021 ระบุถึงภาวะลองโควิด (Long COVID) ว่า เป็นอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นใหม่หรือต่อเนื่องภายหลังการติดเชื้อไวรัสโคโรนา ส่วนใหญ่เริ่มเมื่อผู้ป่วยฟื้นตัว ระยะเวลาของภาวะลองโควิดเกิดได้ตั้งแต่ 3 เดือน นับจากวันตรวจพบเชื้อ และมีอาการต่อเนื่องอย่างน้อย 2 เดือน  โดยอาการที่พบบ่อยมีถึง 6 ระบบ

  1. ระบบประสาท ได้แก่ อ่อนแรงเฉพาะที่เฉียบพลัน ปวดศีรษะ มึนศีรษะ หลงลืม กล้ามเนื้อลีบ
  2. ระบบทางจิตใจ ได้แก่ นอนไม่หลับ วิตกกังวล ซึมเศร้า
  3. ระบบหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ เจ็บหน้าอก ใจสั่น
  4. ระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ หอบเหนื่อย ไอเรื้อรัง
  5. ระบบผิวหนัง ได้แก่ ผมร่วง ผื่นแพ้
  6. ระบบทั่วไป ได้แก่ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดตามข้อ

อาการลองโควิด-19 มีโอกาสเกิดขึ้นได้ 30 – 50 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาหายแล้ว ผู้ป่วยลองโควิด-19 ควรดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงและสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของตนเองอยู่เสมอ ด้วยการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน รวมทั้งกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ครบ 5 หมู่ ปรุงสุก สะอาด เน้นอาหารย่อยง่าย เนื่องจากอาจมีความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร และหากมีอาการเบื่ออาหาร ควรแบ่งอาหารเป็นมื้อย่อย ๆ หลาย ๆ มื้อ เพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ตลอดวัน ไม่ให้ร่างกายอ่อนล้า อ่อนเพลีย

  • ควรเลือกกินอาหารที่มีโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ นม เนยแข็ง ถั่วต่าง ๆ เต้าหู้
  • บริโภคอาหารที่มีจุลินทรีย์สุขภาพ หรือโพรไบโอติกส์ (Probiotics) ได้แก่ โยเกิร์ต นมเปรี้ยว โดยควรเลือกชนิดที่มีนํ้าตาลน้อย
  • กินร่วมกับอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ธัญพืช ถั่วเมล็ดแห้ง กล้วย หัวหอมใหญ่ และกระเทียม เพื่อเป็นอาหารให้จุลินทรีย์สุขภาพ ช่วยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  • หลีกเลี่ยงอาหารประเภท Junk Food อาทิ อาหารสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง อาหารหมักดอง อาหารปิ้งย่าง ของทอด ของมัน หรืออาหารรสจัด ย่อยยาก
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาหารเหล่านี้มีผลทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดต่ำลง

"ผมร่วงหลังติดโควิด เป็นโรคอะไร เพราะหลอดเลือดส่วนปลายอุดตันจริงหรือไม่"

ส่วนวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ก็มีส่วนช่วยให้ร่างกายฟื้นฟู แข็งแรง และสร้างภูมิคุ้มกัน ได้แก่

  1. วิตามินซี พบมากในผักและผลไม้สด เช่น ส้ม มะละกอ ฝรั่ง มะนาว มะเขือเทศ พริกหวาน เป็นต้น ควรกินแบบสด หากนึ่งหรือผัด ควรใช้ระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อรักษาคุณค่าจากวิตามินซีไว้ได้ดียิ่งขึ้น
  2. วิตามินเอ เช่น เครื่องในสัตว์ ไข่แดง นม ผลิตภัณฑ์จากนม ผักใบเขียวเข้ม ผักและผลไม้สีเหลืองและสีส้ม เช่น ตําลึง ผักบุ้ง แครอท ฟักทอง มันเทศสีเหลือง และมะละกอสุก 
  3. วิตามินดี ได้แก่ ปลานิล ปลาทับทิม เห็ด และไข่แดง 
  4. วิตามินอี ได้แก่ ไข่ ผักและผลไม้ต่าง ๆ เช่น ถั่วต่าง ๆ นํ้ามันถั่วเหลือง นํ้ามันมะกอก นํ้ามันดอกทานตะวัน และอะโวคาโด 
  5. แร่ธาตุสังกะสี ได้แก่ เนื้อสัตว์ เครื่องใน ตับ หอยนางรม และข้าวกล้อง 

ข้อควรระวังของภาวะ Long COVID กรณีที่เกิดอาการตามระบบต่าง ๆ และอาการผมร่วงหลังติดโควิด หรือโรคผมผลัด (Telogen effluvium) หากอาการไม่ดีขึ้น มีอาการต่อเนื่องนานกว่า 2 เดือน ควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : ภาวะ Long Covid เกิดอาการขี้หลงขี้ลืมจริงหรือ อาการที่พบบ่อย 10 อันดับ

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org

เรื่องที่เกี่ยวข้อง