ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วัณโรคเป็นโรคติดต่อสำคัญที่ยังเป็นปัญหาสาธารณสุขไทย เป็นสาเหตุสำคัญของการป่วยกว่า 120,000 รายต่อปี และการตายกว่า 10,000 รายต่อปี ที่สำคัญยังก่อให้เกิดเป็นวัณโรคดื้อยาหลายขนานที่คาดว่าอาจมีมากถึง 1,900 รายในประเทศไทย แต่ปัจจุบันการค้นหาและรักษาวัณโรคที่รายงานนั้นมีไม่ถึงร้อยละ 70  

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้ตระหนักถึงปัญหานี้มาโดยตลอด จึงได้ดำเนินงานควบคุมวัณโรคโดยต้องอาศัยเครือข่ายการประสานความร่วมมือของหน่วยงาน และสถานบริการสาธารณสุขทุกระดับทั้งภาครัฐและเอกชนในการมีส่วนร่วมในการควบคุมวัณโรค เพื่อให้การดำเนินงานวัณโรค ได้แก่ การค้นหา การรักษา การส่งต่อ การรายงานข้อมูลผู้ป่วย รวมถึงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ความรู้วัณโรคสู่ประชาชน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการควบคุมวัณโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานการดำเนินงานวัณโรคแห่งชาติ และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

การดำเนินงานวัณโรคนอกจากจะเร่งรัดให้หน่วยบริการสาธารณสุขมีบริการที่เป็นมาตรฐานแล้ว ยังมีความจำเป็นต้องดำเนินการส่งเสริมการให้ความรู้แก่ผู้ป่วย ครอบครัวและชุมชน เพื่อให้ประชาชนในชุมชนมีความรู้และตระหนักถึงการป้องกัน การรักษา และสร้างเสริมสุขภาพที่ยั่งยืนของตนเอง ครอบครัวตลอดจนในชุมชนให้ปลอดภัยจากวัณโรค

วันที่ 24 มีนาคม ค.ศ.1882 (พ.ศ.2425) ดร.โรเบิร์ต คอช (Dr. Robert Koch) ประกาศการค้นพบสาเหตุโรควัณโรคคือเชื้อแบคทีเรีย Tubercle bacillus เป็นครั้งแรก ซึ่งขณะนั้นวัณโรคแพร่กระจายทั่วยุโรปและอเมริกาและเป็นสาเหตุการเสียชีวิต 1 ใน 7 ของประชากร การค้นพบของเขาจึงช่วยเบิกทางการวิเคราะห์คิดค้นวิธีรักษาวัณโรค

ต่อมาในปี ค.ศ.1982 (พ.ศ.2525) ในโอกาสครบรอบ 100 ปีการประกาศของเขา สหพันธ์องค์กรต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติ (IUATLD: International Union Against Tuberculosis and Lung Disease) เสนอให้กำหนด 24 มีนาคม ของทุกปีเป็น วันวัณโรคโลก (World TB Day) อย่างเป็นทางการ เพื่อย้ำเตือนให้ประชากรทั่วโลกตระหนักว่าวัณโรคยังคงระบาดทั่วโลก เป็นสาเหตุการเสียชีวิตกว่า 1.7 ล้านคนต่อปี และร่วมกันต่อด้านวัณโรค

องค์การอนามัยโลกร่วมกับ IUATLD และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันรณรงค์ให้ทั่วโลกเห็นความสำคัญและรณรงค์ป้องกันร่วมกันต่อด้านวัณโรค

วันวัณโรคสากลปี พ.ศ. 2559 นี้ ทาง Stop TB Partnership และองค์กรต่างๆ ระดับนานาชาติ มีข้อความสื่อไปถึงทุกภาคส่วนร่วมกันรณรงค์ไปในทิศทางเดียวกัน คือ Unite to End TB  หรือ “รวมพลังยุติวัณโรค” มีความหมายว่า “เราจะร่วมกันทุกภาคส่วน เพื่อจะยุติปัญหาวัณโรค” โดยจะใช้ข้อความดังกล่าวเป็นข้อความหลักในการรณรงค์และประชาสัมพันธ์ เนื่องในวันวัณโรคสากล (World TB Day) ปี พ.ศ.2559 เพื่อเป็นการย้ำถึงยุทธศาสตร์ใหม่ ที่ยกระดับเป้าหมายไปสู่การยุติการระบาดของวัณโรค ให้อัตราป่วยรายใหม่ลดเหลือน้อยกว่า 10 ต่อแสน ใน 20 ปีข้างหน้า (ค.ศ.2035 หรือ พ.ศ.2578) 

นับเป็นความท้าทายในการผลักดันยุทธศาสตร์ให้เข้มข้นและมีประสิทธิผล เพื่อส่งเสริม สร้างกระแสให้ประชาชนเกิดการรับรู้ ตื่นตัว ตระหนักและมีความรู้ในการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันวัณโรค ตลอดจนสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในการดำเนินงานควบคุม ป้องกันและแก้ไขปัญหาวัณโรค อันจะนำไปสู่จุดมุ่งหมายอันสูงสุด (Vision) คือ “เมืองไทยปลอดวัณโรค” ต่อไป

ที่มา สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข