ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต เผยสัญญาณเตือน!  บุคลากรทางการแพทย์หมดไฟในการทำงาน... ทางออกที่ต้องเร่งแก้ไข พร้อมแนะนำวิธีดูแลสภาพจิตใจตัวเอง ทั้งจิตวิทยากระแสหลัก และจิตวิทยากระแสใหม่  

ภาวะหมดไฟ (Burn-out) จากการทำงานในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นปัญหาหนึ่งที่ทางกรมสุขภาพจิตเล็งเห็นความสำคัญ และได้มีการเฝ้าระวังติดตามอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ยาวนานกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้บุคลาการทางการแพทย์ ซึ่งต่างมีความมุ่งมั่นทำงานช่วยเหลือดูแลสุขภาพประชาชนอย่างไม่หยุดหย่อนมาโดยตลอด มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะมีภาวะหมดไฟ  ดังปรากฎผลการประเมินสุขภาพจิตด้วย Mental Health Check In (MHCI)  เพิ่มสูงขึ้น ในปีพ.ศ. 2565 ค่าเฉลี่ย 3 ไตรมาส อยู่ที่ร้อยละ 12.2 มีสาเหตุมาจากภาระความรับผิดชอบในภาวะวิกฤตของผู้ป่วยและจำนวนชั่วโมงการทำงานที่ต่อเนื่องยาวนาน 

(ข่าวเกี่ยวข้อง : บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขกลุ่มเสี่ยงสูงสุด "ภาวะหมดไฟ"  กรมสุขภาพจิตขอสังคมร่วมส่งกำลังใจ)

 

เกี่ยวกับเรื่องนี้  นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต  ให้สัมภาษณ์ Hfocus  ว่า   ภาวะหมดไฟในการทำงาน ความเครียด โรคซึมเศร้า และความเสี่ยงจากการฆ่าตัวตาย เป็นภาวะที่พบได้ในบุคคลทั่วไป ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นอีกกลุ่มที่มีภาวะหมดไฟในการทำงาน โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19   ยิ่งบุคลากรทางการแพทย์ ที่ทำงานด้านบริการในสถานพยาบาลจะมีภาวะหมดไฟสูง ทั้งภาระงาน ทำงานล่วงเวลา หรือการติดเชื้อโควิด  และหวาดกลัวว่าจะนำเชื้อไปติดสู่ครอบครัว

โดยสถิตที่พบจากการวิเคราะห์ฐานข้อมูล MHCI ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 เป็นต้นมา พบว่า บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่สุด หรือประมาณ 1 ใน 8 คน ที่มีภาวะหมดไฟ (Burn-out)  โดยข้อมูลล่าสุดช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2565  พบภาวะหมดไฟร้อยละ 18.4  

“ภาวะหมดไฟในการทำงาน เป็นความเครียดชนิดหนึ่งที่มีองค์ประกอบสำคัญจากสภาวะการทำงาน  รวมไปถึงปัจจัยความเครียดอื่นๆมาปนด้วย ทั้งครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งแต่ละบุคคลจะมีปัจจัยที่แตกต่างกันไป...” นพ.ยงยุทธ กล่าว

**ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขส่วนหนึ่งออกมาเรียกร้องค่าตอบแทนจากการปฏิบัติงานโควิด ตรงนี้จะยิ่งเพิ่มเติมความเครียดให้ยิ่งเกิดภาวะหมดไฟจากการทำงานได้หรือไม่ นพ.ยงยุทธ มองว่า แต่ละคนมีปัจจัยที่กำหนดไม่เหมือนกัน อย่างเรื่องค่าตอบแทน คนที่ได้รับผลกระทบมากก็จะมีผลต่อความเครียดสูงขึ้น แต่อีกส่วนอาจมีผลมาจากการทำงานโดยตรง ซึ่งการศึกษายังไม่ได้ลงรายละเอียดส่วนนี้ แต่เป็นภาพรวมในการศึกษาข้อมูล เพื่อนำข้อมูลมาช่วยบรรเทาความเครียด และลดปัญหาหมดไฟในการทำงานให้น้อยลง

อย่างไรก็ตาม   ความเครียดในการทำงาน ภาวะหมดไฟในการทำงานแก้ได้ 2 ระดับ โดยระดับแรก คือ การสร้างสภาวะการทำงานที่เป็นการส่งเสริมสุขภาพจิต เช่น การดูแลความเครียด การดูแลทางการเงิน การดูแลสัมพันธภาพระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง ซึ่งหลายๆอย่างจัดการได้ อย่างเรื่องสัมพันธภาพ โดยแต่ละหน่วยงานต้องจัดระบบให้มีการสื่อสารระหว่างลูกน้องและหัวหน้าให้ดีขึ้น เน้นการสื่อสารให้เข้าใจกัน ส่วนเรื่องการเงิน ต้องมีการส่งเสริมการเงินของบุคลากรให้ดี  หากจัดการรายรับรายจ่ายดีขึ้นจะช่วยลดความเครียดได้ รวมไปถึงการสื่อสารเทคนิคการคลายเครียด ซึ่งกรมสุขภาพจิตมีการรณรงค์มาตลอด มีการสื่อสารข้อมูลผ่านเว็บไซต์กรมฯ    

