ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรรมการสมาคมโรคติดเชื้อฯ ชี้วัคซีนโควิดสำคัญ ช่วยป้องกันปอดอักเสบ สาเหตุหลักเสียชีวิต  โดยเฉพาะผู้สูงอายุขอให้มาฉีดเข็มกระตุ้น พร้อมเตือนโควิดไม่ได้ไปไหน จะอยู่กับเราไปชั่วกัลปาวสาน และยังมีเชื้อโคโรนาไวรัสตัวใหม่ๆอีกมากแหล่งสำคัญคือ “ค้างคาว” สัตว์สุดยอดนำเชื้อโรคต่างๆ ขออย่ากิน อย่าเล่นกับไฟ   พร้อมให้ข้อมูลปอดอักเสบ ป้องกันได้อย่างไร

 

เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2565  รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์  กรรมการสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย   กล่าวในงานเสวนาวิชาการออนไลน์ เนื่องในวันปอดอักเสบโลก (World Pneumonia Day 2022) เรื่อง ประเทศไทยกับการเตรียมความพร้อมสู่การป้องกันโรคปอดอักเสบหลังการระบาดโควิด 19 จัดโดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ  ว่า  โรคปอดบวมกับปอดอักเสบ คล้ายๆกัน แต่จริงๆต้องใช้คำว่า ปอดอักเสบ จะตรงมากกว่า โดยสถานการณ์ระดับโลกแต่ละปีมีคนป่วยปอดอักเสบประมาณ 400 ล้านคนต่อปี และเสียชีวิตปีละ 2.5 ล้านคน ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งอายุต่ำกว่า 15 ปี อีกครึ่งเกิน 15 ปี

 

รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวว่า  โรคนี้เป็นได้ทุกช่วงอายุ การดูแลป้องกันจะแตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ในเด็กครึ่งหนึ่งของจำนวน 2.5 ล้านคน  จะอายุต่ำกว่า 15 ปี และพบมากอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นแล้วอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ เพราะภูมิคุ้มกันต่ำ และมีโรคประจำตัว ส่วนกลุ่มผู้ใหญ่ที่เสียชีวิตจะมีครึ่งหนึ่ง และพบมากในอายุเกิน 65-70 ปีขึ้นไป เพราะมีโรคประจำตัว ติดเชื้อง่าย และมีโอกาสรุนแรงง่าย อีกทั้งภูมิคุ้มกันก็เริ่มอ่อนแอลง

 

“เชื้อปอดอักเสบที่เกิดจากแบคทีเรีย ตัวสำคัญคือ นิวโมคอคคัส มีอยู่แล้ว เกาะอยู่ในคอ รอวันจู่โจม วันใดวันหนึ่งร่างกายอ่อนแอ เช่น ป่วยไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ จะทำให้ทางเดินหายใจขรุขระ ก็จะทำให้เชื้อที่เกาะในคอลงไปที่ปอดได้ง่าย และที่ทางการแพทย์กลัวที่สุด คือ เมื่อเส้นทางเดินหายใจขรุขระ เชื้อแบคทีเรียอาจเข้าสู่เลือด จะไม่ไต่ไปปอดก่อน และเมื่อเข้าสู่เลือดจะไปสมอง กระดูก และอาจวนมาที่ปอด  กลายเป็นไอพีดี หรือกลุ่มโรครุนแรงของเชื้อนิวโมคอคคัส”

 

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวอีกว่า  ปัจจัยเสี่ยงให้เกิดปอดอักเสบ คือ  1.อายุ อย่างที่กล่าวไปอายุน้อย อายุมาก การมีโรคร่วม เป็นต้น  2.การกินนมแม่ อย่างปอดอักเสบจะโฟกัสไปเด็ก หากกินนมแม่จะได้ภูมิคุ้มกัน ซึ่งแนะนำให้เด็กหลังคลอดต้องรับนมแม่จะป้องกันโรคได้ 3.สภาพอาการ ฝุ่นละออง PM 2.5 ควันบุหรี่  ก็เป็นปัจจัยเสี่ยงเช่นกัน  4.ประเทศที่มีเศรษฐานะยากจน ขาดอาหาร ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ภูมิคุ้มกันลดลง และ5. ภูมิคุ้มกันของร่างกายแต่ละคน  

