ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

งานวิจัย สวรส. ระบุ “บทเรียนกระจายอำนาจ 15 ปี ท้องถิ่นทำงานส่งเสริมป้องกันได้ดี ขณะที่ข้อจำกัดการรักษาพยาบาลและส่วนร่วมจากนโยบายยังมีอยู่ พร้อมชี้ภารกิจส่งเสริมสุขภาพเหมาะกับท้องถิ่นมีโอกาสสำเร็จ ทั้งนี้ เสนอส่งมอบงานวิจัยต่อคณะกรรมการปฏิรูปสาธารณสุขฯ ใช้แก้ปัญหาสุขภาพพื้นที่ 

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างความร่วมมือในการจัดการปัญหาสาธารณสุขระดับพื้นที่ เปิดเวทีอภิปราย “การกระจายอำนาจ: ท้องถิ่นตัดสินใจแก้ไขปัญหาชุมชน”

จากพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ได้กำหนดให้มีแผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่ อปท. เพื่อเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนการกระจายอำนาจอย่างเป็นรูปธรรม โดย การถ่ายโอนสถานีอนามัย/รพ.สต. ในสังกัด สธ. ให้แก่ อปท. นับเป็นรูปแบบหนึ่งของการกระจายอำนาจทางด้านสุขภาพในช่วงแรก ซึ่งในราวปี 2550 มีการถ่ายโอนฯ เกิดขึ้น 22 แห่งทั่วประเทศ จากนั้น สวรส.ได้รับมอบให้ทำการวิจัยประเมินผลแผนการกระจายอำนาจด้านสุขภาพให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ผศ.จรวยพร ศรีศศลักษณ์

ผศ.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวถึงผลการศึกษาในภาพรวมพบว่า การถ่ายโอนอำนาจ ทรัพยากรด้านคน เงิน ของ และการบริหารจัดการงานด้านการส่งเสริมคุณภาพ การป้องกันควบคุมโรค/ฟื้นฟู เป็นไปได้พอสมควร แต่ยังมีข้อจำกัดด้านการรักษาพยาบาลที่ยังต้องดำเนินการปรับปรุงประสิทธิภาพต่อไป รวมไปถึงการมีส่วนร่วมในระดับนโยบายทั้งทางสนับสนุนและคัดค้าน ส่วนบทเรียนการจัดบริการด้านสุขภาพในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ท้องถิ่นสามารถจัดบริการสาธารณะเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนได้หลากหลาย เช่น การให้บริการรักษาพยาบาลเบื้องต้น การตรวจคัดกรองสุขภาพเบื้องต้น ที่เห็นได้ชัดเจนคือ งานป้องกันควบคุมโรคและงานส่งเสริมสุขภาพ ท้องถิ่นสามารถทำได้ดี ขณะที่บางพื้นที่ได้จัดบริการเฉพาะทางด้วย อาทิ บริการด้านแพทย์แผนไทย ทั้งนี้ ยังพบว่าในหลายๆ พื้นที่ได้มีการเปิดบรรจุแพทย์ พยาบาล เข้ามาทำงานประจำในศูนย์บริการสาธารณสุขของท้องถิ่น

“อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีวิธีการกระจายอำนาจด้านสุขภาพหลายรูปแบบ เช่น การออกนอกระบบของ รพ.บ้านแพ้ว หรือการเป็นโรงพยาบาลองค์การมหาชน การจัดตั้ง 13 เขตบริการสุขภาพ เป็นต้น ดังนั้นการถ่ายโอนภารกิจฯ สู่ อปท. ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการกระจายอำนาจ จะต้องอาศัยความพร้อมของพื้นที่ ประกอบกับมีการปรับกระบวนทัศน์ที่พร้อมรับภารกิจทางด้านสุขภาพแล้วเป็นสำคัญ”

ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์

ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ผู้ศึกษาวิจัยเรื่องบทบาท อปท. และข้อเสนอเชิงนโยบายเรื่องการกระจายอำนาจด้านการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า สุขภาพไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านสุขภาพเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงปัจจัยจากมิติต่างๆ เช่น ด้านสันติสุข ที่อยู่อาศัย การศึกษา อาหาร รายได้ สิ่งแวดล้อม เป็นต้น ดังนั้นการทำงานสร้างเสริมสุขภาพจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคส่วนอื่นๆ ร่วมด้วย ผลจากการศึกษาท้องถิ่นกับการสร้างเสริมงานสาธารณสุข พบว่ามีรูปธรรมที่ค่อยๆ ชัดเจนขึ้น เช่น การปรับปรุงตลาดสดให้ถูกสุขลักษณะ การพัฒนาเด็กเล็ก การจัดหานม มีทุนอาหารกลางวันเด็กในโรงเรียน ลานกีฬา การปรับสภาพบ้านคนพิการ เป็นต้น

