ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เดอะ คอนเวอร์เซชั่น : การจัดตั้งแผนประกันสุขภาพถ้วนหน้าในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ส่งผลให้แต่ละประเทศเผชิญกับความท้าทายแตกต่างกันไปตามฐานะทางเศรษฐกิจ  ความสัมพันธ์กับประเทศผู้บริจาค และการลงทุนของรัฐบาลในภาคการสาธารณสุข แต่สำหรับภูมิภาคแอฟริกาใต้นั้นภารกิจนี้ดูจะหนักหนากว่าเมื่อพิจารณาปัญหาที่รุมเร้าอยู่ทั้งความยากจน เอชไอวี และภาระจากวัณโรค ขณะที่แอฟริกาใต้ก็ยังคงต้องพึ่งพิงความช่วยเหลือด้านการเงินจากต่างประเทศแม้ว่ารัฐบาลพยายามอย่างยิ่งที่จะแบกรับความรับผิดชอบด้านบริการสาธารณสุขไว้แล้วก็ตาม

แผนประกันสุขภาพถ้วนหน้าหมายรวมการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่จำเป็นและมีคุณภาพดี รวมไปถึงการเข้าถึงยาและวัคซีนที่ปลอดภัย มีประสิทธิผลและคุณภาพดีด้วยราคาที่จับต้องได้ นอกจากนี้ยังครอบคลุมการปกป้องประชาชนจากความเสี่ยงด้านการเงินในแง่ของค่าใช้จ่ายการดูแลรักษา โดยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขีดเส้นให้ทุกภูมิภาคต้องจัดตั้งแผนประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายในปี 2573 (ค.ศ.2030)

สำหรับภูมิภาคแอฟริกาใต้นั้น ประเทศแอฟริกาใต้และแซมเบียได้เริ่มต้นก้าวแรกไปสู่การจัดตั้งสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว ทว่าสถานการณ์ในทั้ง 2 ประเทศก็ยังคงไม่พ้นจากการดิ้นรนในท่ามกลางวงล้อมของอุปสรรค

ภาพรวมการสาธารณสุขประเทศแอฟริกาใต้

แผนประกันสุขภาพแห่งชาติโดยการผลักดันของนายอารอน มอตโซอาเลดี รมว.สาธารณสุขแอฟริกาใต้มีวัตถุประสงค์เพื่ออุดช่องว่างระหว่างการบริการสุขภาพสำหรับคนรวยและคนจน อันเป็นมรดกความเหลื่อมล้ำสืบทอดมาจากนโยบายแบ่งแยกสีผิวในอดีต ซึ่งเป็นเหตุให้คนพื้นเมืองเชื้อสายแอฟริกันและคนยากจนได้รับบริการสาธารณสุขที่ย่ำแย่

ช่องว่างสาธารณสุขระหว่างชนชั้นนี้เอง ทำให้ประชาชนที่ใช้บริการของรัฐเผชิญกับบริการที่ล่าช้า การขาดแคลนเวชภัณฑ์  และมาตรฐานการรักษาที่หย่อนยาน ด้านสถานพยาบาลของรัฐก็มักขาดแคลนทั้งเครื่องมือและบุคลากร ซึ่งต่างกันเป็นคนละเรื่องกับบริการของภาคเอกชนที่ได้รับการอุดหนุนจากประกันสุขภาพส่วนบุคคล ด้วยเหตุนี้ผู้ป่วยที่มีกำลังจ่ายจึงได้รับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทาง  เข้าถึงยาได้มากกว่า และแทบไม่เคยประสบปัญหาบริการล่าช้าเลย

แผนประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศแอฟริกาใต้วางกรอบการปฏิบัติให้ลุล่วงในระยะ 14 ปี โดยในช่วง 5 ปีแรกจะมุ่งไปที่การปรับปรุงสาธารณูปโภคด้านสาธารณสุข ตลอดจนการว่าจ้างและฝึกอบรมบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งหากแผนงานดำเนินไปอย่างราบรื่น ก็จะช่วยให้โครงการประกันสุขภาพแห่งชาติของประเทศแอฟริกาใต้สามารถที่จะ

1.อุดหนุนค่าใช้จ่ายการดูแลรักษาสำหรับประชาชนทุกคนตามระบบการปันส่วน ซึ่งกำหนดให้คนรวยต้องสมทบเงินมากกว่า

2.ยกระดับการต่อรองกับสถานบริการสาธารณสุข เช่น โรงพยาบาล คลินิก และบุคลากรสุขภาพเพื่อที่จะให้บริการและคิดค่ารักษาในอัตราที่เป็นธรรมภายใต้การประกันคุณภาพ