“ระดับต่อมาในกลุ่มที่มีภาวะเบิร์นเอาท์แล้ว ต้องมีระบบเข้าไปช่วยเหลือให้ทันท่วงที ที่ผ่านมากรมสุขภาพจิตได้เข้าไปสนับสนุนโรงพยาบาลต่างๆ ให้มีสายด่วนเฉพาะของบุคลากรทางการแพทย์  เพื่อให้รับฟังปัญหาและช่วยเหลืออย่างทันท่วงที  โดยขณะนี้ทุกโรงพยาบาลมีการวางระบบเพื่อช่วยเหลือบุคลากร  ซึ่งที่ผ่านมาร้อยละ 98 ของผู้ที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพจิต ทั้งภาวะหมดไฟ ทั้งซึมเศร้า ทั้งหมดได้รับการดูแลต่อเนื่อง” นพ.ยงยุทธ กล่าว

**เมื่อถามว่าโรงพยาบาลแต่ละแห่งจำเป็นต้องจัดสภาพแวดล้อมเพื่อช่วยให้บุคลากรผ่อนคลายด้วยหรือไม่ นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า  โรงพยาบาลต่างๆมีปัจจัยแวดล้อมที่ไม่เหมือนกัน บางแห่งมีสภาวะที่ปรับเปลี่ยนได้ ซึ่งทั่วไปสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูลก็เป็นตัวช่วยได้ดี นอกเหนือจากความสามารถส่วนบุคคลที่จัดการความเครียดได้ รวมไปถึงการปรับปรุงสัมพันธภาพระหว่างเพื่อนร่วมงาน ลูกน้องและหัวหน้า สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบช่วยซึ่งกันและกัน

นพ.ยงยุทธ ยังกล่าวถึงวิธีสังเกตภาวะหมดไฟในการทำงาน  ว่า  สามารถแยกได้ 2 ประเภท คือ 1.ความเครียดทั่วไป มีปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ไม่จดจ่อการทำงาน หงุดหงิดง่าย กระทบกระทั่งได้ง่าย และ 2. แสดงออกจากงานโดยตรง คือ ไม่อยากมาทำงาน พอวันศุกร์ดีใจได้หยุด พอวันจันทร์ไม่อยากทำงาน สิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องโดยตรง นอกจากนี้ ก็จะพบอีกแบบคือ การแสวงหาทางออกของความเครียดที่ไม่ถูกต้อง เช่น การใช้สารเสพติด สุรา ยานอนหลับ

คำแนะนำเบื้องต้น อย่างการจัดการด้วยตนเอง ที่เรียกว่า Personal skills ส่วนใหญ่เรามักเข้าใจผิดว่า เวลาเครียดก็เบี่ยงเบนความสนใจ ไปดูหนังฟังเพลง แต่จริงๆไม่หาย สิ่งสำคัญต้องมีทักษะส่วนบุคคลที่จัดการกับความเครียดได้จริงๆ แบ่งออกเป็น 2 แบบ ประกอบด้วย

1.จิตวิทยากระแสหลัก ก็จะฝึกคลายเครียดต่างๆ หายใจคลายเครียด ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งในเว็บไซต์กรมสุขภาพจิตจะมีคำแนะนำตรงนี้ https://checkin.dmh.go.th/    หรือโทรสายด่วน 1323

2. จิตวิทยากระแสใหม่ เน้นฝึกทักษะทางด้านจิตใจ การพัฒนาภายใน เรื่องของสมาธิ สติ เน้นจิตวิทยาไม่ได้เกี่ยวกับศาสนาโดยตรง แต่เป็นเรื่องของการสอนพักให้จิตสงบได้ด้วยการทำสมาธิ ทำให้จิตทำงานอย่างมีคุณภาพด้วยการใช้สติ ซึ่งมีกระบวนการฝึกด้วยจิตวิทยา หรือเรียกง่ายๆว่า การฝึกสมาธิ สติด้วยหลักจิตวิทยา

นพ.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า  สิ่งเหล่านี้เราเรียนรู้ได้ โดยหากสถานที่ทำงานมีการจัดคอร์สช่วยก็จะดีมาก ซึ่งโรงพยาบาลต่างๆ มีระบบในการดูแลความเสี่ยงที่เรียกว่า 2P ทั้งการดูแลความเสี่ยงของผู้ป่วย และการดูแลความเสี่ยงของบุคลากร ขณะนี้หลายโรงพยาบาลนำวิธีการจัดการความเครียด  ทั้งจากจิตวิทยากระแสหลัก และจิตวิทยากระแสใหม่ มาใช้ในสถานพยาบาลของตน ขึ้นอยู่กับโรงพยาบาลนั้นๆ  ซึ่งทั้งหมดยังเป็นหนึ่งในระบบที่ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) สนับสนุนให้โรงพยาบาลดำเนินการตามมาตรฐานสถานพยาบาลอีกด้วย ส่วนกรมสุขภาพจิตก็เป็นฝ่ายสนับสนุนเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง

ระบบสาธารณสุขมีการมอนิเตอร์มาตลอด ข้อมูลที่ออกมาก็เป็นเหมือนสัญญาณเตือนบุคลากร ซึ่งจะทำให้ภาคนโยบาย และโรงพยาบาลได้ทราบข้อมูลและนำไปปรับใช้ในการดูแลบุคลากรได้อย่างเหมาะสมต่อไป..

 

 

 

 

 

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง