ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาธิการ ศอ.บต.เปิดงานเสวนารวมพลคนสาธารณสุขชายแดนใต้ครั้งที่ 2 พร้อมรับ 8 ข้อเรียกร้องจาก ชมรม ผอ.รพ.สต.ชายแดนใต้ ขอให้นายกรัฐมนตรี แก้ไขการบริหารงานบุคคล งบประมาณ และค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2559 ณ โรงแรม CS ปัตตานี นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานเปิดการเสวนา “รวมพลคนสาธารณสุขชายแดนใต้ ครั้งที่ 2” พร้อมบรรยาย หมออนามัยทำงานอย่างไรให้มีความสุขท่ามกลางสถานการณ์จังหวัดชายแดนใต้

ภก.ประเวศ หมีดเส็น ผู้ช่วยผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 12 และผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต.ด้านสาธารณสุข ได้ชี้แจงความคืบหน้า เรื่องค่าตอบแทนฉบับ 10 ว่า นพ.สุเทพ วัชรปิยานันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขต 12 ได้ตั้งคณะทำงานค่าตอบแทน ฉบับ 10 แล้ว มี นพ.อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล ในฐานะประธาน CFO เขต เป็นประธานคณะทำงาน และจะเชิญตัวแทนชมรม ผอ.รพ.สต.ชายแดนใต้เข้าเป็นคณะทำงานด้วย

นายสมศักดิ์ จึงตระกูล ประธานชมรม ผอ.รพ.สต. และ นายมะกอเซ็ง เจะแต ประธานชมรม ผอ.รพ.สต.จังหวัดชายแดนใต้ ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านเลขาธิการ ศอ.บต.เรียกร้อง ขอให้นายกรัฐมนตรี แก้ไขการบริหารงานบุคคล งบประมาณ และค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้

หนังสือดังกล่าวระบุว่า “ชมรม ผอ.รพ.สต.จังหวัดชายแดนใต้ขอเสนอให้ คสช. รัฐบาล และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง พิจารณาช่วยเหลือแก้ไขด้านการบริหารงานบุคคล งบประมาณ และค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุข ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ดังต่อไปนี้

1. ขอให้นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ออกหลักเกณฑ์ และระเบียบปฏิบัติ และมอบอำนาจให้ อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข ปรับปรุงเลขประจำตำแหน่ง (จ.18)ของข้าราชการพลเรือนสามัญ ประเภททั่วไป ตำแหน่งเจ้าพนักงานสาธารณสุข เจ้าพนักงานเภสัชกรรม เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข และตำแหน่งอื่น ผู้ที่มีวุฒิปริญญาตรีที่ตรงตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข ของ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และ 4 อำเภอสงขลา ได้แก่อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย เป็นตำแหน่งประเภทวิชาการทุกตำแหน่ง เป็นกรณีพิเศษ โดยไม่ต้องมีตำแหน่งว่างหรือหาเลขตำแหน่งว่างมายุบรวม และขอยกเว้นหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไป ไปแต่งตั้ง ให้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ ตามหนังสือสำนักงาน กพ. ที่ นร 1006/ว 16 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2558

2. ขอให้นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เลื่อนตำแหน่งและปรับปรุงตำแหน่ง ข้าราชการพลเรือนสามัญ ของ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส และ 4 อำเภอสงขลา ได้แก่อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย ตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ  เป็นนักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ และจากตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เจ้าพนักงานสาธารณสุข ผู้ที่มีวุฒิปริญญาตรีที่ตรงตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข เป็นตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ และจากตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญงาน เป็นเจ้าพนักงานสาธารณสุขอาวุโส ทุกตำแหน่ง เป็นกรณีพิเศษ โดยไม่ต้องเอาตำแหน่งว่างมายุบรวม โดยขอยกเว้นหนังสือสำนักงาน ก.พ.ที่ นร 1008.3.3/105 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2555 หนังสือสำนักงาน กพ.ที่ นร 1008/ว 2 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558 และหนังสือสำนักงาน ก.พ. ที่ นร 0708.1/ว 22 ลงวันที่ 30 กันยายน 2540 และหนังสืออื่นที่เกี่ยวข้องของ ก.พ.

3. ขอให้นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้กระทรวงสาธารณสุข ทบทวนหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทน แนบท้ายข้อบังคับกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน ให้กับหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2544 (ฉบับที่ 10) พ.ศ.2559 ตามหนังสือกระทรวงสาธารณสุข ด่วนที่สุด ที่ สธ ๐๒๐๑.๐๔๒/ว ๔๐๔ ลงวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ให้ครอบคลุมสิทธิแก่กลุ่มบุคลากรวิชาชีพสาธารณสุข และสหวิชาชีพอื่น รวมทั้งสายงานสนับสนุนด้านการสาธารณสุข ของ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา จังหวัดนราธิวาส จังหวัดสตูล และ 4 อำเภอสงขลา ได้แก่อำเภอจะนะ อำเภอเทพา อำเภอนาทวี และอำเภอสะบ้าย้อย ให้ได้รับค่าตอบแทน (ฉบับที่ 10) ที่เป็นธรรม ในอัตรา 3,500 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นมา