“ข้อเสนอจากการศึกษา ระบุว่า การถ่ายโอนภารกิจการส่งเสริมสุขภาพสู่ อบต. เป็นเรื่องที่เหมาะสมกับบทบาทและมีโอกาสประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ ส่วนกลางควรกำหนดเนื้องาน ขั้นตอน และวิธีการถ่ายโอนที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ขณะที่นักวิชาการสาธารณสุขในทุกระดับ ควรได้รับการพัฒนาความรู้ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับเครือข่ายสุขภาพระดับชุมชน” ทพญ.ศิริวรรณ กล่าว

นายมโน มณีฉาย

นายมโน มณีฉาย สาธารณสุขอำเภอโคกสำโรง จ.ลพบุรี ผู้ศึกษาวิจัยเรื่องภารกิจและกิจกรรมการดูแลสุขภาพของผู้ให้บริการภาครัฐในระดับตำบล กล่าวว่า จากการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล 383 ตำบล ได้จำแนกภารกิจการดูแลสุขภาพที่มีความเกี่ยวข้องกับ รพ.สต. และ อบต. แบ่งเป็น

1.การรักษาพยาบาลและการให้คำปรึกษา 319 กิจกรรม เช่น ให้คำปรึกษารายกลุ่ม เรื่องการติดเชื้อ HIV เรื่องวัณโรค คัดกรองประชากรเพื่อค้นหาผู้ป่วยรายใหม่ ผ่าตัดเล็ก เย็บแผล ฯลฯ

2.การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรคและการคุ้มครองผู้บริโภค 136 กิจกรรม เช่น จำแนกประเภทพฤติกรรมสุขภาพที่สอดคล้องกับปัญหาสาธารณสุข จัดระบบการเฝ้าระวังภาวะสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่ม ป้องกันโรคติดต่อในชุมชน ส่งเสริมสุขภาพกลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ

3.การสนับสนุนงานสาธารณสุขและอนามัยสิ่งแวดล้อม 124 กิจกรรม เช่น ช่วยเหลือผู้ถูกทอดทิ้งในชุมชน สนับสนุนงบประมาณในการควบคุมโรคไข้เลือดออก สนับสนุนงบประมาณในการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ตรวจรับรองความพิการ 6 ประเภท ประเมินสิ่งแวดล้อมที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ ฯลฯ

ภารกิจที่มีจำนวนมากหากจะมีการถ่ายโอนภารกิจด้านสุขภาพแก่ อปท. งานวิจัยได้ชี้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาไว้ คือ ส่วนกลางควรมีการจัดทำคู่มือ/แนวทางการดำเนินงานกิจกรรมการดูแลสุขภาพให้กับ รพ.สต.ที่จะถ่ายโอนไปท้องถิ่น การพัฒนาองค์ความรู้และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบด้านการดูแลสุขภาพประชาชนทั้งระดับนโยบาย และผู้ปฏิบัติในพื้นที่ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสามารถนำไปดำเนินการได้ รวมทั้ง การกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบการจัดกิจกรรมการดูแลสุขภาพโดยหน่วยงานภาครัฐระดับตำบลให้ชัดเจน

นอกจากนี้ ในที่ประชุมผู้แทนจากภาคท้องถิ่น ได้เสนอว่า แม้วันนี้ภาคท้องถิ่นจะยังไม่เก่งเทียบเท่าหน่วยงานด้านสาธารณสุขโดยตรง แต่ภาคท้องถิ่นก็ยังเชื่อมั่นในเรื่องของความเข้มแข็งในงานสร้างเสริมสุขภาพ ดังนั้นสิ่งสำคัญก็คือ จะมีทางในการเสริมบทบาทงานสาธารณสุขซึ่งกันและกันได้อย่างไร เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันคือคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน พร้อมเสนอว่างานวิจัยข้างต้น ควรส่งมอบให้กับคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปด้านสาธารณสุข เพื่อใช้เป็นข้อมูลพิจารณาในงานสาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพระดับพื้นที่ด้วย ส่วน อปท. พร้อมจะรับการถ่ายโอน รพ.สต. จาก สธ. หรือไม่นั้น ก็ต้องขึ้นอยู่ที่ความพร้อมของแต่ละพื้นที่

ข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สธ. ระบุว่า ปัจจุบันมีดำเนินการถ่ายโอนสถานีอนามัย/รพ.สต. แก่ อปท. แล้วจำนวน 50 แห่ง และอยู่ระหว่างการเตรียมที่จะถ่ายโอนฯ ในเร็วๆ นี้อีก 3 แห่ง รวมเป็น 53 แห่ง คือ รพ.สต.หินดาต อ.ปางศิลาทอง จ.กำแพงเพชร, รพ.สต.บ้านเขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี และ รพ.สต.บางน้ำเชี่ยว อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี