ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.ประชาชาติธุรกิจ : โรงพยาบาลรายเล็กปรับตัวสู้ศึก แห่เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ระดมทุนเสริมแกร่ง-รับมือการแข่งขัน "แพทย์รังสิต" ทุ่มงบฯขึ้นตึกใหม่ เปิดสารพัดศูนย์ ขยายฐานลูกค้าเงินสด "เอกชัย" ปั้นศูนย์กุมารเวช "บางมด" ลุยศัลยกรรมความงามครบวงจร

แหล่งข่าวระดับสูงจากโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้โรงพยาบาลเอกชนขนาดกลางทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด 3-4 แห่ง มีความเคลื่อนไหวในการเตรียมตัวเพื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อระดมทุนสำหรับนำไปปรับปรุงและขยายกิจการ รวมทั้งเป็นการปรับตัวเพื่อสู้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีเครือข่ายมาก การเข้าตลาดหุ้น จะเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยให้ต้นทุนทางการเงินต่ำลง มีสภาพคล่องทางการเงินมากขึ้น และช่วยแบ่งเบาภาระการค้ำประกันส่วนบุคคล และจะช่วยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้น

"โรงพยาบาลเป็นธุรกิจที่ยังมีศักยภาพในการเติบโตที่ดี แต่หากเป็นรายเล็กหรือเป็นโรงเดียวจะเสียเปรียบและทำธุรกิจได้ยาก ยกเว้นรายที่เจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่มหรือโรงพยาบาลเฉพาะทาง ขณะที่กลุ่มที่มีเครือข่ายขนาดใหญ่มีความได้เปรียบทั้งในแง่ของต้นทุน บุคลากร รวมถึงเครือข่าย และมีการขยายกิจการด้วยการซื้อกิจการอย่างต่อเนื่อง"ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุว่า มี 2 บมจ.ที่อยู่ในธุรกิจการแพทย์ได้ยื่นแบบแสดงข้อมูล (ไฟลิ่ง) เพื่อขอระดมทุน คือ บมจ.โรงพยาบาลราชธานี เข้าจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ บมจ.เทคโนเมดิคัล ทำธุรกิจเครื่องมือแพทย์เข้าจดทะเบียนตลาดเอ็มเอไอ

นายชัยนันท์ แย้มสอาด กรรมการ บริษัท ปทุมรักษ์ จำกัด ผู้อำนวยการบริหาร โรงพยาบาลแพทย์รังสิต เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า โรงพยาบาลสนใจนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนเตรียมตัว เพื่อระดมทุนไปขยายธุรกิจ โดยตั้งแต่ปีที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงปีนี้ได้ใช้งบฯ 30 ล้านบาท รีแบรนดิ้ง และปรับปรุงบริการให้มีความหลากหลาย อาทิ แผนกทันตกรรมครบวงจร ศูนย์หัวใจ แผนกกายภาพ ศูนย์เช็กอัพตรวจสุขภาพ รองรับลูกค้าคนไทยและลูกค้าต่างชาติ โดยเฉพาะอาเซียน

ล่าสุด อยู่ระหว่างปรับพื้นที่ศูนย์แอนตี้เอจจิ้งและปรับพื้นที่ชั้น 3 อาคารผู้ป่วย 1 และเพิ่มเตียงอีกกว่า 10 เตียง รองรับผู้ป่วยเด็กของโรงพยาบาลเฉพาะทางแม่และเด็ก โรงพยาบาลในเครือมีที่ตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน เพื่อสร้างรายได้ ขยายฐานลูกค้าเงินสดมากขึ้น จากเดิมมีสัดส่วน 30% ประกันสังคม 70% เป็น 50 : 50 หรือ 60 : 40 ปีหน้าจะขึ้นอาคารผู้ป่วยหลังใหม่ บนที่ดิน 3 ไร่ อยู่ฝั่งตรงข้ามโรงพยาบาล

"การแข่งขันโรงพยาบาลเอกชนย่านรังสิตค่อนข้างรุนแรง ใกล้เคียงกันมีโรงพยาบาลเปาโล รังสิต ที่เพิ่งเปิด ตอนนี้อาจจะยังไม่เห็นผลกระทบชัดเจน แต่ถ้าเราไม่ปรับปรุงพัฒนา ต่อไปอาจเสียฐานลูกค้าเงินสดได้"

ขณะที่โรงพยาบาลเอกชัยเพิ่งเปิดการซื้อขายหลักทรัพย์วันแรกในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม โดย นพ.อำนาจ เอื้ออารีมิตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเอกชัย บริษัท เอกชัยการแพทย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เม็ดเงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ จำนวน 508.74 ล้านบาท จะนำไปก่อสร้างศูนย์กุมารเวชแห่งใหม่ 200 ล้านบาท ที่เหลือนำไปปรับปรุงอาคารโรงพยาบาลเดิม และเป็นเงินทุนหมุนเวียน การเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น เสริมภาพลักษณ์ และรับมือการแข่งขันของโรงพยาบาลรายใหญ่

"โรงพยาบาลสแตนด์อะโลนยังมีศักยภาพแข่งขัน หากมีความพร้อมด้านบุคลากร เครื่องมือ การรักษาที่มีมาตรฐาน ตั้งอยู่ในทำเลที่ดีมีจุดแข็งและจุดเด่นชัดเจน ในอนาคตเราไม่ได้ปิดกั้นความร่วมมือเชนโรงพยาบาลต่าง ๆ หากทำให้การบริหารงานและการให้บริการมีประสิทธิภาพมากขึ้น"

นพ.ธนัญชัย อัศดามงคล ผู้อำนวยการศูนย์ศัลยกรรมความงาม โรงพยาบาลบางมด เผยว่า วางแผนจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯภายในปี 2560 และจะสร้างโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านศัลยกรรมความงามครบวงจรในกรุงเทพฯ เพื่อรองรับตลาดที่ขยายตัว 10% ทุกปี ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 2-3 ล้านบาท

ขณะที่ ดร.อังกูร ฉันทนาวานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลลาดพร้าว จำกัด (มหาชน) ที่เพิ่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปีที่ผ่านมา ระบุว่าได้ใช้งบฯ 300 ล้านบาท สร้างอาคารศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ 6 ชั้น อาทิ โรคตา สมอง ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ กระดูกและข้อ ผิวหนังและความงาม และปีหน้าจะลงทุนเปิดเพิ่มอีก 4 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์สุขภาพสตรี ศูนย์สุขภาพเด็ก ทันตกรรม และเช็กอัพ พร้อมเพิ่มอีก 30 เตียง จาก ที่มี 180 เตียง คาดจะเปิดให้บริการ ไตรมาส 1 ปี 2560 และได้ยื่นขอเจซีไอ รองรับการขยายฐานลูกค้าต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากซีแอลเอ็มวีและต่างชาติในไทย

นอกจากนี้เตรียมงบฯลงทุนอีกประมาณ 200 ล้านบาท เพื่อลงทุนในโรงพยาบาลซึ่งอยู่ระหว่างเจรจา 2 แห่ง ในย่านพัฒนาการและสมุทรปราการ รวมถึงการศึกษาเพื่อเข้าไปลงทุนในโรงพยาบาลเดชา และยังอยู่ระหว่างยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้าง รพ.ลาดพร้าว ลำลูกกา ขนาด 180 เตียง งบฯ ลงทุน 600 ล้านบาท (รวมที่ดิน) คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปีหน้า

ที่มา:นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 28 - 31 ก.ค. 2559