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวอีกว่า จากเทคโนโลยีจากวัคซีนจะช่วยป้องกันโรคติดเชื้อต่างๆมากขึ้น อย่างเชื้อไวรัส RSV  ที่เป็นสาเหตุปอดอักเสบสำคัญในเด็กและผู้สูงอายุเริ่มมีการพัฒนาวัคซีนใกล้สำเร็จแล้ว  และในอนาคตอันใกล้จะมีการศึกษาใช้ในเด็กต่อไป แต่ทราบว่าล่าสุดมีผลต่อการป้องกันในกลุ่มผู้สูงอายุ และหญิงตั้งครรภ์  นอกจากนี้ วัคซีนป้องกันปอดอักเสบที่เกิดจากเชื้อต่างๆ อย่างวัคซีนต่อเชื้อนิวโมคอคคัส เป็นวัคซีนที่อยากได้มาก โดยเฉพาะในเด็กเพื่อป้องกันโรคไอพีดี อาการรุนแรง  นอกจากนี้ ยังมีวัคซีนฮิบ(Hib) ซึ่งปัจจุบันเด็กไทยได้แล้ว ป้องกันทั้งปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบได้ ส่วนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่กำลังระบาด ยิ่งการสวมหน้ากากอนามัยลด การระบาดจะมากขึ้น ดังนั้น การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ปีละครั้ง แต่คุ้มค่ามาก เพราะนอกจากป้องกันไข้หวัดใหญ่ ยังป้องกันนิวโมคอคคัสได้

 

“สุดท้ายขอย้ำเรื่องโรคโควิด-19 ไม่มีวันไปไหน จะอยู่กับเราไปชั่วกัลปาวสาน และจะลากเอาพี่น้องมาด้วย ดังนั้น โควิดเป็นตัวอย่างสำคัญ ว่าการบาลานส์ของธรรมชาติกับมนุษย์สำคัญมาก ยังมีเชื้อโคโรนาไวรัสตัวใหม่ๆอีกมากที่รออยู่  และรอที่ไหน เชื่อว่า รออยู่ในค้างคาว ดังนั้น ข่าวที่ไปกินค้างคาว อย่าเล่นกับไฟ อันตรายสุดๆ ค้างคาวเป็นสุดยอดแห่งสัตว์นำเชื้อโรคต่างๆ ทั้งไข้หวัดใหญ่ โคโรนาไวรัส ไข้สมองอักเสบ พิษสุนัขบ้า ฯลฯ” รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว

 

กรรมการสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กฯ กล่าวว่า การฉีดวัคซีนโควิดจะป้องกันอาการรุนแรง ปอดอักเสบและเสียชีวิตได้ ดังนั้น กลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุ ให้รีบมาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะป้องกันการเสียชีวิตได้ โควิดป่วยแล้วก็หาย แต่หากลงปอด จนเกิดปอดอักเสบจะรุนแรงมาก  

 

ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวว่า โรคปอดบวม ปอดอักเสบ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของประเทศไทย สาเหตุเกิดทั้งเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดการอักเสบของปอดได้ ดังนั้น หากเรารู้ว่ามาจากสาเหตุอะไร และทราบการป้องกันก็จะช่วยได้ ซึ่งเราสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน มีหลายชนิด  อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกกำหนดให้ทุกวันที่ 12 พ.ย. ของทุกปีเป็นวันโรคปอดอักเสบโลก เพื่อให้มีการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้การป้องกันโรค

 

“แนวทางการป้องกันด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัยก็สามารถช่วยได้ เพราะปอดอักเสบเป็นโรคติดต่อทางเดินหายใจ ขณะเดียวกันการฉีดวัคซีนโควิดก็ยังลดโอกาสเกิดปอดอักเสบเช่นกัน จึงขอเชิญชวนประชาชนมาฉีดวัคซีนโควิดที่เป็นเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้มีโรคร่วม หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็กตั้งแต่อายุ 6 เดือนเป็นต้นไป ก็จะช่วยลดความรุนแรงและเสียชีวิต ทั้งโควิดและปอดอักเสบ” นพ.นคร กล่าว

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org