ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ความเสี่ยงต่อโรคร้าย หลอดเลือดสมอง-หลอดเลือดหัวใจ วิธีดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันโรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจ หากป่วยเป็นโรคหัวใจออกกำลังกายไม่ได้จริงหรือ

การใช้ชีวิตของคนในยุคนี้ เสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายได้โดยไม่รู้ตัว ทั้งการใช้ชีวิตที่ทำงานหนัก พักผ่อนน้อย รับประทานอาหารที่เน้นเร่งรีบ เลือกกินอาหารง่าย ๆ อย่างรวดเร็วในแต่ละวัน พฤติกรรมที่นั่งติดโต๊ะ แทบไม่เคลื่อนไหวร่างกาย ล้วนแล้วแต่เพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อโรคร้ายโดยไม่รู้ตัว

นพ.ธนบูรณ์ วรกิจธำรงค์ชัย นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ อายุรกรรมประสาท เชี่ยวชาญด้านโรคหลอดเลือดสมองและการรักษาโรคหลอดเลือดสมองอุดตันด้วยสายสวนหลอดเลือดสมอง กล่าวกับ Hfocus ว่า อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายจะเริ่มเสื่อมลงตามวัยเช่นเดียวกับหลอดเลือด อีกทั้งยังมีปัจจัยอื่นที่ควบคุมไม่ได้อย่างกรรมพันธุ์ โดยเฉพาะประวัติครอบครัวมีโรคหลอดเลือด หรือพันธุกรรมที่ทำให้เกิดหลอดเลือดสมอง ประกอบกับพฤติกรรมที่ทำลายหลอดเลือด เช่น การสูบบุหรี่ที่ทำลายหลอดเลือดทุกอย่างทั้งร่างกาย หลอดเลือดปลายมือปลายเท้า การดื่มสุรา ที่กระตุ้นให้ความดันสูง เพราะความดันโลหิตสูงทำให้เกิดโรคทั้งโรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจ และที่สำคัญคือ ยาเสพติดต่าง ๆ

สำหรับวิธีดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันโรคร้าย นพ.ธนบูรณ์ ย้ำว่า ต้องใส่ใจในปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้ เช่น โรคประจำตัว อย่างคนที่เป็นโรคเบาหวาน เวลาที่มีน้ำตาลที่ควบคุมไม่ได้ จะทำให้เซลล์หรือหลอดเลือดเสื่อมเร็ว โอกาสเกิดการยืดหยุ่นจะน้อยลง เสี่ยงต่อทั้งโรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจ จึงต้องควบคุมน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์โดยดูจากน้ำตาลสะสม อย่างน้อย HB1AC (Hemoglobin A1c) น้ำตาลสะสมในเลือดควรน้อยกว่า 7 จะลดความเสี่ยงของทั้ง 2 โรค ความดันโลหิตสูงที่จะเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองตีบและโรคหลอดเลือดสมองแตกต้องควบคุมความดันให้ปกติ หากมีอายุมากก็จะอนุโลมให้ความดันตัวบนไม่เกิน 140 มิลลิเมตรปรอท ถ้าความดันดีจะอยู่ในช่วง 120/80 นอกจากนี้ ยังต้องป้องกันไม่ให้ไขมันในเลือดสูง ค่าโคเลสเตอรอลรวมต้องน้อยกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ไตรกลีเซอไรด์ต้องน้อยกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร LDL-cholesterol ต้องไม่เกิน 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ส่วนไขมันดี HDL-C ยิ่งมากยิ่งดี 45-50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป จะช่วยเรื่องผนังเซลล์ ผนังหลอดเลือดให้ดีขึ้นได้

"การดูแลตัวเองอื่น ๆ ต้องทานอาหารครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำเยอะ ๆ โดนแสงแดดรับวิตามินดีบ้าง และควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ มากกว่านั้นก็ดี ครั้งละมากกว่า 30 นาที หรือออก 1-2 ชั่วโมงต่อวัน แต่ต้องออกกำลังกายให้ปลอดภัย หัวใจเต้นขึ้นประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ของการเต้นหัวใจปกติ จะช่วยให้ร่างกายดี แข็งแรง หลอดเลือดดีด้วย" นพ.ธนบูรณ์ กล่าว

ส่วนความเชื่อที่ว่า คนเป็นโรคหัวใจไม่ควรออกกำลังกายนั้น นพ.ธนบูรณ์ ให้ข้อมูลว่า สามารถออกกำลังกายตามคำแนะนำของแพทย์ได้ แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ คนที่มีปัญหาส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร คนที่รู้อยู่แล้วว่าเป็นโรคหัวใจ เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ กลุ่มคนเหล่านี้จะตรวจ รักษา กินยา ใส่สายหลอดเลือดหัวใจ ใส่ตะข่ายขดลวด ขยายบอลลูน หรือผ่าตัดแล้ว ซึ่งต้องพบแพทย์ตามนัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คุณหมอแนะนำวิธีออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เริ่มจากเบา ๆ ตามภาวะหัวใจของแต่ละคน บางคนที่มีอาการป่วยรุนแรงจะทำได้แค่เดิน ออกกำลังกายหนักไม่ได้เลย ยิ่งถ้ามีโรคประจำตัวควรได้รับการตรวจอย่างสม่ำเสมอ 

 

"ที่สำคัญคือ คนไม่เคยรู้มาก่อน ไม่เคยมาตรวจ อาจมีอาการแน่นหน้าอกแล้วเข้าใจว่า เป็นโรคกระเพาะหรือเปล่า คนที่ออกกำลังกายอย่างหนัก ยกน้ำหนัก เล่นฟิตเนสหักโหม หรือวิ่งมาราธอน ต้องระวังว่า หัวใจทำงานหนัก อาจเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ จากข่าวที่พบเป็นประจำว่า นักกีฬาหรือนักวิ่ง เกิดเป็นลม หมดสติ และหัวใจหยุดเต้น เป็นไปได้ว่า หลอดเลือดอาจตีบบางส่วนแล้วไม่ทราบ ออกกำลังกายหรือวิ่งหนักจนกล้ามเนื้อไปเลี้ยงหัวใจไม่พอ ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย การสูบโลหิตทำไม่ได้ สุดท้ายก็หัวใจหยุดเต้น จึงควรเข้ารับการตรวจร่างกายเป็นประจำ หรือหากมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์" นพ.ธนบูรณ์ กล่าว

 

 

*สามารถกดติดตาม และแชร์ข่าวสำนักข่าว Hfocus ที่ https://www.facebook.com/Hfocus.org