ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมอนามัย ชี้ ปัญหาฟันผุทำเด็กไทยแคระแกร็น พัฒนาการล่าช้า แนะพ่อแม่ดูแลให้ลูกแปรงฟันเริ่มตั้งแต่ฟันซี่แรก ด้วยแปรงสีฟันมาตรฐานกรมอนามัย

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2559 ณ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวภายหลังเป็นประธานการแถลงข่าวโครงการ“คุณภาพแปรงสีฟันเด็กและการส่งเสริมอนามัยช่องปากของเด็กในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก” ว่า โรคและความผิดปกติในช่องปากของเด็กเล็กมีหลายประการ แต่ปัญหาที่เด่นชัดที่สุดคือโรคฟันผุ ซึ่งพบได้ตั้งแต่อายุ 9 เดือนและผุมากขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงอายุ 1-3 ขวบ จากข้อมูลการสำรวจสถานการณ์สุขภาพช่องปากคนไทยครั้งล่าสุดปี 2555 พบว่าเด็กอายุ 3 ปี มีปัญหาฟันผุร้อยละ 51.7 ผุเฉลี่ย 2.7 ซี่/คน ในขณะที่เด็กอายุ 5 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่อยู่ในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลมีปัญหาฟันผุถึงร้อยละ 78.5 โดยมีฟันผุเฉลี่ย 4.4 ซี่/คน

การที่เด็กมีปัญหาฟันผุแม้จะไม่อันตรายถึงแก่ชีวิตแต่ก็ทำให้เด็กเจ็บปวดทรมาน เสียสุขภาพ และยังส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก และยังพบอีกว่าการมีฟันผุหลายซี่ในปากมีความสัมพันธ์กับภาวะแคระแกร็นของเด็ก การสูญเสียฟันน้ำนมไปก่อนกำหนด ทำให้เด็กรับประทานอาหารลำบาก เคี้ยวไม่สะดวก และเด็กที่มีฟันน้ำนมผุมากจะมีแนวโน้มว่าฟันแท้จะผุมากขึ้นเช่นกัน เมื่อไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที โรคจะลุกลามและสูญเสียฟันในที่สุด

โรคฟันผุในเด็กเล็กจึงเป็นปัญหาสุขภาพที่ผู้ปกครองต้องใส่ใจและดูแลอย่างใกล้ชิด ต้องไม่ละเลยการ ทำความสะอาดช่องปากให้เด็ก สอนเด็กให้เรียนรู้เรื่องการแปรงฟัน เริ่มตั้งแต่ฟันซี่แรกขึ้น เพื่อให้เด็กเคยชิน เพราะการแปรงฟันมีความสำคัญมากและเป็นกลวิธีการส่งเสริมอนามัยช่องปากที่ดีที่สุด ในขณะที่เด็กยังเล็กส่วนใหญ่จะมีพ่อแม่ดูแลอยู่ที่บ้าน แต่เมื่อเด็กโตขึ้น จะได้รับการดูแลในศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียน ดังนั้น ศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนจึงเป็น Setting ที่สำคัญในการจัดกิจกรรมส่งเสริมอนามัยช่องปากให้กับเด็ก โดยการแปรงฟันหลังอาหารกลางวันทุกวัน จัดอาหารว่างที่เน้นผลไม้สดแทนขนมหวาน และช่วยเด็กเลิกขวดนม รวมทั้งขนมขบเคี้ยวที่ไม่จำเป็น  

นพ.วชิระ กล่าวต่อไปว่า แปรงสีฟันเป็นอุปกรณ์ทำความสะอาดช่องปากที่สำคัญ พ่อแม่ผู้ปกครองควรใส่ใจในการเลือกแปรงสีฟันสำหรับเด็ก ควรเลือกตามช่วงอายุของเด็กเพื่อความเหมาะสมกับขนาดของช่องปาก แบ่งเป็นแปรงสีฟันเด็กต่ำกว่า 3 ปี (baby)/แปรงสีฟันเด็ก 3-6 ปี (child) /แปรงสีฟันเด็ก 6-12 ปี (junior)  ที่สำคัญควรเป็นแปรงสีฟันที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานกรมอนามัย ซึ่งมีคุณลักษณะที่สำคัญคือขนาดหัวแปรงสีฟันไม่ใหญ่เกินไป ด้ามแปรงแข็งแรงมีขนาดพอเหมาะสำหรับให้เด็กจับได้ถนัดมือ ขนแปรงนุ่มถึงปานกลาง ปลายขนแปรงมนกลม หรือผิวเรียบ ไม่ขรุขระ กระจุกขนแปรงยึดกับหัวแปรงแน่นไม่หลุดร่วงง่าย

ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎหมายควบคุมฉลากแปรงสีฟัน ผู้ผลิตจะต้องระบุข้างกล่องบรรจุว่าเป็นแปรงชนิดขนนุ่ม ปานกลาง หรือแข็ง  โดยสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย จะมีการสุ่มตรวจคุณภาพแปรงสีฟันเป็นระยะๆเพื่อคุ้มครองประชาชนให้ได้เลือกใช้แปรงสีฟันที่มีคุณภาพ ผลการสำรวจแปรงสีฟันสำหรับเด็กทุกรุ่นที่จำหน่ายใน กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในรอบปี 2559 ล่าสุดพบแปรงสีฟันเด็กทั้งสิ้น 33 ยี่ห้อ 81 รุ่น มีคุณภาพผ่านมาตรฐานวิชาการแปรงสีฟันกรมอนามัย ร้อยละ 71.6 ไม่ผ่านมาตรฐานกรมอนามัย ร้อยละ 28.4 สำหรับแปรงสีฟันที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ร้อยละ 2.5 เป็นแปรงสีฟันที่มีหัวแปรงใหญ่เกินมาตรฐาน ร้อยละ 21 ปลายขนแปรงสีฟันมีความคม และร้อยละ 16.1 แรงยึดกระจุกขนแปรงสีฟันต่ำกว่าเกณฑ์ ผู้ปกครองควรเลือกแปรงสีฟันให้เด็กที่เหมาะสมกับช่วงอายุของเด็ก ทังนี้ สามารถดูรายชื่อแปรงสีฟันสำหรับเด็กที่ผ่านมาตรฐานกรมอนามัยได้จากเว็บไซต์ของสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย

“การเลือกยาสีฟันสำหรับเด็ก ควรเป็นยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการป้องกันฟันผุได้ดี โดยแนะนำให้บีบยาสีฟันให้เด็กเพียงเล็กน้อยคือ เด็กที่มีอายุต่ำว่า 3 ปี ใช้ปริมาณยาสีฟันแค่แตะแปรงพอชื้น เด็ก 3-6 ปี บีบยาสีฟันขนาดเท่าเมล็ดถั่วเขียว ส่วนที่มีเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป บีบยาสีฟันตามความยาวของหัวแปรงได้ ทั้งนี้ เพื่อการป้องกันฟันผุโดยไม่เสี่ยงต่อการได้รับฟลูออไรด์มากจนเกินไป โดยผู้ปกครองควรแปรงฟันให้เด็กตั้งแต่ฟันซี่แรกขึ้น อย่างไรก็ตาม การป้องกันปัญหาฟันผุในเด็กเล็กจะใช้วิธีการเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเพียงวิธีเดียวมักไม่ได้ผล จึงต้องทำควบคู่กันไปทั้งวิธีการทางชุมชน การดูแลโดยทันตบุคลากรและการดูแลโดยครอบครัว ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ควรทำผสมผสานกับโปรแกรมสุขภาพด้านอื่นๆ ร่วมด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว