ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รวมพลคนสา’สุขชายแดนใต้ ค้านข้อเสนอยกเลิกค่าตอบแทนฉบับ 10 แนะ สธ.ควรลดเหลื่อมล้ำค่าตอบแทนฉบับ 10 เพิ่มค่าตอบแทนเสี่ยงภัยให้ทุกวิชาชีพสาธารณสุขชายแดนใต้ในอัตรา 3,500 บาทต่อเดือน พร้อมข้อเสนอแก้ปัญหาการบริหารบุคคลชายแดนใต้ ข้าราชการที่เงินเดือนตัน ค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุข การจัดสรรงบประมาณ และเร่งรัดการจัดสรรให้ ผอ.รพ.สต.ทั้งหมื่นแห่งขึ้นสู่ตำแหน่งชำนาญการพิเศษภายในปี 2562

นายริซกี สาร๊ะ ที่ปรึกษาชมรม ผอ.รพ.สต.ชายแดนใต้และเครือข่าย กล่าวว่า สืบเนื่องจากมีตัวแทนชมรมผู้บริหารการพยาบาลโรงพยาบาลชุมชน ได้ยื่นหนังสือไปยังรัฐบาลขอให้ยกเลิกการจ่ายค่าตอบแทน ฉบับ 10 on top ชายแดนใต้ จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า "สอบถามคนชายแดนใต้ทุกวิชาชีพหรือยัง"

ทั้งนี้ ชมรม ผอ.รพ.สต.ชายแดนใต้ ชมรม จพ.ป.ตรีชายแดนใต้ และชมรมพยาบาล รพ.สต.ชายแดนใต้ ได้จัดเสวนารวมพลคนสา'สุขชายแดนเมื่อวันที่ 6 มิ.ย 59 ที่ผ่านมา และมีมติร่วมกัน 6 ประเด็นดังนี้

1.กรณีค่าตอบแทนฉบับ 10 ค่าเสี่ยงภัยบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ มีมติดังนี้

1.1 สนับสนุนให้ลดความเหลื่อมล้ำฉบับ 10 on top เสี่ยงภัยชายแดนใต้ โดยเพิ่มค่าตอบแทนให้ครอบคลุมทุกวิชาชีพทุกหน่วยงานสาธารณสุข เพราะทุกคนเสี่ยงภัยเหมือนๆ กัน ควรได้รับสิทธิ์นี้เช่นเดียวกัน

1.2 บุคลากรสังกัดกระทรวงสาธารณสุขชายแดนใต้ทุกวิชาชีพรวม back office มีประมาณ 25,000 คน แต่ค่าตอบแทนฉบับ 10 จัดสรรให้เพียง 4 วิชาชีพประมาณ 8,000 คนเท่านั้น จึงเสนอว่า ค่าตอบแทน ฉบับ 10 เสี่ยงภัยบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ขอให้ทุกวิชาชีพได้รับอัตราใหม่ที่ 3,500 บาทต่อเดือน

2.การบริหารบุคคลชายแดนใต้ตามหนังสือ กพ.ว.16/58 มีมติดังนี้

2.1 ควรเร่งรัดการปรับบุคลากรตำแหน่งเจ้าพนักงาน (จพ.) สู่ตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข (นวก.) ตามหลักเกณฑ์ ว.16/58 โดยเร็ว ทั้งนี้ใด้มีการส่งข้อมูลเจ้าพนักงานที่มีวุฒิปริญญาตรีไปยังกระทรวงสาธารณสุขถึง 682 ราย และควรจัดสรรทั้งหมดภายในปี 2560 เพื่อเป็นขวัญกำลังใจบุคลากรสาธารณสุขวุฒิต่ำกว่าปริญญาที่อุตสาหะ สละเวลา สละทุนทรัพย์ตนเอง เพื่อพัฒนาศักยภาพตนเองโดยไปศึกษาต่อจนจบปริญญาตรี

3.ข้าราชการที่เงินเดือนตัน มีมติดังนี้

3.1 ควรเร่งรัดแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเพดานเงินเดือนข้าราชการพลเรือนให้เงินเดือนสามารถเลื่อนไหลได้เทียบเท่าข้าราชการอื่นๆ โดยเฉพาะข้าราชการพลเรือนในพื้นที่เสี่ยงภัยกันดาร

