ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภารกิจสำคัญประการหนึ่งของโรงพยาบาลตามแนวชายแดน คือความรับผิดชอบด้านมนุษยธรรมในการรักษาพยาบาลผู้ป่วยซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งล้วนมีฐานะยากจนไม่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลและไม่มีสิทธิในระบบประกันสุขภาพ ส่งผลปัญหาสภาพคล่องของโรงพยาบาลเหล่านี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้สิทธิ(คืนสิทธิ)ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ โดยตั้งกองทุนให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขให้กลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ตามมติค.ร.ม. 23 มีนาคม 2553 จึงช่วยลดภาระและคลี่คล่ยปัญหาที่เกิดขึ้นให้กับโรงพยาบาลชายแดนเหล่านี้

นพ.สุพัฒน์ สุขใจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน พื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมาร์ กล่าวถึงประโยชน์ที่ได้รับจากกองทุนฯนี้ว่า ประชากรในพื้นที่จ.แม่ฮ่องสอนมีปัญหาสถานะและสิทธิค่อนข้างมาก รวมแล้วประมาณ 3 หมื่นคน ในพื้นที่อ.ปางมะผ้า ประมาณ 5 พันคน ,อ.ปาย ประมาณ 5 พันคน ในขณะที่ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน มีประมาณ 1 หมื่นคน ถ้าผู้ป่วยต้องชำระค่ารักษาพยาบาลเองหรือโรงพยาบาลต้นสังกัดเรียกเก็บเองอาจจะไม่สามารถทำได้

“การบริหารจัดการทุนฯนี้ผมตอบแทนโรงพยาบาลใน จ.แม่ฮ่องสอน ได้เลยว่า ถ้าไม่มีงบประมาณหรือเงินช่วยเหลือจะเป็นภาระกับโรงพยาบาลค่อนข้างเยอะ ไม่เพียงแต่การให้บริการกับผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน แต่ยังสามารถนำงบไปเบิกจ่ายการทำงานล่วงเวลา เงินเดือนพนักงานจ้างในโรงพยาบาล รวมทั้งการซื้ออุปกรณ์บางชนิด กองทุนนี้ยังช่วยค่ายา ซึ่งโรงพยาบาลต้องจ่ายประมาณ 7 ล้านบาท รวมทั้งค่าห้องปฏิบัติการอีก 2 ล้านบาท หากไม่ได้เงินจากกองทุนนี้ก็อาจทำให้โรงพยาบาลเป็นหนี้” นพ.สุพัฒน์ ให้ความเห็น

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปางมะผ้า อธิบายอีกว่า กองทุนฯนี้ เกิดประโยชน์อย่างมาก เพราะงบประมาณที่ได้รับมานั้นคิดเป็นสัดส่วน 20-30 เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณโรงพยาบาล การได้กองทุนมาช่วยจึงแบ่งเบาภาระในกับโรงพยาบาลได้มาก

“ผู้ป่วยเองก็สามารถได้สิทธิรักษาเหมือนบัตรทอง ยกเว้นแต่จะมีการจ่ายเพิ่มเติมกรณีผ่าตัดหรือนอนห้องพิเศษ โรงพยาบาลต้นสังกัดที่ส่งตัวผู้ป่วยไปก็สามารถตามเก็บค่ารักษาได้ ในกรณีส่งตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลที่ใหญ่กว่า โรงพยาบาลปลายทางก็รับผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องกังวลว่าใครจะจ่ายค่ารักษาพยาบาลคนกลุ่มนี้” ผอ.รพ.ปางมะผ้า กล่าว

ด้าน นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก โรงพยาบาลชายแดนอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งต้องดูแลกับกลุ่มบุคคลไร้สถานะและสิทธิจำนวนมากก็เห็นว่า แม้มติครม. 23 มีนาคม 2553 จะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องสุขภาพซึ่งผลพลอยได้คือหน่วยงานราชการโรงพยาบาลของรัฐในพื้นที่จะได้ประโยชน์ได้เงินมาช่วยเหลือบ้าง เพราะว่าโรงพยาบาลต้องดูแลคนเหล่านี้ ชาวบ้านเหล่านี้อยู่แล้ว แต่จุดหมายปลายทางคือการมห้ความเป็นธรรมกับคนกลุ่มนี้

“ผมว่าจุดหมายปลายทางคือการให้ความเป็นธรรม คืนความเป็นธรรมให้กับชาวบ้านที่เขาอยู่มานาน เช่น ผมยกตัวอย่างชาวบ้านกะเหรี่ยงเลตองคุ(ชายแดนไทย-เมียนมาร์ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง) เขาอยู่เขตประเทศไทยนี่แหละ เมื่อก่อนอยู่ในเขตสยามประเทศตอนแบ่งกับเมียนมาร์เป็นกะเหรี่ยง พอแบ่งประเทศแล้วเขาอยู่ 2 ฟาก ฟากหนึ่งเมียนมา ก็ควรจะมีสัญชาติเมียนมาไป แต่ชาวบ้านกะเหรี่ยงที่อยู่ในไทยก็ควรได้สัญชาติไทยใช่ไหม แบบนี้แต่ว่าเขาคลอดลูกในป่าแล้วไม่ได้มาแจ้งเกิด เขาก็ไม่มีสัญชาติไทยทั้งที่อยู่มานมนานอย่างนี้เป็นต้น”

นพ.วรวิทย์ ยกตัวอย่างตนเอง ซึ่งเป็นคนเชื้อสายจีน บรรพบุรุษอพยพมาจากประเทศจีน แต่การอยู่ในเมืองทำให้ลูกหล่นที่เกิดในประเทศไทยสามารถไปแจ้งเกิดและมีสัญชาติไทยได้

“อากง อาม่าผมมาจากเมืองจีน ผมเป็นรุ่น 3 พอดีผมอยู่ในเมือง อยู่หลังอำเภอเราก็ไปแจ้งเกิดก็ได้เป็นสัญชาติไทยมา แต่คนเหล่านี้เขาไม่ได้มาแจ้งเกิด เพราะอยู่ไกล อยู่ในป่า เขาเลยไม่ได้สิทธิหลักประกันสุขภาพ กองทุนให้สิทธิฯถือเป็นจุดแก้ปัญหาเริ่มต้นแต่ระยะยาวคือการแก้ปัญหาสัญชาติให้เขา ทางกฎหมายเรียกว่าปัญหาสถานะบุคคล ถ้าได้สัญชาติมาก็ได้หลักประกันสุขภาพเองโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลชายแดนก็จะช่วยเหลือชาวบ้านในเรื่องสัญชาติด้วย เพราะถ้าได้สัญชาติก็จะได้สิทธิอย่างอื่นไปด้วย” นพ.วรวิทย์กล่าว

จะเห็นได้ว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมากองทุนให้สิทธิ(คืนสิทธิ)ฯ ได้ช่วยเหลือกกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะกว่า 8 แสนคน ให้ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข รวมทั้งการลดภาระค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลชายแดนที่ต้องให้ความช่วยเหลือแก่คนกลุ่มนี้ด้วยมนุษยธรรม ซึ่งหลังจากนี้ไป การดำเนินงานของกองทุนฯ ในการเข้าสู่ทศวรรษที่ 2 ยังมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงอีกหลายประเด็น