ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นายกแพทยสภา แจงข้อเสนอ 6 สภาวิชาชีพ แก้ กม.บัตรทอง ยืนยันไม่คิดล้มระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มุ่งแก้ปัญหาและลดอุปสรรคการดำเนินงาน ทำระบบให้เกิดความยั่งยืน เตรียมเสนอ สนช.เดินหน้าผลักดันต่อ   

นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา

นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า จากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เสนอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ทางภาคีสภาวิชาชีพ จึงได้มีการหารือและจัดทำข้อเสนอเพื่อให้มีการปรับแก้ไขในประเด็นต่างๆ ที่เป็นปัญหาและอุปสรรค และเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการนำเสนอต่อที่ประชุมหารือประเด็นการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งจัดโดยอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้ภาคีสภาวิชาชีพจะมีการนำเสนอไปยัง สนช.ด้วย เพื่อผลักดันให้เกิดการแก้ไขกฎหมาย และสะท้อนให้สาธารณะรับทราบถึงการมีส่วนร่วมของภาคีสภาวิชาชีพในเรื่องนี้

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ประเด็นที่ภาคีสภาวิชาชีพนำเสนอแก้ไข เริ่มตั้งแต่ในมาตรา 3 ในการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค โดยเห็นว่า สปสช.ควรเน้นการบริการที่เป็นการป้องกันลงไปยังตัวบุคคล ทั้งในระยะป้องกันโรคระดับ 2 การป้องกันการมีโรค (Secondary Prevention) และระยะป้องกันโรคระดับ 3 การป้องกันการเกิดความพิการและการไร้สมรรถภาพ (Tertiary Prevention) แต่ในส่วนการป้องกันโรคระดับ 1 การป้องกันโรคล่วงหน้า (Primary Prevention) อย่างการให้วัคซีน การกำจัดลูกน้ำยุงลาย การคัดกรองพัฒนาการเด็ก เป็นต้น ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ นอกจากนี้ในมาตราเดียวกันนี้ต้องจำกัดการกระจายงบประมาณที่ควรให้เฉพาะหน่วยบริการที่ให้บริการสาธารณสุขเท่านั้น

ส่วนสิทธิการรักษาพยาบาลในมาตรา 5 นั้น ต้องจำกัดสิทธิเฉพาะคนไทยที่อยู่ในประเทศไทย และต้องเปิดให้ประชาชนสามารถนำเงินมาร่วมจ่าย หรือสิทธิประกันอื่นๆ มาร่วมเสริมในการรับบริการได้ ไม่ใช่บังคับให้ทุกคนต้องใช้สิทธิในระบบ โดยใช้สิทธิพื้นฐานเท่านั้น

ขณะเดียวกันในส่วนของบอร์ด สปสช.นั้น ควรมีการกำหนดที่มาของกรรมการบอร์ดชัดเจน พร้อมกันนี้ยังเสนอให้มีการเพิ่มสัดส่วนของสภาวิชาชีพ ซึ่งแต่เดิมมีเพียง 4 สภาวิชาชีพเท่านั้น แต่ปัจจุบันได้มีการจัดตั้งเพิ่มเติมอีก 2 สภาวิชาชีพ จึงควรให้เข้าไปมีส่วนร่วมในบอร์ด สปสช.ด้วย

ขณะที่ในส่วนของเลขาธิการ สปสช.นั้น นอกจากเรื่องคุณสมบัติผู้สมัครเลขาธิการ สปสช. ที่ต้องปรับแก้ไขเปิดกว้างให้บุคคลสามารถสมัครเข้าทำหน้าที่ได้แล้ว โดยเฉพาะในส่วนหลักเกณฑ์ที่เป็นการกีดกัน อาทิ ข้อห้ามคู่สัญญากับ สปสช. ซึ่งส่งผลให้ผู้สมัครทั้งจากกระทรวงสาธารณสุข แพทยสภา และอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ ถูกตัดสิทธิแล้ว   

นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด เพื่อคอยกำกับและติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของเลขาธิการ สปสช.และสำนักงาน สปสช.เพื่อให้เกิดการดำเนินงานอย่างรอบคอบและรอบด้าน

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับในส่วนของมาตรา 41 การเยียวยาเบื้องต้นผู้ได้รับความเสียหายจากบริการสาธารณสุขนั้น เห็นตรงกันว่าควรรวมถึงผู้ให้บริการด้วย ขณะเดียวกันควรตัดมาตรา 42 ที่กำหนดให้ไล่เบี้ยผู้กระทำผิดออก เพราะในต่างประเทศก็ไม่มีการไล่เบี้ย เนื่องจากจะทำให้ไม่สามารถนำไปสู่การแก้ไขสาเหตุความผิดพลางทางการแพทย์ที่แท้จริงหมด เพราะจะไม่มีการบอกปัญหาและข้อเท็จจริง เนื่องจากกลัวถูกไล่เบี้ยให้ต้องรับผิด ส่วนมาตรา 46 นั้น เสนอให้แยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว เพราะจาก 14 ปีของการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้พิสูจน์แล้วว่า วิธีการนี้นอกจากไม่สามารถกระจายแพทย์และบุคลากรไปตามพื้นที่ต่างๆ ได้แล้ว ยังส่งผลให้โรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง ดังนั้นจึงควรมีการแยกเงินเดือนและให้ สธ.บริหารจัดการเอง

“ข้อเสนอแก้ไข พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติของภาคีสภาวิชาชีพ เพื่อทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านี้ดีขึ้น แต่ละข้อเสนอสามารถอธิบายที่มาที่ไปได้ โดยมาจากมุมมองที่เห็นปัญหาระบบในช่วง 14 ปีที่ผ่านมา ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้มีแนวคิดล้มระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่เป็นการทำเพื่อให้ระบบเกิดความยั่งยืน” นายกแพทยสภา กล่าว