ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการและภาคประชาสังคม ร่วมจัดทำยุทธศาสตร์ สปสช.พัฒนาระบบบริการบัตรทอง กำหนด 5 แนวทาง เดินหน้าพัฒนาเพื่อประโยชน์ประชาชน ลดความขัดแย้ง เน้นปรับระบบการเงินสอดคล้องโครงสร้างและบริการ สธ. ช่วยสร้างจุดสมดุลผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ส่งผลให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายั่งยืน 

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ สำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในการจัดทำยุทธศาสตร์และข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาระบบบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เชิญกลุ่มนักวิชาการและภาคประชาสังคมเข้าร่วม โดยได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลและจัดทำข้อเสนอแนะทิศทางของการพัฒนาระบบในอีก 5 ปี จากนี้ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหญ่ 5 ข้อ ดังนี้

1.ยุทธศาสตร์ด้านบริการสาธารณสุขภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยเสนอว่าการจัดทำยุทธศาสตร์ของ สปสช. ต้องสนับสนุนให้เกิดระบบบริการที่สอดคล้องกับระบบบริการของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะผู้ให้บริการรายใหญ่ เพราะที่ผ่านมาจากการจัดระบบบริการที่ไม่สอดคล้องกันของทั้ง 2 หน่วยงาน ทำให้เกิดความไม่เข้าใจและขัดแย้งกัน ส่งผลต่อการดำเนินงานที่ไม่ได้ประสิทธิผลตามที่ต้องการในหลายเรื่อง ดังนั้นยุทธศาสตร์นี้จึงมองว่าถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายต้องหันหน้ามาพูดคุยกัน ซึ่งขณะนี้ สธ.อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ดังนั้นจำเป็นที่ สปสช.ต้องมีการปรับระบบการเงิน ทั้งการจัดทำโครงการ การจ่ายงบประมาณ เพื่อให้สอดคล้องกัน

2.ยุทธศาสตร์สนับสนุนให้เกิดการปรับแต่งบริการตอบสนองความต้องการจำเป็นของประชาชน ซึ่งการดำเนินการในเรื่องนี้ต้องอิงหลักฐานเชิงประจักษ์จากข้อมูลการร้องเรียนและร้องทุข์ โดยเฉพาะข้อมูลสายด่วน 1330 เท่าที่ดูจากข้อมูลแต่ละปีจะมีประชาชนที่โทรเข้ามายัง 1330 ลดลง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากขึ้น แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ข้อมูลการร้องเรียนและร้องทุกข์เพื่อขอความช่วยเหลือยังคงที่และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าระบบบริการยังต้องมีการปรับปรุง

ขณะเดียวกันเมื่อดูความพึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในฝั่งผู้ให้บริการ ให้คะแนนระบบเพียงเฉลี่ยนเพียง 6 จากจำนวนเต็ม 10 สะท้อนให้เห็นในฝั่งผู้ให้บริการเองยังรู้สึกและมองว่าระบบมีปัญหา แต่ที่ผ่านมายังไม่เห็นกระบวนการชัดเจนในการนำเรื่องร้องเรียนและร้องทุกข์ รวมถึงปัญหาของผู้ให้บริการมาสู่การปรับปรุงระบบใหญ่ จึงต้องมียุทธศาสตร์ดำเนินการในเรื่องนี้

3.ยุทธศาสตร์การสนับสนุนพัฒนานวัตกรรมรูปแบบการดูแลรักษาพยาบาลและการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค  เป็นยุทธศาสตร์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดค่าใช้จ่ายสุขภาพโดยรวมให้กับภาครัฐ มีแผนดำเนินการทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยสนับสนุนจัดบริการทั้งด้านการรักษาและส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของประชาชน เพื่อให้อัตราการใช้บริการเป็นไปอย่างครอบคลุมและครบถ้วน

4.ยุทธศาสตร์สะกิดพฤติกรรม เกิดจากข้อมูลที่พบว่ามาตรการด้านสาธารณสุขและสุขภาพเริ่มใช้ไม่ได้ผล  สาเหตุมาจากปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อการตัดสินใจที่ส่งผลกระทบต่อระบบได้ ทั้งฝั่งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ ดังนั้นจึงต้องมียุทธศาสตรเพื่อให้มีการปรับแก้เพื่อให้เกิดการดำเนินที่เหมาะสม อาทิ การสะกิดเพื่อให้เกิดพฤติกรรมการรับบริการหรือการใช้ยาอย่างสมเหตุผล การสะกิดพฤติกรรมเพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของการรับบริการป้องกันโรค อย่างเช่นการรับวัคซีน การรับบริการป้องกันฟันผุ เป็นต้น การสะกิดพฤติกรรมเพื่อลดการส่งต่อของหน่วยบริการ ซึ่งเป็นแนวทางที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินระบบอย่างถูกทาง 

5. ยุทธศาสตร์สนับสนุนให้เกิดระบบบริการสุขภาพที่เอื้อต่อคุณภาพและสมดุลในชีวิต ยุทธศาสตร์เกิดแนวคิดที่ว่าการบริการสุขภาพที่ดีต้องอยู่ที่การดูแลเอาใจใส่ ซึ่งต้องใช้ใจร่วมด้วย ไม่ใช่การดูแลผู้ป่วยที่เหมือนเป็นหุ่นยนต์ ซึ่งที่ผ่านมาจากการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แม้ว่าจะส่งผลให้เกิดการเข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้น แต่ในฝั่งผู้ให้บริการหลายคนต่างรู้สึกเป็นภาระที่มากเกินไป ดังนั้นหากต้องการทำให้ระบบมีความยั่งยืน จะต้องเอใจใส่ผู้ให้บริการ โดยออกแบบระบบที่ช่วยลดภาระงานเพื่อทำให้ผู้ให้บริการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีความสุขในการทำงานมากขึ้น  

ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ทั้ง 5 ข้อนี้ ได้กลั่นกรองจากข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมด ทั้งเชิงตัวเลขและคุณภาพ ทั้งยังมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เชื่อว่าจะนำไปสู่การสร้างจุดสมดุล ความพึงพอใจระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการได้ ซึ่งจะทำให้การบริการมีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการรับการดูแลอย่างถูกต้องเหมาะสมและตรงกับความต้องการ ที่สำคัญจะช่วยรัฐความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานที่จะทำให้ระบบมีความยั่งยืน ทั้งนี้ที่ผ่านมาทางคณะทำงานยุทธศาสตร์ฯ ได้นำเสนอต่อบอร์ด สปสช.แล้ว ซึ่งจะมีการพิจารณาและผลักดันเพื่อดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เหมาะสมต่อไป