ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรคเสนอผลศึกษาลดจำนวนวันกักตัว มีความเป็นไปได้ 10 วันจากปัจจุบัน 14 วัน เหตุข้อมูลวิชาการและมีตัวอย่างจากหลายประเทศ เตรียมเสนอศบค.พิจารณา คาดนำร่องปท.เสี่ยงน้อย เช่น จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ออสเตรเลีย

เมื่อวันที่ 16 ต.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวเรื่องการศึกษาการลดระยะเวลากักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศไทย ว่า สำหรับมาตรการการกักตัวจำนวน 14 วัน นักท่องเที่ยวหลายคนอาจไม่อยากเข้ามา เนื่องจากทำให้ระยะเวลาในการอยู่ในประเทศไทยนานขึ้น และมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น จึงต้องมีมาตรการที่อำนวยความสะดวกตรงนี้ แต่ก็ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย ลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโควิดด้วย ที่ผ่านมาปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้ทางกรมควบคุมโรคไปดำเนินการศึกษา ซึ่งผลการศึกษาข้อมูลทางวิชาการ และข้อมูลจากหลายประเทศพบว่า ระยะเวลา 10 วัน กับ 14 วันไม่ได้มีความแตกต่างกันมากนัก อย่างไรก็ตาม ข้อมูลตรงนี้จะเสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบค.ไม่เกินเดือนต.ค.นี้ โดยจะเสนอศบค.ชุดเล็กก่อน คาดว่าภายในสัปดาห์หน้า

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กล่าวว่า สำหรับมาตรการกักกันโรคจำนวน 14 วันนั้น เป็นมาตรการที่นานาประเทศดำเนินการมาในช่วงเดือนก.พ. เป็นต้น เนื่องจากขณะนั้นมีข้อมูลความรู้ว่า ระยะฟักตัวโรคจนมีอาการไม่เกิน 14 วัน แต่หลังจากนั้นหลายประเทศก็เริ่มมีข้อมูลและเริ่มลดระยะเวลากักตัวลง แต่ยังเข้มมาตรการด้านความปลอดภัยเช่นเดิม อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทีมวิจัยสวิตเซอร์แลนด์มีการดำเนินการและติดตามผู้ที่ถูกกักตัว พบว่าการกักกัน 10 วัน กับ 14 วันความเสี่ยงไม่ต่างกันมาก โดยเริ่มแรกการกักตัวจำนวนวันมากจะช่วยได้ แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง คือ ประมาณวันที่ 10 หรือวันที่ 14 การป้องกันแพร่เชื้อไม่ค่อยเพิ่มขึ้น ดังนั้น ช่วงแรกมีประโยชน์ในการเพิ่มจำนวนวัน แต่ถึงจุดหนึ่งความเสี่ยงจึงไม่ต่างกันมาก

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า หลายประเทศเริ่มลดจำนวนวัน บางประเทศลดเหลือ 7 วันก็มี อย่าง ฝรั่งเศส และ เบลเยียม ซึ่งเบลเยียมนับตั้งแต่เดือนต.ค. ส่วนบางประเทศเหลือกักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศเหลือ 10 วัน คือ ฮังการี กักตัวผู้เดินทางเข้าประเทศ 10 วัน สำหรับผู้เดินทางมาจากทุกประเทศ สวิตเซอร์แลนด์ กักตัว 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค.เป็นต้นไป นอร์เวย์ กักตัว 10 วันที่บ้าน ไม่อนุญาตให้ออกจากบ้าน รวมทั้งไปทำงานหรือโรงเรียน เนเธอร์แลนด์ กักตัว 10 วัน ได้ที่บ้านหรือในที่พักชั่วคราว ส่วนลัตเวีย กักตัว 10 วัน ถ้ามาจากประเทศที่มีอัตราป่วยน้อยกว่า 16 ต่อแสนประชากร และสโลวีเนีย ก็ลดจำนวนเหลือกักตัว 10 วันเช่นกัน ขณะที่ประเทศอีกกลุ่มหนึ่งเป็นการกำหนดเงื่อนไขพิเศษ เช่น จำกัดประเทศที่มีผลตรวจ PCR ไม่พบเชื้อ เช่น ลักเซมเบิร์ก แอฟริกาใต้ โปรตุเกส ซึ่งจำนวนการกักตัวที่ลดลงของแต่ละประเทศก็จะขึ้นอยู่กับบริบท และความจำเป็นสถานการณ์ในประเทศนั้นๆ

“สำหรับข้อเสนอทางวิชาการในการปรับนโยบายกักกันคนเข้าประเทศไทยนั้น จากข้อมูลระบาดวิทยาได้สร้างแบบจำลองจากจำนวน 14 วัน เหลือ 10 วัน พบว่า มีควาเมสี่ยงใกล้เคียงกัน แต่ต้องมีมาตรการป้องกันความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นหากมีการลดจำนวนวันลง โดยมาตรการมีทั้งต้องเริ่มนำร่องกับประเทศที่ควบคุมโรคโควิด-19 ได้ดี เช่น ไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ในประเทศ หรือมีจำนวนน้อย ก่อนเดินทางตรวจหาเชื้อด้วยวิธี PCR 72 ชั่วโมง ถึงไทยตรวจพีซีอาร์ 2 ครั้ง และเมื่อกักกันครบ 10 วันแล้ว แนะนำให้สวมหน้ากากหลีกเลี่ยงสถานที่มีคนจำนวนมาก” นพ.โสภณ กล่าว และว่า หากสามารถดำเนินการดังกล่าวได้ก็จะลดค่าใช้จ่ายได้เกือบ 1 ใน 3 อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดจะนำเสนอ ศบค.เพื่อตัดสินใจต่อไป

ด้าน นพ.โอภาส กล่าวเพิ่มว่า สิ่งสำคัญคนไทยทุกคนยังต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า โดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะต้องสวมหน้ากากอนามัย 100% ส่วนการสวมเฟซชิลด์ ( Face Shield) นั้นไม่ได้ช่วยป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ หรือป้องกันการรับเชื้อโควิดแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการกำหนดเบื้องต้นหรือไม่ว่าจะเลือกประเทศใดเข้ามาก่อน นพ.โอภาส กล่าวว่า ยังไม่ได้กำหนด เพียงแต่ต้องเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงน้อย หรือไม่พบการติดเชื้อในประเทศนั้นๆ ซึ่งปัจจุบันก็พบเพิ่มขึ้น อย่างจีน ไต้หวัน ฮ่องกง ออสเตรเลีย หรือแม้กระทั่งเวียดนาม ลาว กัมพูชา ตัวเลขก็ลดลง แต่ทั้งหมดต้องมีการศึกษาข้อมูลตรงนี้อีกครั้ง ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะเป็นประเทศไหน แต่ต้องเป็นประเทศเสี่ยงน้อยเป็นสำคัญ