ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สพศท.หนุนร่างประกาศ “แนวทางการกำหนดภาระงานแพทย์” คาดช่วยกระตุ้น สธ./รัฐบาลแก้ปัญหาจริงจัง หลังปล่อยทิ้งนานแล้ว กระทบคุณภาพชีวิตแพทย์ พักผ่อนไม่เพียงพอ แถมทำผู้ป่วยเสี่ยงในการรับการรักษา ระบุมีรายงานชี้ชัด ตปท.ทำเรื่องนี้นานแล้ว ขณะความเป็นไปได้ทางปฏิบัติร่างประกาศฯ เชื่อยืดหยุ่นได้

นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร

นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) กล่าวถึงกรณีที่แพทยสภาได้เตรียมออกประกาศ “แนวทางการกำหนดภาระงานแพทย์” โดยอยู่ระหว่างการสำรวจความเห็นจากประธานองค์กรแพทย์และแพทย์ทั่วประเทศว่า ได้เห็นร่างประกาศฉบับดังกล่าวของแพทยสภาแล้ว ซึ่ง สพศท.มองว่า เรื่องภาระงานแพทย์เป็นปัญหาใหญ่ และที่ผ่านมาปัญหานี้ได้ถูกทิ้งไว้นานโดยไม่ได้รับการแก้ไข โดยเฉพาะแพทย์เพิ่มพูนทักษะ แพทย์ใช้ทุน แพทย์ในบางพื้นที่ และแพทย์ในบางสาขาซึ่งต้องทำงานหนัก อยู่เวรทั้งในและนอกเวลาราชการ โดยร่างประกาศแนวทางการกำหนดภาระงานแพทย์อาจเป็นหนทางหนึ่งที่แพทยสภาพยายามแก้ไขปัญหานี้ และเป็นการกระตุ้นให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหันมาพูดคุยและหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างจริงจัง

นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สพศท.เองได้มีการหารือถึงปัญหาภาระงานแพทย์มานานแล้ว และได้เคยนำเรื่องนี้เสนอต่อกระทรวงสาธารณสุข ทั้งปลัดกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แต่ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ซึ่งเรื่องนี้ไม่เพียงแต่กระทบต่อคุณภาพชีวิตของแพทย์เท่านั้น แต่ยังกระทบต่อคุณภาพและประสิทธิภาพในการวินิจฉัยและรักษาของแพทย์ด้วยทำให้ประชาชนเกิดความเสี่ยง เนื่องจากแพทย์ที่ต้องทำงานหนักส่งผลให้มีการพักผ่อนไม่เพียงพอ นอกจากนี้ในต่างประเทศยังมีรายงานการศึกษาที่ชี้ชัดว่า แพทย์ที่มีชั่วโมงการทำงานมากเกินไป จะส่งผลกระทบทั้งต่อสุขภาพและความปลอดภัยของแพทย์ มีอุบัติเหตุเกิดมากขึ้นทั้งระหว่างการทำงาน และในการขับขี่ยานยนต์ รวมทั้งมีผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเองด้วย ซึ่งในต่างประเทศมีการทำเรื่องนี้มานานแล้ว

“เรายอมรับกันมานานแล้วว่า หมอในบ้านเราทำงานหนัก มีชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไป แต่ที่ผ่านมามีการพูดคุยเรื่องนี้กันน้อย เพราะแพทย์รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ถูกสอนให้ต้องเป็นผู้เสียสละและอดทน จึงยินยอมทำงานหนัก ซึ่งการเสียสละนี้ คือการเสียสละเวลาส่วนตัว เวลาที่ต้องดูแลครอบครัว และสุขภาพของตัวเอง” นพ.ประดิษฐ์ กล่าวและว่า ทั้งนี้มองว่า ไม่ควรทิ้งปัญหาไว้แบบนี้ เพราะในที่สุดปัญหาที่ถูกสะสมจะประทุ และในอนาคตอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบได้ หมอส่วนนี้จะต้องได้รับการดูแลอย่างจริงๆ จังๆ เสียที”

ต่อข้อซักถามว่า จากการระบุถึงหลักเกณฑ์ภาระงานของแพทย์ในร่างประกาศมองว่ามีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติแค่ไหน นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า คิดว่าต้องเริ่มจากการมองว่า ขณะนี้ปัญหานี้มีจริงหรือไม่ ปัญหาใหญ่แค่ไหนเสียก่อน ปัญหานี้เหมือนมีช้างที่อยู่ในห้อง (elephant in the room) ที่ทุกคนจะปฏิเสธไม่ได้หรอกว่า ไม่มี มองไม่เห็น ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลควรเอาจริงซะที โดยดึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมพูดคุย ส่วนจะทำได้แค่ไหนคงต้องขึ้นอยู่กับผู้บริหารเองว่าจะมุ่งมั่นและจริงจังแค่ไหน อย่างไรก็ตามส่วนตัวเชื่อว่าปัญหานี้แก้ไขได้ ส่วนร่างประกาศแนวทางกำหนดภาระงานแพทย์ของแพทยสภานั้น มองว่ายังสามารถยืดหยุ่นและปรับได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ภาระงานแพทย์ที่เป็นปัญหาเป็นเพราะขณะนี้ยังมีปัญหาขาดแคลนแพทย์ในระบบ นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า ต้องบอกว่าปัจจุบันเรามีการผลิตแพทย์เพิ่มจำนวนไม่น้อยในแต่ละปี เพียงแต่เมื่อเข้าสู่ระบบแล้วกลับไม่สามารถคงให้แพทย์เหล่านี้อยู่ในระบบได้ ตรงนี้จะทำอย่างไร ซึ่งปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะวิชาชีพแพทย์เท่านั้น แต่ทั้งพยาบาลและวิชาชีพอื่นเป็นปัญหาเช่นกัน พูดตรงๆ บุคลากรในภาครัฐก็เป็นเหมือนเครื่องมือชิ้นหนึ่ง ผู้ใช้ก็คือรัฐบาล ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐจะต้องดูแลเครื่องมือเหล่านี้ให้อยู่ในสภาพที่ดี พร้อมใช้งาน ต้องบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ ไม่งั้นเครื่องมือก็เสื่อมโทรม ขาดประสิทธิภาพ และมีอายุการใช้งานสั้น

ปัญหาบุคลากรสาธารณสุข ก็อยู่ตรงนี้แหละ รัฐต้องถามตัวเองว่ารัฐดูแลเครื่องมือเหล่านี้ดีพอรึยัง หากคนของตัวเองยังดูแลไม่ได้ จะไปดูแลประชาชนทั้งประเทศได้ดีได้อย่างไร จากประกาศแนวทางกำหนดภาระงานแพทย์ที่ออกมานี้ เชื่อว่าอย่างน้อยจะทำให้เกิดการพูดคุยแก้ไขปัญหามากขึ้น ให้มีการแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจัง หลังจากปัญหานี้ถูกปล่อยทิ้งไว้มานานแล้ว