ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เห็นด้วยที่ยังให้เมทแอมเฟตามีนหรือยาบ้าเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 หรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 1 ต้องควบคุมและมีบทลงโทษกับผู้ผลิต แต่แยกแอมเฟตามีนให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภทที่ 2 เป็นยาควบคุมที่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ พร้อมปรับปรุงกฎหมายยาเสพติดให้เอื้อต่อการนำผู้เสพเข้ารับการบำบัดรักษา เพิ่มหน่วยให้บริการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดในระดับตำบล ยึดหลัก “ผู้เสพผู้ติดคือผู้ป่วย”ต้องได้รับการดูแลรักษา 

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2559 ที่โรงแรมเมอร์เคียว กทม. นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บรรยายพิเศษ เรื่อง“การควบคุม (เมท) แอมเฟตามีนอย่างสร้างสรรค์ ในมุมมองทางการแพทย์และสาธารณสุข” ในงานประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการควบคุม (เมท) แอมเฟตามีนอย่างสร้างสรรค์และนวตกรรมยุติธรรม ตามร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด ว่า ประเทศไทยจัดให้เมทแอมเฟตามีน เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 เมื่อปี 2539 เนื่องจากส่งผลกระทบต่อร่างกาย จิตใจ สังคม เศรษฐกิจ ความมั่นคงของประเทศ และเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ มีผู้เสพเข้ารักษาประมาณ 2 แสนคนต่อปี อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุขร้อยละ 35.34 โดยเป็นผู้เสพเมทแอมเฟตามีนร้อยละ 65.59 ซึ่งหากเสพในปริมาณต่ำ มีผลคืออาจเจ็บหน้าอก ปวดศีรษะ ความอยากอาหารน้อยลง หากเสพปริมาณสูงอาจมีคลื่นไส้ อาเจียน จนถึงมีการตกเลือดในสมองและเสียชีวิตได้ หากเสพระยะสั้นจะมีความมึนเมา ระยะยาวเกิดการติดยา มีปัญหาสุขภาพโภชนาการ เป็นต้น

กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดประเด็นในการพัฒนาระบบบริการ 3 ด้านคือ

1.ปรับปรุงกฎหมายยาเสพติดให้เอื้อต่อการนำผู้เสพเข้ารับการบำบัดรักษาสะดวกและถูกต้อง

2.เพิ่มประสิทธิภาพการคัดกรอง บำบัดฟื้นฟู ติดตามผู้เสพ/ผู้ติดยา เช่น จัดระบบจุดพักรอก่อนเข้าศูนย์คัดกรองในเวลา 48 ชั่วโมง ทบทวนการคัดกรองวินิจฉัย แยกผู้เสพกับผู้ค้าอย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งศูนย์ฟื้นฟูหลังการบำบัดร่วมกับพหุภาคี เป็นต้น

และ 3.เพิ่มหน่วยให้บริการดูแลผู้ป่วยยาเสพติดในระดับตำบล โดยจะปรับใช้ “โปรตุเกสโมเดล” ให้เหมาะสมกับบริบทของสังคม นำหลักการปกครองและมาตรการทางสาธารณสุข ยึดหลัก “ผู้เสพผู้ติดคือผู้ป่วย” ต้องได้รับการดูแลรักษา

อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยที่ยังให้เมทแอมเฟตามีนเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 หรือวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภทที่ 1 ต้องควบคุมและมีบทลงโทษกับผู้ผลิต ส่วนแอมเฟตามีนให้เป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ประเภทที่ 2 เป็นยาควบคุมที่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ รวมทั้งขอให้กระทรวงมหาดไทย และภาคีเครือข่าย ดำเนินการคัดกรอง บำบัดรักษา ฟื้นฟูและติดตามดูแลช่วยเหลือเช่นเดิม ใช้มาตรการด้านสาธารณสุขควบคู่กับมาตรการทางการปกครองและสังคม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข จะส่งทีมวิชาการศึกษาการดำเนินงานศูนย์คัดกรองผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดของหน่วยงานต่างๆ เพื่อปรับใช้ในโรงพยาบาลในสังกัดต่อไป

ทั้งนี้ งานป้องกันบำบัดฟื้นฟูผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติดที่กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ มีกรอบและมาตรการ 3 ด้าน คือ

1.การส่งเสริมและป้องกันไม่ให้เสพสารเสพติด ตั้งเป้าให้ประชาชนมีความรู้และป้องกันตนเองได้ โดยรณรงค์ให้ความรู้ผ่านสื่อทุกช่องทาง โครงการทูบีนัมเบอร์วัน การสร้างภูมิคุ้มกันในสถานศึกษาและแรงงาน การควบคุมการนำเข้าและการกระจายยา เป็นต้น

2.การบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพ ตั้งเป้าเพิ่มการเข้าถึงบริการบำบัดรักษา ทั้งทางกายและทางจิตอย่างครอบคลุม มีคุณภาพ ด้วยโปรแกรมจิตสังคมบำบัด (Matrix Program) เพิ่มการดูแลเฉพาะกลุ่ม เช่น วัยรุ่น ผู้หญิง เพิ่มการวิจัยด้านเภสัชบำบัดและบำบัดทดแทน และลดอันตรายจากการเสพยาอย่างครอบคลุมและมีคุณภาพ

3.ด้านการฟื้นฟูผู้เสพยาเสพติด มีการจัดระบบการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายและจิตใจ ส่งเสริมการฝึกอาชีพและศึกษาต่อ ติดตามช่วยเหลือ และป้องกันการเสพติดซ้ำ