ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภาเภสัชกรรม ผนึกองค์กรเครือข่ายวิชาชีพเภสัชกรรม รณรงค์ให้ประชาชนไทย “ใช้ยาและสมุนไพรอย่างไรให้ปลอดภัย…ปรึกษาเภสัชกร” ระบุการใช้สมุนไพรร่วมกับยาแผนปัจจุบันนั้น สมุนไพรบางอย่างใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบันได้ แต่ควรแจ้งข้อมูลให้กับแพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้งว่ากำลังใช้สมุนไพรชนิดใดอยู่ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด เพราะยาแผนปัจจุบันกับยาสมุนไพรบางชนิดอาจไปออกฤทธิ์ขัดกันหรือเสริมฤทธิ์กัน ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายได้

ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี

ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี นายกสภาเภสัชกรรม เปิดเผยว่า ปัจจุบันได้มีการนำยาสมุนไพรมาใช้เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาโรคมากขึ้น โดยมีความเชื่อที่ว่าสมุนไพรมาจากธรรมชาติ ดีต่อร่างกาย ไม่ตกค้าง และไม่ก่อให้เกิดพิษ อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นยาแผนปัจจุบันหรือยาสมุนไพร จะมีทั้งประโยชน์ในการรักษาโรค แต่ก็อาจก่อให้เกิดโทษได้ถ้าใช้ไม่ถูกต้อง ใช้ไม่ถูกกับอาการ ไม่ถูกกับโรค หรือ ปริมาณขนาดที่ใช้ไม่เหมาะสม ก็อาจเกิดอันตรายที่คาดไม่ถึงได้เช่นกัน ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการรักษา ผู้ใช้ยาควรยึดหลัก 5 ถูก คือ 1. ถูกคน 2. ถูกโรค 3. ถูกขนาด 4. ถูกวิธี และ 5. ถูกเวลา

โดยก่อนใช้ยาหรือยาสมุนไพรทุกครั้ง ต้องอ่านฉลากยาให้เข้าใจ อ่านให้ละเอียด และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดเพื่อการใช้ยาได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับยาต่อเนื่อง เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือ ไขมันในเลือดสูง หากจำเป็นต้องใช้ยาสมุนไพรร่วมกับยาแผนปัจจุบัน ก็ควรที่จะปรึกษาเภสัชกร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุดเพราะบางครั้ง ยากับสมุนไพรอาจมีผลกระทบกันภายในร่างกาย ส่งผลให้เกิดการเพิ่มหรือลดผลของการรักษา ทั้งยังอาจเพิ่มอาการไม่พึงประสงค์ ผลข้างเคียงที่ไม่เป็นประโยชน์ หรือก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้

ทั้งนี้ ในปัจจุบันรัฐบาลได้ส่งเสริมให้มีการใช้สมุนไพรเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรค โดยได้รับรองและบรรจุยาสมุนไพรไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ 24 รายการ อาทิ

- กลุ่มยารักษาอาการของระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ ยาขมิ้นชัน ยาขิง (ขับลม บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ) ยากล้วย ยาฟ้าทะลายโจร (บรรเทาอาการท้องเสีย) ยาชุมเห็ดเทศ ยามะขามแขก (บรรเทาอาการท้องผูก)

- กลุ่มยารักษาอาการของระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ยาฟ้าทะลายโจร

- กลุ่มยารักษาแผลในกระเพาะอาหาร ได้แก่ ยากล้วย

- กลุ่มยาบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน ได้แก่ ยาขิง

- กลุ่มยารักษาอาการทางระบบผิวหนัง ได้แก่ ยาทิงเจอร์ทองพันชั่ง ยาทิงเจอร์พลู ยาบัวบกครีม ยาเปลือกมังคุด ยาพญายอครีม ยาว่านหางจระเข้เจล ยาเมล็ดน้อยหน่าครีม

- กลุ่มยารักษาอาการทางกล้ามเนื้อและกระดูก ซึ่งมีทั้งยารับประทาน ได้แก่ ยาเถาวัลย์เปรียง ยาสารสกัดจากเถาวัลย์เปรียง และยาใช้ภายนอก ได้แก่ ยาพริก ยาไพล ยาน้ำมันไพล

