ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กองทุนให้บริการด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ดำเนินการมากว่า 10 ปี นับตั้งแต่พ.ศ.2553 เป็นต้นมา จากจุดเริ่มต้นในทศวรรษที่ผ่านมาย่อมมีข้อจำกัดซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาปรับปรุงเพื่อให้การดำเนินการต่อไปมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งดร.นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ได้ศึกษาวิจัย ‘10 ปีการให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ(พ.ศ.2553-2562) : ความสำเร็จและสิ่งท้าทายในทศวรรษที่ 2’ มีข้อมูลที่น่าสนใจทั้งด้านที่ยังเป็นข้อจำกัดของกองทุนและข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการปรับปรุงพัฒนาให้เกิดประโยชน์มากยิ่งขึ้น

ผลการศึกษาสะท้อนให้เห็นความสำเร็จในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขและผู้ที่เกี่ยวข้องได้ใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่อง เสนอเรื่องผ่านการเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรี 4 ครั้ง โดยการจำแนกกลุ่มบุคคล ระบุตัวเลขอย่างชัดเจน พร้อมทั้งหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะฝ่ายความปกครองและฝ่ายความมั่นคงเพื่อให้ความเห็นชอบร่วมกัน ก่อนส่งเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ส่งผลให้บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิกลุ่มต่างๆ รวมทั้งเด็กนักเรียนในสถานะศึกษาต่างๆ ที่กำลังรอพิสูจน์สถานะ กว่า 8 แสนคน เข้าถึงสิทธิพื้นฐานด้านสาธารณสุข ถือได้ว่าเป็นความสำเร็จอีกขั้นของระบบหลักประกันสุขภาพไทย

ปัจจุบัน (พฤษภาคม พ.ศ. 2563) มีผู้มีสิทธิในกองทุนฯ ที่ยังมีชีวิตอยู่และยังรอพิสูจน์สถานะ จำนวน 547,160 คน กระจายอยู่ตามจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนติดกับประเทศเมียนมาร์ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุในวัยทำงาน ในช่วงอายุ 15-54 ปี อัตราการใช้บริการผู้ป่วยในสูงกว่าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าถึง 3 เท่า ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มคนเหล่านี้เป็นกลุ่มคนเปราะบาง อยู่ห่างไกล การเข้าถึงหน่วยบริการแต่ละครั้งจึงมากกว่ากลุ่มผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวไม่รวมเงินเดือน เท่ากับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่ผลการศึกษาพบว่ายังขาดงบประมาณในส่วนโครงการเฉพาะอีก 7 รายการ คิดเป็นงบประมาณรายหัวในปี พ.ศ. 2563 จะอยู่ที่ 344 บาท/คน หรือเป็นเงิน 188.2 ล้านบาท เป็นส่วนที่กระทรวงสาธารณสุขต้องขอสนับสนุนงบประมาณส่วนนี้เพิ่มเติมจากรัฐบาลต่อไป

อย่างไรก็ตามผลการศึกษาดังกล่าวพบว่า ด้านสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์กองทุนให้บริการด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ยังมีสิทธิประโยชน์ที่ยังไม่ทัดเทียมกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตามเจตนารมณ์ของคณะรัฐมนตรี ได้แก่ ความคุ้มครองเมื่อได้รับความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ระบบการขึ้นทะเบียนเพื่อรักษาพยาบาล หน่วยบริการในเขตกรุงเทพมหานครที่ยังมีเพียง 3 แห่ง สิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ที่แตกต่างจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จำนวน 33 รายการ จำนวนอุปกรณ์และอวัยวะเทียมที่แตกต่างจากระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จำนวน 109 รายการ เป็นต้น

การประเมินผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาโดย ผู้ให้บริการ คณะกรรมการกองทุน และผู้ทรงคุณวุฒิ มีข้อเสนอที่สำคัญ คือ การเน้นการดูแลเชิงรุก งานด้านสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การลดอุปสรรคในการเข้าถึง เช่น ควรจะมีล่ามในโรงพยาบาล เพื่อช่วยลดอุปสรรคทางด้านภาษา เป็นต้น การขยายสิทธิประโยชน์ให้ทัดเทียมกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมทั้งการปรับระบบบริหารจัดการ การจัดสรรงบประมาณ การเบิกจ่ายงบประมาณ พัฒนาระบบสนับสนุน ทำระบบอัตโนมัติเพื่อการแก้ไขปัญหากลุ่มบุคคลที่มีสิทธิทับซ้อน

ผลการศึกษาดังกล่าวมีข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่ การจัดตั้งกองทุนควบคุมโรคตามแนวชายแดน เพราะแม้จะมีการให้การให้สิทธิ (คืนสิทธิ) พื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กับบุคคลที่มีปัญหาด้านสถานะและสิทธิ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 แต่ยังมีกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาความมั่นคงและทางราชการมีนโยบายดูแลเฉพาะจำนวน กว่า 1.5 ล้านคน ได้แก่ แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง 3 สัญชาติ ผู้หนีการสู้รบจากพม่า และกลุ่มหลบหนีเข้าเมืองอื่นๆ เป็นต้น ซึ่งส่งผลต่อการควบคุมโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำตามแนวชายแดน

ข้อเสนอเชิงนโยบายอีกประการหนุ่ง คือการจัดตั้งอาสาสมัครสาธารณสุขชายแดน (อสช.) โดยกลุ่มชาติพันธุ์ น่าจะเป็นอีกแนวทางในการลดปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสาธารณสุขของคนกลุ่มนี้ ทั้งด้านภาษา การทำงานเชิงรุกในพื้นที่ รวมถึงการเฝ้าระวังและควบคุมโรคต่างๆ

นอกจากนี้ข้อเสนอเชิงนโยบายจากผลการศึกษาครั้งนี้ เสนอให้มีการตีความมาตรา 5 ของ พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2545 ที่ระบุว่าผู้มีสิทธิต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น ว่าเป็นเช่นนั้นหรือไม่ เพราะที่ผ่านมายังไม่มีการหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อย่างเป็นทางการจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ผลการศึกษาและข้อเสนอเชิงนโยบายดังกล่าว อาจเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อก้าวต่อไปของกองทุนฯในทศวรรษที่ 2  เพื่อให้การดำเนินงานเกิดประโยชน์สูงสุดตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนเพื่อให้บริการด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