ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกทันตแพทยสภา แจงการลงนามร่วมแถลงการณ์ภาคีสภาวิชาชีพ แก้ กม.บัตรทอง เป็นแนวทางปฏิบัติ ในฐานะผู้แทนสภาวิชาชีพร่วมประชุมมีสิทธิตัดสินใจ ซ้ำเป็นการประชุมเร่งด่วนจัดทำข้อเสนอฝ่ายวิชาชีพ ต่อที่ประชุมแก้ กม. สปสช. หากรอมติ คกก.ทันตแพทยสภาในการประชุมเดือน ส.ค.ไม่ทันการณ์ พร้อมระบุเตรียมนำแถลงการณ์ภาคีวิชาชีพ เข้าสู่ที่ประชุม คกก.ทันตแพทยสภาเพื่อรับรองมติ หากค้านไม่เห็นด้วย จะนำเรื่องแจ้งต่อที่ประชุมภาคีวิชาชีพ

ทพ.ไพศาล กังวลกิจ

ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา กล่าวถึงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตการร่วมลงนามแถลงการณ์ภาคีสภาวิชาชีพในข้อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในส่วนของนายกทันตแพทยสภา ซึ่งอาจถือเป็นโมฆะ เนื่องจากไม่มีการนำเข้าสู่การพิจารณาเพื่อเป็นมติทันตแพทยสภาว่า ปกติวาระการประชุมคณะกรรมการทันตแพทยสภาจะกำหนดขึ้นเดือนละ 1 ครั้ง แต่ในการประชุมภาคีสภาวิชาชีพที่ได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมต่อข้อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ เป็นการเชิญประชุมเร่งด่วนในวันที่ 12 ก.ค. 59 เพื่อขอความเห็นและจะนำไปเสนอต่อที่ประชุมหารือประเด็นการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 จัดโดยคณะอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งจะมีในวันถัดมา ดังนั้นหากต้องนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาที่ประชุมคณะกรรมการทันตแพทยสภาเพื่อขอมติในครั้งถัดไป คือเดือน ส.ค. 59 ตามปกติคงไม่ทันการณ์   

ทพ.ไพศาล กล่าวว่า การประชุมภาคีวิชาชีพในวันดังกล่าว นอกจากนายกทันตแพทยสภาแล้ว ในส่วนทันตแพทยสภายังมีตัวแทนทันตแพทยสภาเข้าร่วมประชุมอีก 2 คน ซึ่งในฐานะผู้แทนองค์กร โดยปกติมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นได้ รวมถึงการลงนามในแถลงการณ์ภาคีสภาวิชาชีพ โดยขั้นตอนหลังจากนี้จะนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาคณะกรรมการทันตแพทยสภาในการประชุมนัดต่อไป เพื่อขอมติรับรองต่อไป อย่างไรก็ตามกรณีนี้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติเช่นเดียวกับกรณีที่ทันตแพทยสภามอบ พลโท ศ.พิศาล เทพสิทธา อดีตนายกทันตแพทยสภา เข้าร่วมประชุมบอร์ด สปสช. ซึ่งสามารถแสดงความเห็นในฐานะผู้แทนทันตแพทยสภาได้เช่นกัน

“การลงนามร่วมกับภาคีวิชาชีพขณะนี้ยังบอกว่าเป็นความเห็นของคณะกรรมการทันตแพทยสภาไม่ได้ เพราะต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการทันตแพทยสภาก่อนเพื่อให้พิจารณาและยืนยันป็นมติ จากแนวทางปฏิบัติที่ผ่านมาก็ไม่มีปัญหา ซึ่งต้องบอกว่าแถลงการณ์นี้เป็นความเห็นของผู้แทนสภาวิชาชีพที่ได้รับมอบเข้าร่วมประชุม และถือเป็นมติของภาคีสภาวิชาชีพเท่านั้น โดยนายกสภาวิชาชีพที่เข้าร่วมประชุมต่างเห็นด้วย” นายกทันตแพทยสภา กล่าว  

ทพ.ไพศาล กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามหลังจากนี้หากที่ประชุมคณะกรรมการทันตแพทยสภาไม่รับรองข้อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ตามแถลงการณ์ของภาคีสภาวิชาชีพ ในการประชุมภาคีสภาวิชาชีพครั้งหน้าก็คงนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมเพื่อแจ้งมติของคณะกรรมการทันตแพทยสภาให้ทราบต่อไป ส่วนภาคีวิชาชีพจะมีความเห็นหรือดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้น เรื่องนี้คงไม่สามารถให้ความเห็นได้

ต่อข้อซักถามว่า มีความเห็นอย่างไรกับข้อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ที่ระบุในแถลงการณ์ ทพ.ไพศาล กล่าวว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ บังคับใช้มานานแล้วกว่า 10 ปี ซึ่งที่ผ่านมาได้เห็นปัญหาและอุปสรรคของการบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงต้องมีการปรับแก้ อย่างเช่น กรณีมาตรา 42 ที่กำหนดให้ไล่เบี้ยผู้กระทำผิด หลังการช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ได้รับความเสียหายจากบริการสาธารณสุข ซึ่งเรื่องนี้ทางสภาวิชาชีพได้คัดค้านตั้งแต่ร่างกฎหมายแล้ว ทางฝ่ายการเมืองเองได้รับปากว่าจะมีการนำมาตรานี้ออก เนื่องจากทำให้เกิดความระแวงและไม่สบายใจในฝ่ายผู้ให้บริการ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชี้ทันตแพทยสภา ลงนามกับสภาวิชาชีพ แก้ กม.บัตรทอง อาจโมฆะ