ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ นำ 15,000 รายชื่อยื่นรองประธาน สนช.ขอแก้ พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม ให้คนนอกเป็นกรรมการแพทยสภา 50% ลดจำนวนกรรมการ ผู้บริหารต้องไม่มีประโยชน์ทับซ้อนสถานพยาบาลเอกชน อ้างไม่ได้ความเป็นธรรม ถูกซ้ำเติมค่ารักษาแพงเกินจริง จี้นายกฯ ใช้อำนาจระงับเลือกตั้ง ด้าน “สุรชัย” ชี้แพทยสภาดูจริยธรรมไม่น่าจะเกี่ยว ระบุร่าง พ.ร.บ.สถานพยาบาลฯ ที่กำลังทำอยู่น่าจะตรงปัญหากว่า

เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า วันนี้ (29 ก.ย.) ที่รัฐสภา เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์กว่า 20 คน นำโดยนางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายฯ ได้นำรายชื่อประชาชน 15,000 รายชื่อ เข้ายื่นต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 เพื่อขอให้แก้ไข พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525

โดยนางปรียนันท์ กล่าวว่า ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมและถูกซ้ำเติมจากค่ารักษาพยาบาลที่แพงเกินจริง หากแพทยสภามีความโปร่งใส นอกจากจะลดความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยลงได้ จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาค่ารักษาพยาบาลที่แพง ทางกลุ่มจึงของเสนอให้มีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยให้ประชาชนเข้าร่วมไปเป็นกรรมการในแพทยสภาในสัดส่วน 50 ต่อ 50 ลดจำนวนคณะกรรมการจากปัจจุบันที่มีอยู่ 56 คนลงเพื่อให้เกิดความคล่องตัว และกำหนดให้กรรมการดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระๆ ละ 2 ปี

รวมทั้งกำหนดให้ตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง เช่น นายกแพทยสภา เลขาธิการ อุปนายก ต้องไม่เป็นผู้มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับธุรกิจสถานพยาบาลเอกชน

ทั้งนี้ การเลือกตั้งกรรมการแพทยสภาที่จะมีขึ้นต้นปี 2560 นี้เชื่อว่ากรรมการชุดเดิมจะกลับมาเป็นอีกทั้งที่อยู่ในตำแหน่ง 10-25 ปี จึงหวังว่าจะมีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และเครือข่ายขอเรียกร้องให้นายกฯ ใช้อำนาจ คสช.ระงับการเลือกตั้งคณะกรรมการแพทยสภาออกไปก่อน และแต่งตั้งบุคคลที่มีความโปร่งใสเข้าทำหน้าที่แทน หรือให้มีภาคประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม

นายสุรชัยกล่าวว่า แพทยสภามีหน้าที่ควบคุมจรรยาบรรณแพทย์ ซึ่งไม่น่าเกี่ยวข้อง แต่ขณะนี้ สนช.กำลังพิจารณาร่าง พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. ... ที่สาระสำคัญในมาตรา 1 ให้มีคณะกรรมการควบคุมสถานพยาบาล ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ดูแล กำหนดราคา คุณภาพ และระบบ ดูมาตรฐานการบริการ ซึ่งในคณะกรรมการชุดนี้มีคนในกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ด้วย รวมทั้งกำหนดให้สถานพยาบาลแจ้งราคารักษาพยาบาล ซึ่งตนเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีความสอดคล้องกับปัญหาของเครือข่าย

อย่างไรก็ตาม หากเห็นว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.เวชกรรม พ.ศ. 2525 ก็จะพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ หาก สนช.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็จะเชิญเครือข่ายเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งระบบสาธารณสุข การบริการทางการแพทย์ต้องไม่แพง ทำให้ประชาชนในทุกระดับเข้าถึงการบริการได้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ล่ารายชื่อปฏิรูป ‘แพทยสภา’ ดันแก้ กม. ‘เพิ่มคนนอก-กก.เป็นได้ไม่เกิน 2 วาระ’

อดีตอธิการ มข.หนุนปฏิรูปแพทยสภาเป็นที่พึ่งประชาชน ไม่ใช่แค่สหภาพแรงงานหมอ

แพทยสภาไม่จำกัดวาระ กก. เพื่อทำงานต่อเนื่อง ทั้งไม่มีอำนาจล้นแบบ ปธน.

‘หมอธีระ’ ค้านข้อเสนอคนนอกนั่งกรรมการแพทยสภา ชี้เป็นข้อเสนอสุดโต่ง

หมอล่ารายชื่อ ค้านข้อเสนอแก้กฎหมาย เพิ่มคนนอกเป็น กก.แพทยสภา

แนะควรจำกัดวาระดำรงตำแหน่ง กก.แพทยสภา แก้ปัญหาผูกขาด

‘ปรียนันท์’ เตรียมยื่น 1.5 หมื่นรายชื่อถึง สนช. 29 ก.ย.นี้ รื้อใหญ่ ‘แพทยสภา’

ยืนยันแพทยสภาเกือบทั่วทั้งโลกไม่มีคนนอกเป็นกรรมการ