ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.สงขลาวุ่น พยาบาลทำหนังสือ ของดเว้นปฏิบัติหน้าที่ 9 ข้อ นอกขอบเขตวิชาชีพพยาบาล เริ่ม 1 ก.ค.นี้ ด้าน ผอ.รพ.แจงเคลียร์ปัญหาได้แล้ว หลังเชิญตัวแทนพยาบาลพูดคุยหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน ขอพยาบาลปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม ห่วงส่งผลกระทบคนไข้ได้ ชี้แพทย์และพยาบาลต้องทำงานร่วมกัน ไม่ควรใช้กฎหมายตั้งแง่ปฏิบัติงาน ระบุ รพ.ยินดีสนับสนุนออกระเบียบต่างๆ เพื่อเอื้อต่อการทำงานของพยาบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 59 คณะกรรมการบริการกลุ่มการพยาบาล ได้ทำบันทึกข้อความ ที่ สข 0032.203/110 ถึงผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลา เรื่องของดเว้นการปฏิบัติภารกิจที่เกินขอบเขตที่กฎหมายวิชาชีพการพยาบาลกำหนด โดยเนื้อหาระบุว่า เนื่องด้วยคณะกรรมการความเสี่ยงกลุ่มภารกิจด้านการพยาบาลได้เข้าร่วมประชุมกฎหมายและจริยธรรมสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพพยาบาล จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สภาการพยาบาล เมื่อวันที่ 23-27 พ.ค. 2559 โดยมีสาระคือ พยาบาลส่วนใหญ่ทำผิดกฎหมายวิชาชีพโดยกระทำการต่อผู้ป่วยเกินข้อกำหนดกฎหมายวิชาชีพ เป็นสาเหตุให้ภาระงานการพยาบาลเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ FTE ตามกรอบที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไม่ได้นำภาระงานที่พยาบาลปฏิบัติแทนวิชาชีพอื่นมาเป็นฐานในการคิด นอกจากนี้ยังมีความสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุไม่พึงประสงค์

ดังนั้น เพื่อให้พยาบาลวิชาชีพทุกคนสามารถปฏิบัติหน้าที่ภายใต้กฎหมายกำหนดและมีภาระงานที่เหมาะสมตามกรอบบทบาทหน้าที่ ภายใต้กฎหมายและจริยธรรม จึงของดการปฏิบัติหน้าที่ที่กฎหมายวิชาชีพไม่รองรับดังต่อไปนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2559 เป็นต้นไป

1.การปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยแพทย์ในการทำการผ่าตัด

2.การเย็บแผลที่มีขนาดใหญ่ความลึกลงชั้นกล้ามเนื้อและบริเวณสำคัญที่เป็นจุดอันตราย เช่น บริเวณทั่วใบหน้า ในปาก เหงือก นิ้ว ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ลำคอ ใบหู

3.การทำ Defibrillation

4.การเจาะ ABG

5.การทำ Refer ผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤต

6.การทำคลอดในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง

7.การนำสิ่งแปลกปลอมออกจากร่างกาย

8.Reduce lock jaw

9.ดึงกระดูกหักให้เข้าที่พร้อมการใส่เฝือก 

ด้าน นพ.สุภาพ ไพศาลศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลา เปิดเผย ว่า ภายหลังจากที่ได้รับหนังสือฉบับนี้ได้เชิญตัวแทนพยาบาลมาพูดคุย และได้ประชุมร่วมกันระหว่างแพทย์และพยาบาลไปเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (17 มิ.ย.59) ซึ่งได้ขอไปว่า หากจะทำอะไรขออย่าทำให้ประชาชนเดือดร้อน อยากให้มีการพูดคุยเพื่อเป็นทางออกที่ดีร่วมกัน ซึ่งกรณีที่พยาบาลไม่สบายใจเรื่องใดในแง่ของกฎหมาย รพ.เองยินดีให้การสนับสนุนในการออกกฎระเบียบภายในที่เอื้อต่อการทำงานต่อกัน รวมถึงการออกเอกสารต่างๆ เพื่อรับรอง