4.ค่าตอบแทนบุคลากรสาธารณสุข มีมติดังนี้

4.1 เร่งรัดให้ค่าตอบแทนฉบับลดความเหลื่อมล้ำ ตามที่ได้นำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ เมื่อ 18 พ.ค. 59 มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เพื่อเป็นขวัญกำลังบุคลากรในพื้นที่เสี่ยงภัยกันดาร

4.2 ไม่ควรให้พยาบาล รพ.สต.ได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่าพยาบาล รพช.หรือระดับอื่นๆ เหมือนค่าตอบแทน ฉบับ 8 ที่ผ่านมา

4.3 เบี้ยกันดารเหมาจ่าย ควรให้ความสำคัญกับหน่วยงานที่อยู่ในพื้นที่กันดารและเสี่ยงภัยเป็นหลัก

4.4 ควรปรับปรุงแก้ไขค่าตอบแทนอื่นๆ เช่น ค่าตอบแทนฉบับ 5 (ค่าเวร ) เงิน พ.ต.ส เงินประจำตำแหน่ง ให้เป็นธรรมกับทุกวิชาชีพในกระทรวงสาธารณสุขด้วย

5.การจัดสรรงบประมาณ มีมติดังนี้

5.1 ควรจัดสรรลง รพ.สต.โดยตรง โดยไม่ผ่าน CUP

5.2 ควรจัดสรรงบ fix cost ที่เหมาะสมให้ รพ.สต.ที่เสี่ยงภัยและกันดาร ตามแนวทาง S M L ที่เคยนำเสนอที่เวทีปฏิรูป จ.นครนายก

5.3 ควรให้ความสำคัญกับการปฏิรูป รพ.สต.ทุกประเด็น ตามแนวทางปฏิรูป รพ.สต.ที่เคยยื่นเมื่อ 29 ม.ค 59

6.ประเด็นชำนาญการพิเศษ มีมติดังนี้

6.1 เร่งรัดการจัดสรรให้ ผอ.รพ.สต.ทั้งหมื่นแห่งขึ้นสู่ตำแหน่งชำนาญการพิเศษภายในปี 2562

6.2 การจัดสรรชำนาญการพิเศษให้ ผอ.รพ.สต.ไม่ควรยึดตาม primary care cluster (PCC) เป็นหลัก เพราะ PCC เน้นแต่ รพ.สต.ในเขตเมือง และเน้น รพ.สต.ที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวปฏิบัติงาน ซึ่งจากนโยบายที่ผ่านๆ มา ส่วนใหญ่ไม่เคยมีแพทย์ลง รพ.สต.ตามแผนเลย

6.3 ให้ความสำคัญกับ รพ.สต.ที่มีบุคลากรครบตามเกณฑ์ รวมทั้ง รพ.สต.ในพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัยด้วย

ด้าน นายมะกอเซ็ง เจ๊ะแต ประธานชมรม ผอ.รพ.สต.ชายแดนใต้ แจ้งว่า กำลังดำเนินการล่ารายชื่อบุคลากรสาธารณสุขชายแดนใต้ทุกวิชาชีพ ทุกหน่วยงานเตรียมยื่น ศอ.บต., กอ.รมน., รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังสิ้นสุดเทศกาลถือศิลอดในเดือนรอมฎอนในปีนี้ (ประมาณเดือนกรกฎาคม 2559) เพื่อรักษาสิทธิ์ ความก้าวหน้า และค่าตอบแทน ของบุคลากรใน รพ.สต.ชายแดนใต้ทุกวิชาชีพต่อไป

ขณะที่ นางสูกายนาห์ ดูละสะ ประธานชมรมพยาบาล รพ.สต.จังหวัดยะลา และกรรมการชมรมพยาบาล รพ.สต.ชายแดนใต้ กล่าวว่า พร้อมเข้าร่วมขับเคลื่อนเป็นเครือข่ายกับชมรม ผอ.รพ.สต.ชายแดนใต้ เพื่อรักษาสิทธิ์ ความก้าวหน้า และค่าตอบแทน ของบุคลากรใน รพ.สต.ชายแดนใต้ทุกวิชาชีพด้วยกัน

เรื่องที่เกี่ยวข้อง