ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกสมาคมโรคเบาหวาน ระบุ ไทยควบคุมเบาหวานในเกณฑ์ดีแต่จำเป็นต้องให้ความรู้ผู้ป่วยมากขึ้น ยืนยันยาบัญชียาหลักควบคู่การปฏิบัติตัวที่เหมาะสมช่วยคนไข้ได้

ศ.พญ.วรรณี นิธิยานันท์

ศ.พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เปิดเผยในเวทีเสวนาหัวข้อ “แนวโน้มผลสัมฤทธิ์หลักประกันสุขภาพจากการสำรวจสุขภาพคนไทยโดยการตรวจร่างกาย” ซึ่งอยู่ภายใต้การประชุมวิชาการระดับชาติด้านหลักประกันสุขภาพของประเทศไทย เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2559 ตอนหนึ่งว่า หากพิจารณาข้อมูลผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยด้วยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 (Thai Nation Health Examination Survey: NHES) จะพบว่าผู้ป่วยสามารถควบคุมภาวะเบาหวานได้อยู่ในเกณฑ์ดี คือจากผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด 4.7 ล้านคน มีผู้ที่รู้ว่าตัวเองป่วย 60% หรือประมาณ 2.7 ล้านคน ในจำนวนนี้มีถึง 40% ที่สามารถควบคุมภาวะได้

นอกจากนี้ หากพิจารณาภาพรวมตามข้อมูลที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้สำรวจ จะพบว่ามีผู้ป่วย 34-35% ของผู้ป่วยที่รู้ตัวว่าป่วยเป็นเบาหวาน ที่สามารถควบคุมภาวะเบาหวานได้ในเกณฑ์ที่น่าจะปลอดภัย โดยโอกาสที่เกิดโรคแทรกซ้อนค่อนข้างน้อยลง อย่างไรก็ตามหากเทียบเคียงกับประเทศที่ดำเนินการควบคุมภาวะเบาหวานได้เป็นอย่างดี จะพบว่าประเทศเหล่านั้นสามารถควบคุมได้กว่า 50% ของผู้ที่รู้ตัวว่ากำลังป่วย

ศ.พญ.วรรณี กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ป่วยเบาหวานไม่ค่อยมีความรู้ด้านการดูแลโรค ทั้งที่การทำให้ผู้ป่วยมีความรู้และสามารถปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ฉะนั้นสิ่งที่ต้องพัฒนาหลังจากนี้คือการทำให้ผู้ป่วยมีความรู้ในการดูแลตัวเองมากขึ้น ทั้งเรื่องอาหาร กิจกรรมทางกาย ฯลฯ

“แม้ว่าในเรื่องยาอาจจะมีข้อจำกัดบ้าง แต่หากใช้ยาในบัญชียาหลักควบคู่กับการปฏิบัติตัวที่เหมาะสมก็จะสามารถควบคุมภาวะเบาหวานได้อย่างแน่นอน แต่ปัญหาตอนนี้คือประชาชนไม่มีความรู้ แม้ว่า สปสช.จะเริ่มทำเรื่องนี้บ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่ถึงขั้นที่ทำให้ผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ซึ่งหากมองในมิติของการรักษาแล้ว การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเป็นสิ่งเดียวกับการส่งเสริมป้องกันโรค คือถ้าประชาชนมีความรู้มากเพียงพอโอกาสที่จะเกิดโรคก็ลดน้อยลง” ศ.พญ.วรรณี กล่าว

ศ.พญ.วรรณี กล่าวอีกว่า ทุกวันนี้ประชาชนป่วยเป็นโรคมากขึ้นจาก 3 ปัจจัย ได้แก่ 1.คนอายุยืนมากขึ้นจากวิวัฒนาการและเทคโนโลยีต่างๆ 2.ปัจจัยเสี่ยงของโรคไม่ได้ลดน้อยลง 3.การบริโภคอาหารคุณภาพไม่ดีในปริมาณที่มากเกิน ซึ่งเป็นตัวเร่งสำคัญให้เกิดโรค ยืนยันว่าหากสามารถดูแลสุขภาพของประชาชนให้ดี ไม่ว่าจะเป็นการรักษาหรือการป้องกันก็จะไม่มีปัญหาแต่อย่างใด