นพ.สุภาพ กล่าวว่า เมื่อดูการปฏิบัติหน้าที่ 9 ข้อที่พยาบาลของดเว้นนั้น เท่าที่ดูภารกิจเหล่านั้นแพทย์จะเป็นผู้ทำให้กับคนไข้อยู่แล้ว และที่ผ่านมา รพ.เองพยายามไม่ให้พยาบาลทำหน้าที่เหล่านี้ แต่อาจมีบ้างในกรณีที่จำเป็น รวมถึงกรณีเป็นผู้ช่วยแพทย์ผ่าตัด ซึ่ง รพ.อยากให้พยาบาลเข้าใจ เนื่องจากข้อเท็จจริงแพทย์ในระบบมีไม่เพียงพอ และแต่ละปีแพทย์ฝึกหัดของ รพ.มีเพียงปีละ 16 คนเท่านั้น ดังนั้นบางครั้งอาจต้องช่วยกัน อีกทั้งไม่ว่าอย่างไรทั้งแพทย์และพยาบาลต้องทำงานร่วมกัน และเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้กฎหมายมาตั้งแง่กันในการปฏิบัติงาน เพราะหากเป็นแบบนั้นต้องถามว่า แล้วคนไข้จะไปอยู่ตรงไหน  โดย รพ.สงขลา มีแพทย์ประมาณ 70 คน หมุนเวียนดูแลผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน โดยแต่ละวันมีผู้ป่วยนอกประมาณ 1,500 คนต่อวัน และมีผู้ป่วยใน 500 เตียง มีการผ่าตัดผู้ป่วยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่พยาบาลมีประมาณ 400-500 คน ประจำอยู่แผนกต่างๆ ซึ่งทั้งหมดต้องทำงานเป็นทีมและช่วยกัน   

“จากการพูดคุยเหมือนได้ข้อสรุปร่วมกันแล้ว แต่อยู่ดีๆ ก็มีโพสต์หนังสือฉบับดังกล่าวออกไปตามโซเซียลมีเดีย ซึ่งจากการสอบถามพยาบาลที่ยื่นหนังสือชี้แจงว่าไม่ได้เป็นผู้โพสต์ เพียงแต่เป็นการส่งข้อมูลในไลน์เพื่อขอคำปรึกษา แต่ก็มีผู้นำไปโพสต์ต่ออีก อย่างไรก็ตามกรณีที่เกิดขึ้นยอมรับว่าเสียความรู้สึก เพราะหลังเข้ารับตำแหน่ง ผอ.รพ.สงขลาในช่วง 8 เดือน พยายามดูแลพยาบาลค่อนข้างดี ซึ่งไม่ทราบว่าเรื่องนี้เป็นการโยงกับการเคลื่อนไหวในเรื่องใดหรือไม่ ซึ่งหากเป็นเรื่องความเป็นธรรมวิชาชีพและค่าตอบแทน เรามีสิทธิไม่พอใจได้ แต่ต้องไม่เอาคนไข้เป็นตัวประกัน แต่หากเป็นในแง่ของกฎหมาย ปัญหาการฟ้องร้อง ต้องให้แพทยสภา และสภาการพยาบาลไปกำหนดข้อกฎหมาย” ผอ.รพ.สงขลา กล่าวและว่า ทั้งนี้หากดูข้อมูลการฟ้องร้องย้อนหลัง มีคดีที่พยาบาลถูกฟ้องน้อยมาก ส่วนใหญ่จะเป็นการฟ้องแพทย์ในฐานะผู้รับผิดชอบต่อการรักษาผู้ป่วยโดยตรง

นพ.สุภาพ กล่าวต่อว่า หลังหนังสือฉบับนี้ถูกเผยแพร่ออกไปทางสื่อ ห่วงว่าจะเป็นการสร้างกระแสไปยังกลุ่มพยาบาลใน รพ.ต่างๆ ที่จะขอยกเว้นการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งเกินขอบเขตที่กฎหมายวิชาชีพกำหนดบ้าง ซึ่งหากเป็นแบบนั้นจริงอาจกระทบต่อการบริการ ซึ่งต้องถามว่าแล้วใครเดือดร้อน ดีต่อคนไข้หรือไม่ อย่างไรก็ตามในวันนี้ (20 มิ.ย. 59) ได้เชิญตัวแทนพยาบาลมาพูดคุยอีกรอบ ซึ่งมี นพ.สรรพงษ์ ฤทธิรักษา นพ.สสจ.สงขลาร่วมประชุมด้วยเพื่อหาทางออกร่วมกัน และดูว่าอะไรที่สามารถปรับให้ได้บ้าง โดยในวันที่ 1 ก.ค. นี้ ขอให้พยาบาลปฎิบัติหน้าที่ตามเดิมไปก่อน อย่าเพิ่งงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ระบุตามหนังสือ เพราะอาจทำให้เกิดความโกลาหลในการดูแลคนไข้ได้     

นพ.สุภาพ กล่าวว่า สำหรับในส่วนค่าตอบแทนพยาบาลนั้น ก่อนหน้านี้ได้มีการปรับเพิ่มไปแล้ว 1 ครั้ง แต่หลังจากที่ตนเข้ารับตำแหน่งช่วง 8 เดือนที่ผ่านมายังไม่มีการปรับ เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่าสถานะการเงินของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขไม่ค่อยดี รวมถึง รพ.สงขลาเอง ซึ่งการปรับเพิ่มค่าตอบแทนไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องดูภาพรวมในการบริหาร รพ.ที่ต้องเพียงพอด้วย ไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อ รพ.ได้ ทั้งนี้เรื่องค่าตอบแทนเท่าที่ทราบกระทรวงสาธารณสุขเองได้พยายามแก้ไขปัญหานี้อยู่