ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

พรุ่งนี้ 5 พ.ค. 2563 เครือข่ายบุคลากรสาธารณสุข เตรียมยื่นหนังสือถึง “นายกรัฐมนตรี” ขอเยียวยาคืนเวลาราชการที่เสียไป ของกลุ่ม “อดีตพนักงานของรัฐ” มากกว่า 24,000 คน หลังได้บรรจุเป็นข้าราชการ แต่กลับไม่ถูกนับรวมเวลาปฏิบัติงานตั้งแต่เริ่มต้น พร้อมเรียกร้องความเป็นธรรม แก้ไขวิกฤตเงินเดือนเหลื่อมล้ำ ในระบบเงินเดือนกระทรวงสาธารณสุข

วันนี้ (4 พ.ค. 2563) นางสาวปุญญิศา วัจฉละอนันท์ เลขาธิการสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย และผู้ประสานงานเครือข่ายบุคลากรสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์สำนักข่าว HFocus ระบุว่า ในวันพรุ่งนี้ 5 พ.ค. 2563 เครือข่ายบุคลากรสาธารณสุข จะเดินทางไปทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมมากกว่า 24,000 คน ประกอบด้วยวิชาชีพและบุคลากรด้านต่างๆ อาทิ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ นักวิชาการสาธารณสุข แพทย์แผนไทย เป็นต้น

เพื่อขอให้ 1. เยียวยาคืนเวลาราชการที่เสียไป เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ โดยขอคืนสิทธิ์ให้นับเวลาราชการตั้งแต่เริ่มต้นปฏิบัติงาน กับกลุ่มที่เป็นอดีต “พนักงานของรัฐ” ช่วงระหว่างปี 2543 - 2546 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีในสมัยนั้น โดยภายหลังในปี 2547 ได้มีการปรับแก้ระเบียบและบรรจุพนักงานกลุ่มนี้เป็นข้าราชการ แต่กลับพบว่าระยะเวลาที่ปฏิบัติงานกว่า 4 ปี ก่อนการบรรจุไม่ถูกนับรวมในอายุราชการด้วย ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมและกระทบต่อขวัญกำลังใจผู้ปฏิบัติงาน

และ 2. แก้ไขวิกฤตเงินเดือนเหลื่อมล้ำอย่างไม่เป็นธรรม ในระบบเงินเดือนกระทรวงสาธารณสุข เนื่องบุคลากรจบใหม่หลังปี 2547 เป็นต้นมา ได้รับเงินเดือนสูงกว่าบุคลากรรุ่นพี่ที่ติดระเบียบให้เป็นพนักงานของรัฐ ซึ่งต่อมาตำแหน่งดังกล่าวได้ถูกยกเลิก และคนกลุ่มนี้บรรจุเป็นข้าราชการตามข้อมูลข้างต้น แต่พบว่าส่วนต่างเงินเดือนค่อนข้างสูง โดยในบางวิชาชีพนั้น ห่างกันถึง 7,000 - 8,000 บาทเลยทีเดียว ซึ่งปัจจุบันในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 กลุ่มรุ่นพี่เหล่านี้ถือเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย ถ้าเป็นกลุ่มแพทย์ส่วนใหญ่ตอนนี้ก็เป็น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือผู้อำนวยการโรงพยาบาล ส่วนพยาบาลวิชาชีพ ส่วนใหญ่ต่างมีประสบการณ์การป้องกันโรคติดเชื้อ โดยเฉพาะการปฏิบัติงานในห้อง ICU ขณะที่วิชาชีพอื่นๆ ต่างก็เป็นผู้นำในการป้องกัน ดูแล สู้กับการระบาดโควิด-19 ในครั้งนี้

“ทั้งสองประเด็นข้อเรียกร้อง ถือเป็นปัญหาที่กระทบต่อขวัญกำลังใจอย่างมาก โดยประเด็นแรกเรื่องขอให้นับรวมอายุราชการ ตั้งแต่เริ่มต้นปฏิบัติงานนั้น เป็นสิ่งที่บุคลากรที่เรียนจบในช่วงปี 2543-2546 ต้องแบกรับความไม่เสมอภาค เนื่องจากกลุ่มนักเรียนทุนปกติแล้วเมื่อเรียนจบตามหลักสูตร จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ แต่กลายเป็นว่าในสมัยนั้น มติ ครม. ให้เซ็นสัญญาเป็นพนักงานของรัฐ ซึ่งแม้ในรายละเอียดบอกว่าจะได้รับเงินเดือนสูงกว่า แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ได้ตามนั้น แต่ต่อมาภายหลังในปี 2547 มีการยกเลิกตำแหน่งนี้ แต่เมื่อได้รับบรรจุเป็นข้าราชการ กลับพบว่าระยะเวลาทำงานก่อนหน้านี้ กลับไม่ถูกนับรวมเข้ามาด้วย และปัจจุบันแม้จะมีการเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง แต่ยังก็ยังไม่เป็นผล” นางสาวปุญญิศา กล่าว