3.จัดตั้งกองทุนส่วนกลางที่มีเงินสำรองเพียงพอเ พื่ออุดหนุนการรักษาที่มีค่าใช้จ่ายสูง

4.ส่งเสริมบริการสุขภาพที่เพียบพร้อมด้วยประสิทธิภาพและประสิทธิผลทั้งในภาครัฐและเอกชน

แผนประกันสุขภาพแห่งชาตินี้โดนโจมตีว่าไม่สามารถทำได้จริง เนื่องจากระบบสาธารณสุขของประเทศแอฟริกาใต้ทุกวันนี้ยังไม่สามารถสนับสนุนการเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง เสียงวิจารณ์ได้ชี้ไปที่หลายสาเหตุโดยเฉพาะตัวเลขรายจ่ายมหาศาล ซึ่งแม้รัฐบาลแอฟริกาใต้ยังไม่ได้เปิดเผยแผนการอุดหนุนงบประมาณสำหรับแผนประกันสุขภาพแห่งชาติแต่ตัวเลขประมาณการเมื่อปี 2553 ชี้ว่า แผนประกันสุขภาพมีรายจ่ายที่สูงถึงปีละ 16,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 560,000 ล้านบาท) โดยข้อมูลนั้นได้รวมรายจ่ายสาธารณสุขปัจจุบันซึ่งในปีงบประมาณ 2558-2559 นี้มีตัวเลขอยู่ที่ 11,500 ล้านดอลลาร์ (ราว 408,247 ล้านบาท) ขณะที่หลายหน่วยงานประเมินว่ารายจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากแผนประกันสุขภาพแห่งชาติอาจทำให้ต้องขึ้นภาษีอีกร้อยละ 17 อันเป็นตัวเลขที่ผู้เสียภาษีไม่สามารถแบกรับได้

นอกจากนี้ประเด็นด้านการกระจายงบประมาณสาธารณสุข การขาดแคลนบุคลากรชำนาญการ และต้นทุนการดูแลรักษาที่สูงขึ้นก็ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนงานสาธารณสุข และแม้แผนประกันสุขภาพแห่งชาติร่างขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ด้วยต้นทุนรายจ่ายที่สูงลิบลิ่วจึงไม่น่าจะประสบความสำเร็จตามเป้าได้ในตอนนี้   

แต่ถึงเช่นนั้นแผนประกันสุขภาพแห่งชาติก็อาจเข้ามาเปลี่ยนแปลงแนวทางการอุดหนุนค่ารักษาแก่สถานพยาบาล และเปลี่ยนการเข้าถึงการรักษาตามกำลังจ่ายให้เป็นการเข้าถึงการรักษาตามความจำเป็นสำหรับประชาชนทุกคน

การสาธารณสุขเพื่อปวงชนในประเทศแซมเบีย

การเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียมในประเทศแซมเบียแตกต่างไปเล็กน้อย รัฐบาลชุดปัจจุบันเปิดทางให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขและยาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยเริ่มมาจากก้าวแรกเมื่อปี 2549 ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศยกเลิกเก็บค่ารักษาสำหรับผู้ป่วยในเขตชนบท   

การดูแลสุขภาพในประเทศแซมเบียฟรี แต่เต็มไปด้วยความยากลำบาก EPA / คิม Ludbrook

กระนั้นก็ใช่ว่าระบบสาธารณสุขของแซมเบียจะเดินมาโดยไร้อุปสรรค เพราะที่ผ่านมาต้องผจญกับขวากหนามทั้งปัญหาขาดแคลนยาและบุคลากรชำนาญการ ปัญหาความเท่าเทียมการเข้าถึงบริการสาธารณสุขในเขตชนบท และข้อจำกัดด้านศักยภาพของกระทรวงสาธารณสุขที่รักษามาตรฐานการบริการ

และในอีกด้านหนึ่งรายจ่ายสาธารณสุขของแซมเบียในปีนี้ก็ไต่ขึ้นมาอยู่ที่ 1,570 ล้านดอลลาร์ (ราว 55749 ล้านบาท) จากระดับ 1,420 ล้านดอลลาร์ (ราว 50,423 ล้านบาท) เมื่อปีก่อน และยังคงพบปัญหาขาดแคลนงบประมาณและความบกพร่องในการกระจายงบ แม้รัฐบาลได้อนุมัติเพิ่มงบประมาณสาธารณสุขอีกจำนวนมากแล้วก็ตาม

เป็นที่เชื่อกันว่าค่าธรรมเนียมเป็นสาเหตุที่ขัดขวางไม่ให้ผู้ป่วยเข้ามาใช้บริการจากสถานพยาบาล และภายหลังจากการประกาศลดค่าธรรมเนียมก็ส่งผลให้ตัวเลขผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 อย่างไรก็ดีการประเมินดังกล่าวไม่ได้พิจารณาถึงค่าใช้จ่ายการเดินทางมายังคลินิกซึ่งผู้ป่วยต้องรับภาระเอง ซึ่งจากต้นทุนค่าเดินทางที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยยากจนในแซมเบียยังคงไม่สามารถเข้าถึงการดูแลรักษาและยาอันเป็นหัวใจสำคัญของบริการสาธารณสุขที่ทั่วถึงและเท่าเทียม

อุปสรรคที่กล่าวมายังเป็นเหตุให้รัฐบาลมีต้นทุนระบบสาธารณสุขที่สูงขึ้น และส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายด้านการคมนาคม  เนื่องจากปัญหาขาดแคลนยาทำให้จำเป็นต้องเพิ่มเที่ยวขนส่ง  ขณะที่ปัญหาบุคลากรขาดทักษะก็เป็นสาเหตุให้บุคลากรชำนาญการต้องตระเวนไปตามโรงพยาบาลในแต่ละพื้นที่    

อย่างไรก็ดีแซมเบียได้ก้าวมาถึงจุดที่ไม่สามารถทอดทิ้งนโยบายดูแลรักษาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพราะถึงแม้จะตกอยู่ท่ามกลางอุปสรรคนานา แต่ทัศนคติต่อการเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียมในแซมเบียก็ยังคงเป็นบวก ขณะที่รัฐบาลก็มีภาพลักษณ์ที่ดีจากการระดมความพยายามเอาชนะอุปสรรคทั้งด้วยการฝึกอบรมบุคลากร แก้ไขปัญหาการจัดการห่วงโซ่อุปาทาน และบริหารงบประมาณที่จัดสรรสำหรับบริการสาธารณสุข

เป้าหมายที่ยากไขว่คว้า

อุปสรรคที่แซมเบียและแอฟริกาใต้เผชิญอยู่ก็เป็นเช่นเดียวกันกับหลายประเทศ ที่ยังคงประสบปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดกับแผนประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศพัฒนาแล้ว และเห็นได้ชัดว่าเก็บภาษีก้อนโตจากประชาชนเพื่อนำมาอุดหนุนบริการสาธารณสุขที่ทั่วถึงและเท่าเทียมอันเป็นแนวทางที่ใช้กันในระบบสาธารณสุขของโลกตะวันตกนั้น ไม่สามารถทำได้ในภูมิภาคแอฟริกาใต้ซึ่งยังคงติดอยู่ในหล่มความยากจนและไม่สามารถเก็บภาษีจากประชากรส่วนใหญ่

ข้อจำกัดด้านการเงินยังคงเป็นกำแพงขัดขวางการก้าวไปสู่แผนประกันสุขภาพถ้วนหน้าอันจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศในภูมิภาคแอฟริกาใต้ ซึ่งยังคงมีช่องว่างด้านการการเข้าถึงการดูแลรักษาและยา ขณะที่หลายประเทศก็ยังคงขาดแคลนทรัพยากรสำหรับให้บริการสาธารณสุขแก่ผู้ยากไร้ 

กระนั้นก็ใช่ว่าเส้นชัยนี้จะไม่มีวันเดินไปถึง ผู้เขียนเชื่อว่า การยกระดับความร่วมมือกับองค์กรในภูมิภาค รวมถึงประชาคมเพื่อการพัฒนาแอฟริกาตอนใต้ (Southern African Development Community) จะช่วยสนับสนุนการพัฒนามาตรการระดับภูมิภาคเพื่อการเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างเท่าเทียมสำหรับภูมิภาคแอฟริกาใต้ แนวทางนี้จะช่วยกระชับความเป็นหุ้นส่วนที่แน่นแฟ้นและระดมงบประมาณเพื่อเอาชนะอุปสรรค ตลอดจนพัฒนามาตรการเพื่อปัดเป่าความท้าทายที่คอยกลุ้มรุมประเทศกำลังพัฒนา

เกี่ยวกับผู้เขียน

เอริกา เพนโฟล์ด หนึ่งในคณะวิจัยจาก South African Institute of International Affairs

ที่มา : The Conversation “Universal health care is a tall order given southern Africa’s poor finances”

แปลและเรียบเรียงโดย: ภัทรภร นิภาพร pingni1997@gmail.com