ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรมผู้ช่วยพยาบาลแห่งประเทศไทยเข้ายื่นหนังสือถึง “อนุทิน” ขอความช่วยเหลือบรรจุตำแหน่งข้าราชการ หลังเป็นลูกจ้าง พนักงานกระทรวงฯ มานาน 23 ปี

เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 8 ก.ค. ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ศูนย์ราชการฯ ชมรมผู้ช่วยพยาบาลแห่งประเทศไทย นำโดย น.ส.พลอยนภัส ธนากุลนันทกิจ ผู้ช่วยพยาบาลจากจ.แพร่ นางพวงพิศ จิตวัฒนศิริกุล ผู้ช่วยพยาบาลจากจ.บุรีรัมย์ พร้อมด้วยตัวแทนผู้ช่วยพยาบาลประมาณ 30-40 คน เดินทางยื่นหนังสือถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อร้องทุกข์พร้อมขอให้สนับสนุนการบรรจุกรณีพิเศษตำแหน่งผู้ช่วยพยาบาลเป็นข้าราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดย นายอนุทิน รับหนังสือดังกล่าวโดยมอบให้ทาง นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดสธ. และนพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดสธ. รับเรื่องเพื่อดำเนินการหาทางออกต่อไป

นางพวงพิศ กล่าวว่า พวกเราเป็นผู้ช่วยพยาบาล เป็นตัวแทนของผู้ช่วยพยาบาลของโรงพยาบาลทั่วประเทศจำนวนกว่า 2,400 คน ซึ่งปัจจุบันทำงานมานานเป็นสิบๆปี อย่างน้อยสุด 2 ปี ไปจนถึงนานสุด 23 ปี แต่ปัจจุบันยังไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ เป็นแค่พนักงานกระทรวงสาธารณสุข บางคนก็เป็นลูกจ้าง ซึ่งพวกตนทำงานด่านหน้าด้านโควิด-19 แต่ตำแหน่งดังกล่าวกลับไม่ได้อยู่ใน 24 สายงานที่ได้รับสิทธิการบรรจุข้าราชการในครั้งนี้ ทั้งที่ทำงานควบคู่แพทย์ พยาบาลมาตลอด

“พวกเราทำงานเคียงคู่กับพยาบาลมาตลอด พวกเราได้รับความเสี่ยงไม่แพ้ 24 สายงานที่ได้รับการบรรจุเลย แต่ตำแหน่งเรากลับถูกลืม พวกเราจึงอยากขอความเห็นใจให้ผู้บริหารเห็นใจ และรับรู้การมีอยู่ของพวกเรา เพราะตำแหน่งผู้ช่วยพยาบาล สภาการพยาบาลได้ให้การรองรับหลักสูตร สำนักงาน ก.พ.ได้รับรองเป็นบุคลากรสาธารณสุข เช่นเดียวกับบุคลากรที่ได้รับการบรรจุในสายวิชาชีพ ” นางพวงพิศ กล่าว

สำหรับหนังสือที่ยื่นนายอนุทิน นั้นยังได้แนบรายชื่อผู้ช่วยพยาบาลสังกัดทั่วประเทศ เรียกร้องขอความเห็นใจ ขอความอนุเคราะห์จากท่านรัฐมนตรี ดำเนินการผลักดันในตำแหน่งผู้ช่วยพยาบาลให้ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ ตามมติการอนุมัติตำแหน่งข้าราชการตั้งใหม่เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไป โดยระบุภาระงานของผู้ช่วยพยาบาลว่า เป็นอีกตำแหน่งที่มีภาระหน้าที่ในการทำงาน การดูแลและเป็นผู้ช่วยพยาบาลและทีมแพทย์ ทำงานปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย สัมผัสผู้ป่วย ซักประวัติ แยกโรคดูแลคนไข้ก่อนได้รับการตรวจ ถือเป็นบุคคลด่านหน้าที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลรวมทั้งทำงานร่วมกับสายงานอื่นๆ ของงานด้านสาธารณสุข ฯลฯ