ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สพฉ.กำหนดเกณฑ์คุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ ตั้งศูนย์ EMCO Service Center เปิดให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง ย้ำผู้ป่วยฉุกเฉินต้องเข้ารักษาฟรีใน รพ.ที่ใกล้สุด รพ.ที่รักษาผู้ป่วยจะได้รับชดเชยค่ารักษาตั้งแต่รับผู้ป่วยจนถึง 72 ชั่วโมง ในอัตราที่ สพฉ.กำหนด และกองทุนเจ้าของสิทธิจะต้องตามจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ตามหลักเกณฑ์ เตรียมเสนอ ครม.พิจารณา คาดประกาศใช้ธันวาคมนี้

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร

นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องการดำเนินการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ตามนโยบาย "เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ" กรณีการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดว่า ที่ประชุม กพฉ. ซึ่งประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และกรมบัญชีกลาง มีมติกำหนดให้จัดทำแนวทางการปฏิบัติในการคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ในโรงพยาบาลเอกชนนอกคู่สัญญา 3 กองทุน ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงบริการอย่างปลอดภัยโดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาล เพื่อให้ไม่เป็นอุปสรรคและเกิดความเสี่ยงของการดูแลรักษา

โดยผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติจะต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลเอกชนนอกคู่สัญญาก็ตาม ซึ่งโรงพยาบาลจะคัดแยกผู้ป่วยตามแนวทางที่ สพฉ.กำหนดให้ และกรณีที่ปัญหาในการคัดแยก เช่น ความเห็นแพทย์ และศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการวินิจฉัยไม่ตรงกัน ให้ปรึกษา EMCO Service Center ของ สพฉ.ได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้โรงพยาบาลที่ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยจะต้องได้รับชดเชยค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานับตั้งแต่รับผู้ป่วยจนถึง 72 ชั่วโมง ในอัตราที่ สพฉ.กำหนด และกองทุนเจ้าของสิทธิจะต้องตามจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ตามหลักเกณฑ์

นพ.อนุชา กล่าวต่อว่า ยืนยันว่าผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที และหากมีปัญหาในการวินิจฉัยที่ไม่ตรงกัน ที่ประชุมมีข้อสรุปให้ทำการรักษาไปก่อน แล้วค่อยมาเคลียร์กันภายหลัง เพราะหลักการสำคัญคือต้องไม่ปล่อยทิ้งผู้ป่วยไว้กลางห้องฉุกเฉินเด็ดขาด โดยหลังการดำเนินงาน 6 เดือนแรก จะมีการประเมินติดตามเพื่อการปรับปรุงอีกครั้ง

ข้อเสนอดังกล่าว จะต้องนำเสนอให้คณะกรรมการของทั้ง 3 กองทุนพิจารณาอีกครั้ง ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ ซึ่งคาดว่าจะประกาศและใช้ได้จริงภายในเดือน ธ.ค.นี้

นพ.อนุชา ยังกล่าวถึงเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติว่า คือบุคคลซึ่งได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยกะทันหันซึ่งมีภาวะคุกคามต่อชีวิต ซึ่งหากไม่ได้รับปฏิบัติการแพทย์ทันทีเพื่อแก้ไขระบบการหายใจ ระบบไหลเวียนเลือดหรือระบบประสาทแล้ว ผู้ป่วยจะมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง หรือทำให้การบาดเจ็บเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้อย่างฉับไว โดยอาการที่เข้าข่ายฉุกเฉิน อาทิ ไม่รู้สึกตัว, ไม่หายใจ, หายใจผิดปกติ, แน่นหน้าอก, แขนขาอ่อนแรง พูดลำบาก เป็นต้น

ทั้งนี้ การเตรียมการทั้งหมดนี้ เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ที่จะได้เข้ารักษาในโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้และมีความพร้อมทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินปลอดภัย ลดการสูญเสีย โดยผู้ป่วยฉุกเฉิน หากมีอาการฉุกเฉิน ควรโทรแจ้งที่สายด่วน 1669 ก่อนเพื่อให้ได้รับการประเมินอาการ และเข้ารับการรักษาตามระบบ นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันปัญหาการถูกเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลด้วย