ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การระบาดของโรคโควิด-19  เป็นสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง  ประสบการณ์ที่ผ่านมาของทุกฝ่สายที่ช่วยกันฝ่าวิกฤติโควิด-19 ช่วยทำให้เห็นถึงการบริการสาธารณสุขระดับชาติที่ยังมีสิ่งที่ต้องปรับปรุง การเพิ่มขีดความสามารถ เพิ่มข้อมูลความรู้ รวมทั้งโอกาสในการพัฒนาในด้านต่างๆ การสร้างกระบวนการความร่วมมือให้มีความเชื่อมโยงกันในทุกภาคส่วน ตลอดจนการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ได้จัดงาน “ก้าวสู่ทศวรรษที่ 4 : ร่วมกันวิจัย ยกระดับคุณภาพชีวิต” โดยเวทีเสวนาหัวข้อ“สมรรถนะระบบสุขภาพไทยเป็นอย่างไร ในยุค ก่อน-ระหว่าง-หลัง covid-19” เพื่อถอดบทเรียนจากสถานการณ์การระบาดที่ผ่านมาและวางแผนการจัดการด้านต่างเพื่อรับมือสถานการณ์ในอนาคต

ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์การระบาด ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันถอดบทเรียน การบริการด้านสาธารณสุขระดับชาติ ซึ่งยังมีปัญหาต่าง ๆ ที่ต้องปรับปรุงหลายด้าน โดยเฉพาะระบบสุขภาพปฐมภูมิ หรือ กลไกและกระบวนการในการประสานความร่วมมือเพื่อ จัดบริการสุขภาพ ระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมทั้งการส่งต่อผู้รับบริการและการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยบริการ

ขณะเดียวกัน สถานการณ์การระบาด ทำให้เห็นความสำคัญและความจำเป็นในการปฏิรูประบบฐานข้อมูลซึ่งสอดคล้องกับแนวคิด การปฏิรูประบบสาธารณสุข Big Rock 1 “ยุติโรคระบาดด้วยนวัตกรรม โดยการเชื่อมต่อฐานข้อมูลสาธารณสุขแบบบูรณาการ” ที่เชื่อมโยง 5 กระทรวง คือ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการคลัง และกระทรวงแรงงาน พัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มเชื่อมต่อฐานข้อมูลโควิด 19 ของสธ. อย่างครอบคลุม ทั้งระบบ การวินิจฉัย การบริหารจัดการเตียง และทรัพยากร ตลอดจนระบบดูแลผู้ป่วยด้วยระบบ Home isolation ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนเตียง ให้โรงพยาบาลสามารถค้นข้อมูลสำคัญของผู้ป่วยมาใช้ประกอบการรักษาได้ นำข้อมูลไปปรับปรุงบริการสิทธิประโยชน์ และการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ได้

นพ.สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้การจัดการทรัพยากรบุคคลในระบบสาธารณสุขดีขึ้น แม้จะประสบปัญหาความล่าช้าในช่วงแรก แต่การจัดการในช่วงสองปีหลัง ได้มีการปรับเปลี่ยนการทำงาน ให้เท่าทันกับปัญหามากขึ้น และเชื่อว่าหลังจากนี้และในอนาคต หากพุ่งเป้าการทำงานไปที่การสร้างเอกภาพการทำงานระหว่างหน่วยงานให้มีทิศทางตรงกัน สรุปบทเรียนประเด็นต่าง ๆ เพื่อนำมาแก้ปัญหาให้ถูกจุด เช่นด้านการสื่อสาร ที่ต้องรวดเร็ว แม่นยำ และสร้างความน่าเชื่อถือได้ จะทำให้ได้แนวทางในการรับมือกับโรคระบาดที่เข้มแข็งขึ้นในอนาคต

รศ.ดร.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ รองศาสตราจารย์ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า สิ่งที่ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา คือได้พัฒนาโครงสร้างการเรียนรู้ ด้านระบาดวิทยาพัฒนาการจัดเก็บข้อมูลเพื่อนำไป สังเคราะห์ข้อเสนอ เพื่อสนับสนุนกระบวนการตัดสินใจเชิงนโยบายและการวางแผน การปรับตัวหลังวิกฤตการระบาด การคาดการณ์ทางระบาดวิทยาของประเทศไทยหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุม พัฒนา การสนับสนุนเชิงนโยบาย เพื่อนำไปวางแผนการทำงานสำหรับหน่วยงานต่างๆ

ทั้งนี้เชื่อว่าข้อมูลจะเปิดโอกาสให้ภาคประชาชน เข้ามามีบทบาทต่างๆ เพื่อช่วยแก้ปัญหาได้มากขึ้น รวมถึง เกิดกลไกความร่วมมือ ระหว่างภาควิชาการ อื่นๆ ที่สามารถช่วยบรรเทาและคลี่คลายปัญหาช่วงวิกฤตได้มากขึ้น รวมถึงนำไปพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในการแก้ปัญหาให้ครอบคลุมปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ดร.นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ มองว่า การระบาด ทำให้สังคมมองเห็นความสำคัญ และความเชื่อมโยงระหว่างสาธารณสุขกับเศรษฐกิจ และความสำคัญ ในการลงทุนด้านสุขภาพ และ และมองเห็นตรงกันว่า เทคโนโลยีทางการแพทย์ คือปัจจัยชี้ขาดความยั่งยืนของระบบสุขภาพ รวมถึง ทำให้ เกิดองค์ความรู้ด้านต่างๆ ที่ช่วยกันหาวิธีที่ทำให้ การระบาดส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจน้อยที่สุด

รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า สถานการณ์การระบาด ทำให้เห็นจุดอ่อน ของระบบสาธารณสุข หลายด้านโดยเฉพาะ ทำให้เห็นว่าโรงพยาบาลหลายแห่ง ไม่ใช่พื้นที่ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรับมือกับโรคที่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ การเตรียมพื้นที่ และทรัพยากร ให้สามารถ พลิกแพลง การทำงาน เพื่อรับมือกับการระบาด จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

อย่างไรก็ตาม การระบาด ทำให้เห็นตัวอย่างการพลิกแพลงแผนรับมือกับโรคระบาดใหม่ๆ  เช่นการเปลี่ยนโรงแรมเป็นสถานดูแลผู้ป่วย จึงเชื่อมั่นว่า ในอนาคต จะเกิดการปรับแนวทาง และการเรียนรู้ ด้านการใช้ทรัพยากร และต้นทุนที่มีอยู่เพื่อรับมือกับ สถานการณ์การระบาด ได้มากขึ้น รวมถึงได้เห็น การใช้สังคมออนไลน์แลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และทำให้เกิดการเรียนรู้ในการปรับ ระบบดูแลสุขภาพ นำสิ่งที่ดีมาประยุกต์ ในการรับมือกับโรคต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป

ดร.นพ.ฑิณกร โนรี นักวิจัย สำนักงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านสุขภาพ มูลนิธิสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ มองว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการระบาดของโควิด-19 คือทำให้เรียนรู้ด้านการจัดการกำลังคนด้านสุขภาพ ซึ่งยังมีปัญหาบุคลากรไม่เพียงพอ และปัญหาการกระจายบุคลากรให้ทั่วถึงในทุกพื้นที่ แต่สถานการณ์การระบาด ก็ทำให้สามารถบรรจุบุคลากรในระบบราชการได้เพิ่มขึ้นกว่าสามหมื่นตำแหน่ง ซึ่งทำให้เกิดขวัญและกำลังใจกับ บุคลากร ด้านสาธารณสุขมากขึ้น รวมถึงทำให้เกิด กระบวนการเรียนรู้ การทำงานข้ามวิชาชีพหรือทำงานร่วมกับวิชาชีพอื่นอีกด้วย

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การรับมือการระบาดของโควิด-19 ยังจำเป็น ต้องสร้างเอกภาพในการทำงาน ขณะเดียวกันความรู้ด้านวัคซีน ก็ยังต้องการงานวิจัย ที่ทำให้น้ำหนักของข้อเท็จจริง ด้านประสิทธิภาพ ของวัคซีน ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อให้วัคซีนสามารถช่วยลดความรุนแรงของการระบาดของโรคได้มากที่สุด อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าวัคซีน ถูกทำให้กลายเป็นปัญหาด้านการเมือง ทำให้เกิดข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงมากมาย จนทำให้เกิดความลังเลในวัคซีนตามมา

“หลังการระบาด ไทยควรเปลี่ยนเป็นประเทศที่เป็นผู้ผลิต และพัฒนาคนให้สามารถพัฒนาวัคซีนได้ เพื่อรับมือกับโรคระบาดในอนาคตเพราะมีความพร้อมด้านเครื่องมือ ด้านทุน และศักยภาพเพียงพอ แต่ยังขาดด้านกำลังคนที่มีพร้อมสำหรับหรับการเตรียมการในอนาคต”ศ.นพ.ยงกล่าว

รศ.พญ.สมฤดี ฉัตรสิริเจริญกุล ผู้ช่วยรองคณบดีฝ่ายวิจัย เเละรองหัวหน้าภาควิชา เภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า วัคซีนโควิด-19 ทำให้เกิดคำถามหลายด้าน เช่นปัญหาด้านประสิทธิภาพ และความปลอดภัย ซึ่งการตอบคำถามดังกล่าวและสร้างความเชื่อมั่น ในการให้ข้อมูลกับประชาชน ต้องอาศัยข้อมูลการวิจัย ที่ได้คำตอบจากการใช้งานจริง และหาคำตอบ มาทำให้ประชาชนไว้วางใจในการทำงานให้มากที่สุด ซึ่งที่ผ่านมา มีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำงาน ช่วยสนับสนุนให้งานวิจัยได้ข้อมูลที่มีประโยชน์และสนับสนุนการทำงานของรัฐบาล และสร้างความเชื่อมั่นใจวัคซีนมากขึ้น

“สิ่งที่ได้จากการทำงานที่ผ่านมา คือข้อสรุปว่าเรายังขาด โครงสร้างทางกายภาพซึ่งใช้อำนวยความสะดวกสาธารณะที่จะทำให้งานวิจัยมีคุณภาพ เราควรจะมีศูนย์วิจัยคลินิกที่มีอาสาสมัคร มีบุคลากรรุ่นใหม่ที่มาช่วยทำวิจัย ซึ่งเรายังมีโอกาสในการพัฒนาเรื่องนี้ให้สอดคล้องกับสถานการ์ฉุกเฉินที่ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว”รศ.พญ.สมฤดีกล่าว