4. ขอให้นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้กระทรวงสาธารณสุข ปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายเงินค่าตอบแทน แนบท้ายข้อบังคับกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยการจ่ายเงินค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงาน ให้กับหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2544 (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2558 และ (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2559 ให้ผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุข ในสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ให้ได้รับค่าตอบแทนเหมาจ่าย (ฉบับที่ 8 และฉบับที่ 11) ในปีงบประมาณ 2560 ด้วย      

5. ขอให้รัฐบาล โดยคณะกรรมการกำหนดเป้าหมาย และนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) สนับสนุนตำแหน่ง และอัตรากำลังข้าราชการบุคลากรสาธารณสุข ทั้งสายวิชาชีพ และสายสนับสนุนให้แก่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อกระทรวงสาธารณสุข จะได้จัดสรรอัตรากำลังบุคลากร แก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้เป็นไปตามกรอบโครงสร้างอัตรากำลัง ภายใน 1-3 ปี เพื่อบุคลากรสาธารณสุข ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)จักได้เพียงพอต่อการจัดระบบสุขภาพที่ได้มาตรฐานแก่ประชาชน 

6. ขอให้รัฐบาล โดยคณะกรรมการกำหนดเป้าหมาย และนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) สนับสนุนตำแหน่ง และอัตรากำลังข้าราชการบุคลากรสาธารณสุข เพื่อบรรจุพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) ที่หน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข ได้จัดจ้างไว้ในระบบแล้ว ให้เพียงพอต่อการบรรจุ เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ใน 1-3 ปี       

7. ขอให้รัฐบาล โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แก้ไขปัญหาการขาดแคลนงบประมาณ ให้แก่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ด้วยการสนับสนุนงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ งบค่าบริหารจัดการที่เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ (Fixed Cost) งบด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันควบคุมโรค (PP) และงบค่าตอบแทน ด้วยวิธีการโอนงบประมาณตรง โดยอาศัยอำนาจ ตามความข้อ 4 ของคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 37/2559 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2559 

8. ขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหรือคณะรัฐมนตรี มีคำสั่งให้สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และคณะกรรมการเงินเดือนแห่งชาติ (กงช.) แก้ไขปัญหาเงินเดือนเหลื่อมล้ำให้แก่ข้าราชการพลเรือนสามัญ ทั้งบัญชีอัตราเงินเดือน และการเลื่อนไหลเงินเดือนกรณีเงินเดือนเต็มขั้น โดยให้  สายงานวิชาการ ระดับชำนาญการ ที่ได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูง (เต็มขั้น) ได้รับเงินเดือนขั้นชำนาญการพิเศษ และระดับชำนาญการพิเศษ ที่ได้รับเงินเดือนถึงขั้นสูง (เต็มขั้น) ให้ได้รับเงินเงินเดือนขั้นเชี่ยวชาญ โดยยึดแนวทางทางปฏิบัติเดียวกันกับการได้รับเงินเดือนของข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษา ข้าราชการท้องถิ่น และหรือข้าราชการอื่นที่มีบัญชีเงินเดือน หรือการเลื่อนไหลของเงินเดือน ที่สูงกว่าข้าราชการพลเรือนสามัญ โดยยึดหลักความเท่าเทียมและความเสมอภาคที่ว่า “ข้าราชการรัฐไทย ในระดับตำแหน่ง และเทียบ  ชั้นยศเดียวกัน ต้องได้รับเงินเดือนในอัตราขั้นต่ำ ขั้นสูง เท่ากัน และเสมอภาคกัน”

นายประดิษฐ์ ขัติยเนตร ประธานชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) ได้เคยร้องทุกข์เป็นหนังสือไว้ต่อนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ไว้แล้ว เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2558 แต่ยังไม่มีความคืบหน้า หรือได้รับการตอบกลับเป็นหนังสือจากสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และคณะกรรมการเงินเดือนแห่งชาติ (กงช.) แต่อย่างใด

ทั้งนี้ข้อเสนอที่ให้แก้ไขปัญหาข้อที่ 3 และ 4 เป็นข้อเสนอที่อยู่ในอำนาจของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนข้อเสนอข้อที่ 1,2,5,6,7 และ 8 เป็นข้อเสนอที่อยู่นอกเหนืออำนาจของกระทรวงสาธารณสุข และข้อเสนอข้อที่ 8 เป็นข้อเสนอที่คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และคณะกรรมการเงินเดือนแห่งชาติ (กงช.) ไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติไว้แล้ว อีกทั้ง  ไม่แจ้งผล ให้ผู้ร้องทุกข์ทราบ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการร้องทุกข์และการแก้ไขปัญหาร้องทุกข์ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี จนก่อให้เกิดปัญหาไม่เป็นธรรมเกิดความเหลื่อมล้ำเพดานเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูง ขาดความเท่าเทียมเสมอภาคระหว่างข้าราชการพลเรือนสามัญ กับข้าราชการอื่น ซึ่งเป็นข้าราชการไทยที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน