ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลด้านสุขภาพเกี่ยวกับประเด็นเรื่องริดสีดวงเป็นสัญญาณเตือนของมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

จากที่สื่อโซเชียลออนไลน์ โพสต์ข้อมูลระบุว่า เป็นริดสีดวงจะทำให้มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า โรคริดสีดวงไม่ได้เป็นสาเหตุของมะเร็งลำไส้ใหญ่ ริดสีดวง เป็นโรคที่เกิดจากเส้นเลือดดำทวารหนัก หรือส่วนปลายสุดของลำไส้ใหญ่มีการบวมพองยื่นนูนเป็นติ่งออกมาจากทวารหนัก สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ ริดสีดวงภายใน เกิดบริเวณเนื้อเยื่อทวารหนักที่อยู่สูงกว่าระดับหูรูดทวารหนัก และริดสีดวงภายนอก เกิดบริเวณทวารหนักส่วนล่าง มีอาการนูนเป็นติ่งออกจากทวารหนัก

ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่ การสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานเนื้อแดง เนื้อแปรรูป เป็นประจำ อาหารกากใยน้อย อาหารปิ้งย่างรมควัน ตลอดจนขาดการออกกำลังกาย เป็นต้น และอาการของโรคที่พบบ่อย ได้แก่ การถ่ายอุจจาระมีมูกปนเลือดหรืออาจถ่ายเป็นเลือดสด ๆ มีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง / ถ่ายไม่สุด ขนาดของลำอุจจาระเล็กลง และมีอาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด และจุกเสียด  

ทั้งนี้ มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับต้น ๆ ของหลายประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเป็น 1 ใน 5   ของมะเร็งที่พบมากในคนไทย มีอัตราการเกิดโรคสูงขึ้นทุกปี ปัจจุบันพบมากเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย และอันดับ 4 ในเพศหญิง เนื่องด้วยวิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมากโดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภค เช่น อาหารไขมันสูง อาหารฟาสต์ฟู้ด อาหารปิ้งย่างไหม้เกรียม อาหารจากน้ำมันทอดซ้ำ และเนื้อสัตว์แปรรูป ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดโรค 

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เริ่มจากการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้ (polyp) และพัฒนาจนเป็นมะเร็งโดยใช้ระยะเวลาประมาณ 10-15 ปี มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงมักจะไม่มีอาการในระยะเริ่มแรกของโรค จะมีอาการก็ต่อเมื่อโรคลุกลามมากขึ้นจนถึงระยะสุดท้าย ทำให้การรักษาในระยะท้าย ๆ นั้นไม่ได้ผลดี ดังนั้น เมื่อพบความผิดปกติควรได้รับการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ กรณีพบติ่งเนื้อหรือความผิดปกติในลำไส้ใหญ่ แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อบริเวณดังกล่าวเพื่อวินิจฉัยต่อไป

สำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง จะมีโครงการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง โดยทำการตรวจคัดกรองประชาชนอายุ 50-70 ปี ตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระด้วยวิธี FIT Test ทุก ๆ 2 ปี ประชาชนสามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือโรงพยาบาลใกล้บ้านโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งหากพบผลผิดปกติก็จะวินิจฉัยโรคด้วยการส่องกล้องต่อไป และเมื่อคัดกรองและได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งแล้วก็สามารถเข้าสู่การรักษาอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องมีใบส่งตัว ใน รพ.ที่รักษาโรคมะเร็งในเครือข่ายสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกว่า 190 แห่งทั่วประเทศ ผ่านทางโครงการ Cancer Anywhere ปัจจุบันใช้ได้กับผู้ป่วยสิทธิ์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org