- กลุ่มยารักษาอาการระบบทางเดินปัสสาวะ ได้แก่ ยากระเจี๊ยบแดง ยาหญ้าหนวดแมว

- กลุ่มยาแก้ไข้ แก้ร้อนใน ได้แก่ ยาบัวบก ยามะระขี้นก ยารางจืด ยาหญ้าปักกิ่ง

- ยาถอนพิษเบื่อเมา ได้แก่ ยารางจืด

- ยาลดความอยากบุหรี่ ได้แก่ ยาหญ้าดอกขาว

ภญ.จันทิมา โยธาพิทักษ์ ผู้ช่วยนายกสภาเภสัชกรรม ฝ่ายวิชาการ กล่าวว่า การใช้สมุนไพรร่วมกับยาแผนปัจจุบันนั้น บางอย่างสามารถใช้ร่วมกันได้ แต่ควรแจ้งข้อมูลให้กับแพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้งว่ากำลังใช้สมุนไพรชนิดใดอยู่ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด เพราะยาแผนปัจจุบันกับยาสมุนไพรบางชนิดอาจไปออกฤทธิ์ขัดกันหรือเสริมฤทธิ์กัน ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงวัยที่มีโรคเรื้อรัง โรคประจำตัวซึ่งจะมีการใช้ยา วิตามิน สมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมากขึ้นตามไปด้วย ส่วนใหญ่ผู้สูงวัยที่มีโรคเรื้อรังมักใช้ยามากกว่า 1 ชนิด และต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่อง เช่น โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือดตีบ อัมพาต-อัมพฤกษ์ ข้อเข่าเสื่อม และโรคมะเร็ง เป็นต้น ดังนั้น การใช้ยาแผนปัจจุบันกับสมุนไพรร่วมกัน อาจส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ เช่น

มะขามแขก เกิดปฏิกิริยากับยาขับปัสสาวะ เพิ่มการขับถ่ายธาตุโพแทสเซียมจนเกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ อาจเกิดอาการกล้ามเนื้อล้า ตะคริว และหัวใจเต้นผิดจังหวะได้

ขิง แปะก๊วย เกิดปฏิกิริยากับยาต้านการแข็งตัวของเลือด และยาลดการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด ทำให้เลือดเหลวและแข็งตัวช้าเกินไป ถ้าเกิดมีแผลเลือดออก จะเสียเลือดมาก

ขมิ้นชัน เกิดปฏิกิริยากับยารักษามะเร็งทำให้ฤทธิ์ต้านมะเร็งของยาลดลง

โสม เกิดปฏิกิริยากับยาที่ใช้รักษามะเร็ง ทำให้เพิ่มอาการข้างเคียงไม่พึงประสงค์ของยา เช่น พิษต่อตับ

ในบางรายการ สมุนไพรจำพวกกระเทียม มะระขี้นก หรือ กระเจี๊ยบแดง ร่วมกับยารักษาโรค อาจเสริมฤทธิ์กัน ทำให้ความดันโลหิต หรือน้ำตาลในเลือดต่ำกว่าปกติได้ ผู้ป่วยอาจมีอาการวูบ หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ มือสั่น ใจสั่น ได้ เป็นต้น

“สมุนไพรนอกจากจะมีประโยชน์ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บแล้ว ในทางตรงกันข้าม หากใช้ไม่ถูกต้องอาจมีโทษและอันตรายได้ เช่น โรคไขมันในเลือดสูง เบาหวาน และความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาด ทำได้เพียงบรรเทาอาการและป้องกันโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น และหากเป็นโรคที่ยังพิสูจน์ไม่ได้แน่ชัดว่า รักษาด้วยสมุนไพรแล้วได้ผลดี ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้สมุนไพรนั้น และควรรักษาด้วยยาแผนปัจจุบันไปก่อน” ภญ.จันทิมา กล่าว

ฉะนั้นสิ่งสำคัญในการใช้ยาและยาสมุนไพรคือ การอ่านฉลากยาให้ละเอียดถี่ถ้วน เพื่อให้สามารถใช้ยาได้อย่างถูกคน ถูกโรค ถูกขนาด ถูกทางหรือถูกวิธี และถูกเวลา ควรเลือกซื้อยาสมุนไพรจากร้านยาคุณภาพที่มีใบอนุญาตและมีเภสัชกรประจำ และสินค้านั้นต้องมีเลขทะเบียนตำรับยา บรรจุอยู่ในสภาพที่ดี ไม่ชำรุด นอกจากนี้ก่อนซื้อยาสมุนไพร ควรดูฉลากยาทุกครั้ง เช่น ชื่อยา เลขทะเบียนตำรับยา อย. ปริมาณของยาสมุนไพรที่บรรจุ เลขที่ หรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิตชื่อผู้ผลิต และสถานที่ผลิตยา วัน เดือน ปี ที่ผลิตและหมดอายุของยา ไม่ควรซื้อยาสมุนไพรจากแผงขายตามท้องตลาด หรือแบบแบ่งขาย เพราะอาจเสี่ยงที่เป็นยาสมุนไพรที่ไม่ได้มาตรฐาน มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลินทรีย์ ตามมาด้วยผลเสียต่อร่างกาย ดังนั้นหากมีปัญหาเรื่องยาและสมุนไพร วางใจเภสัชกร